Last updated: 11 ธ.ค. 2567 | 3803 จำนวนผู้เข้าชม |
การอ่านเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่เริ่มแพร่หลายในโลกตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัจจัยที่ทำให้การอ่านเป็นที่แพร่หลายก็คือการประดิษฐ์แท่นพิมพ์โดย กูเต็นแบร์ก (Gutenberg) การที่ผู้คนหาซื้อหนังสือมาอ่านเองได้ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในอารยธรรมตะวันตก ทั้งนี้ แต่เดิมในยุคกลางคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่พระอ่านหนังสือไม่ออก คนฝรั่งเศสหากต้องการรู้เรื่องวรรณคดีอย่างเช่นมหากาพย์ก็ต้องอาศัยการฟัง กล่าวคือ ต้องรอให้กวีพเนจร (les troubabours, les trouvères) ผ่านมาในชุมชนที่ตนอาศัยและขับขานมหากาพย์ให้ฟัง วัฒนธรรมเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมแบบรวมหมู่ (une culture collective) การรับรู้ข่าวสารความรู้ ตลอดจนการเสพงานวรรณกรรมมิใช่กิจกรรมที่กระทำตามลำพัง หากแต่ต้องกระทำร่วมกับผู้อื่นและอาศัยผู้ที่อ่านออกเขียนได้เป็นผู้ถ่ายทอด การณ์เป็นเช่นนี้จนกระทั่งแท่นพิมพ์ถือกำเนิดขึ้น และเมื่อผู้คนต่างหาซื้อหนังสือมาอ่านเองได้ วัฒนธรรมแบบรวมหมู่จึงคลายความสำคัญลง เพราะว่าการอ่านเป็นกิจที่กระทำได้โดยลำพัง กระทั่งกล่าวได้ว่าในสังคมตะวันตกนั้น หนังสือมีส่วนหนุนเสริมลัทธิปัจเจกนิยม (l’individualisme) (Collet 2009 : 59-60)
อนึ่ง คริสต์ศตวรรษที่ 16 ในยุโรปเป็นช่วงที่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกถูกท้าทายอย่างหนัก การปฏิรูปศาสนา (la Réforme) ซึ่งทำให้เกิดนิกายใหม่ ได้แก่ นิกายโปรแตสแตนท์ ก็เกิดขึ้นช่วงนี้ ที่จริงหนังสือและการอ่านถือว่ามีผลมากในการคัดง้างอำนาจของคริสต์จักร เพราะชาวโปรแตสแตนท์ถือว่าสัจธรรมมีแต่ในพระวัจนะ หาใช่คำสอนของพระหรือพิธีกรรมอื่นใดไม่ ลัทธิปัจเจกนิยมที่แพร่หลายในสังคมทั่วไปจึงลุกลามมายังวงการศาสนาด้วย นักปฏิรูปศาสนาถือว่าศรัทธาเป็นเรื่องส่วนบุคคล (la foi individuelle) ไม่จำเป็นต้องให้สมณเพศมาบังคับหรือชี้นำให้ต้องเชื่อเช่นนั้นเช่นนี้ หากประสงค์จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า มีอยู่เพียงทางเดียวคือสดับพระวัจนะ ซึ่งอยู่ในพระคัมภีร์ ฉะนั้น ศรัทธาจึงเกิดจากการที่ศาสนิกชน ‘อ่าน’ ไบเบิ้ลด้วยตนเอง มิใช่ ‘ฟัง’ พระเทศน์ การที่ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาเยอรมันนั้นก็ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าว ปัจเจกนิยมส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองและการไม่พึ่งพิงผู้อื่น ในสังคมนอกโบสถ์ ผู้คนที่ถือหนังสืออยู่ในมือไม่ต้องพึ่งกวีพเนจร ในโลกของศาสนา ผู้ที่มีไบเบิ้ลก็ไม่ต้องพึ่งพระเช่นเดียวกัน ผู้ขับขานบทกวีและพระนักเทศน์มิใช่ผู้ยึดกุม ‘ความรู้’ ไว้ที่ตนผู้เดียวอีกต่อไป การอ่านจึงเป็นการปลดแอกทางปัญญาทั้งในทางโลกและในทางธรรม
การอ่านไม่ได้เป็นเพียงสันทนาการหรือการพักผ่อนหย่อนใจ หากยังหมายถึงการท้าทายอำนาจ การที่ฟราโกนาร์เลือกที่จะกล่าวถึงกิจกรรมนี้ในงาน สาวน้อยนักอ่าน จึงควรถือได้ว่าเขาชี้ชวนให้เราพิจารณาถึงนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ผูกโยงมากับการอ่าน และนัยข้างต้นยิ่งแหลมคมขึ้นอีกเท่าทวีเมื่อศิลปินจงใจกำหนดให้ผู้อ่านเป็นสตรี ทั้งนี้ เพราะในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ บุรุษเพศทั้งฆราวาสและสงฆ์เป็นผู้ยึดกุมความรู้ การที่ผู้หญิงอ่านหนังสือเพื่อขวนขวายหาความรู้ตลอดจนแสวงหาความบันเทิงเริงใจได้ด้วยตนเอง นอกจากเป็นการปลดแอกทางปัญญา ยังเป็นการปลดแอกทางเพศด้วย จึงไม่แปลกที่คริสตจักรและเหล่าบุรุษผู้ถืออำนาจในสังคมไม่สบอารมณ์นัก เมื่อผู้หญิงอ่านหนังสือ (Goulemot 2015 : 50)
ฟราโกนาร์ดูจะจงใจวาดภาพสาวน้อยผู้นี้และใส่องค์ประกอบต่างๆ ให้แลดูเหมือนว่าเธอเป็นนักโทษที่ถูกจองจำ ผู้ที่ชมภาพนี้จะรู้สึกได้ว่ามีท่อนเหล็กหรือไม้ท่อนหนึ่งขวางในแนวนอน เป็นสิ่งขวางกั้นระหว่างผู้ที่อยู่ภายนอกกับหญิงที่อยู่ภายในอาณาบริเวณที่เหล็กหรือไม้นั้นขีดไว้ นอกจากนี้ทางขวาสุดยังเห็นได้ว่ามีกำแพงซึ่งมีหมอนพิงอยู่ และศิลปินเจตนาใช้สีน้ำตาลซึ่งเป็นสีเดียวกันกับสิ่งขวางกั้นในแนวนอน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าสาวน้อยนักอ่านถูกกักขังอยู่ในพื้นที่ปิด มีสิ่งกีดขวางไม่ให้มีเสรีภาพทางกายทั้งในแนวนอน (l’horizontalité) และในแนวตั้ง (la verticalité) อนึ่ง องค์ประกอบของเครื่องแต่งกายบางอย่างทำให้เธอดูเหมือนผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพมากยิ่งขึ้น
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจากบท สาวน้อยนักอ่าน ของฟราโกนาร์
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
คลิกสั่งซื้อ Set วรรณกรรมวิจารณ์
หนังสือรวมบทความวรรณกรรมวิจารณ์ทั้งไทยและเทศ
============
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563