Last updated: 11 ธ.ค. 2567 | 3853 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความที่รวมพิมพ์ในเล่มนี้เคยเผยแพร่ตามที่ต่างๆ ดังที่ระบุไว้ท้ายแต่ละบทความ (ยกเว้นเรื่อง “สาวน้อยนักอ่าน ของฟราโกนาร์” ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือนี้เป็นครั้งแรก) การนำบทความเหล่านี้มาเผยแพร่อีกครั้ง ผู้เขียนยังคงสาระสำคัญของแต่ละบทความเช่นเดิมทุกประการ แต่ได้ปรับปรุงขัดเกลาสำนวนภาษาไทย ตัดข้อความที่เยิ่นเย้อซ้ำซาก
ทั้งนี้ เดิมบทความบางเรื่องมีบทคัดย่อ และในการอ้างอิงในบางกรณีได้แปลตัวบทวรรณกรรมฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย โดยกำกับข้อความจากต้นฉบับที่เป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ แต่ในการตีพิมพ์ครั้งนี้ได้ตัดบทคัดย่อและข้อความภาษาฝรั่งเศสออก
บทความทุกเรื่องมีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ การใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตีความงานวรรณกรรมและศิลปะฝรั่งเศส ทฤษฎีดังกล่าวช่วยให้เห็นถึงความหมายระหว่างบรรทัด โดยเฉพาะความหมายอันเกี่ยวแก่เพศ ทั้งนี้ วรรณกรรมที่ทำทีว่าเล่าเรื่องหนึ่ง มักซ่อนอีกเรื่องหนึ่งไว้อยู่เสมอ คุณูปการของจิตวิเคราะห์ก็คือเป็นกล้องช่วยส่องให้เห็น เรื่องใต้บรรทัด
อาจมีผู้ข้องใจว่าเรายังใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ วิเคราะห์งานวรรณกรรมได้อีกหรือ เพราะทฤษฎีข้างต้นหมดความน่าเชื่อถือ มีแนวคิดอื่นๆ มาหักล้างได้หมดแล้ว ทฤษฎีเรื่องปมเอดิปัสก็ดี ปมตอนก็ดี ปมอิจฉาองคชาตก็ดี ฯลฯ ล้วนเหลวไหลเพ้อเจ้อทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เราควรแยกแยะระหว่างการใช้จิตวิเคราะห์กับบุคคลจริงกับการใช้ทฤษฎีเดียวกันกับตัวละครในวรรณคดีอันเป็นบุคคลสมมติ
หลายท่านน่าจะรู้จักเพลง ผู้ชายในฝัน ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (วิเชียร คำเจริญ แต่งคำร้องและทำนอง, ประยงค์ ชื่นเย็น เรียบเรียง)
ตั้งแต่เป็นสาวเต็มกาย
หาผู้ชายถูกใจไม่มี
เมื่อคืนฝันดีน่าตบ
ฝัน ฝันว่าพบ ผู้ชายยอดดี
พาไปเที่ยวดูหนัง พาไปนั่งจู๋จี๋
แล้วพาไปเที่ยวชมสวน
เด็ดดอกลำดวนส่งให้ด้วยสิ
เสียบหูให้ตั้งหลายหน
น่ะเสียบหล่นอ่ะเสียบหล่นตั้งห้าหกที
ต๊กใจตื่นตอนตีสี่
แหม เสียดายจัง
เฮ่อ เสียดายจัง
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประกาศเป็นทฤษฎีว่า คนเรานำความเก็บกดทางเพศมาสร้างเป็นความฝัน เพื่อสนองความต้องการที่ไม่อาจสนองได้ในความเป็นจริง ทฤษฎีดังกล่าวหากนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจมีผู้คัดค้านอยู่มาก ผู้หญิงที่ฝันถึง ‘ดอกลำดวน’ นั้นอาจมีหลายเหตุปัจจัยที่ไม่เกี่ยวแก่กามารมณ์ก็ได้
อย่างไรก็ตาม สุภาพสตรีที่เพลง ผู้ชายในฝัน กล่าวถึงมิใช่บุคคลจริง แต่เป็นเพียงผู้หญิงที่ผู้ประพันธ์เนื้อเพลง ‘แต่ง’ ขึ้น และไม่ว่าผู้ประพันธ์จะรู้จักทฤษฎีของฟรอยด์เรื่องความฝันหรือไม่ แต่เนื้อเพลง ผู้ชายในฝัน ก็ชวนให้คิดเหลือเกินว่าผู้ประพันธ์มี ‘ทฤษฎี’ อยู่ในใจที่ว่าคนเราเก็บกดทางเพศเรื่องใดก็ฝันเรื่องนั้น เห็นได้จากการ ‘หาผู้ชายถูกใจไม่มี’ ทำให้หญิงนั้นฝันถึง ‘ผู้ชายยอดดี’ และเผยความคับข้องใจว่าในความจริงไม่เคยมีชายใด ‘เสียบหู’ จึงต้องมาชดเชยเอาเองในความฝัน
จะเห็นว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์มีความถูกต้องตรงต่อความจริงหรือไม่กลับไม่สำคัญต่อการนำมาวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรม เพราะโลกที่วรรณกรรมสร้างขึ้นเป็นเพียงจินตนาการของผู้ประพันธ์ซึ่งมีโลกทัศน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้น ต่อให้ทฤษฎีของฟรอยด์ทั้งหมดเป็นเพียง ‘เรื่องแต่ง’ แต่หากบทประพันธ์ซึ่งก็เป็นเรื่องแต่งอย่างหนึ่งมีเนื้อหาสาระที่ตีความว่า ‘ไปด้วยกันได้’ กับทฤษฎีดังกล่าว ก็ต้องนับว่าใช้ได้ การประเมินคุณค่าบทวิจารณ์จึงมิได้ขึ้นอยู่กับว่าทฤษฎีที่นำมาใช้ถูกต้องตรงต่อโลกความเป็นจริงหรือไม่ แต่ขึ้นกับว่าใช้แล้วลงตัว เป็นเหตุเป็นผล และถ้อยคำในตัวบทสนับสนุนเพียงพอหรือไม่
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องใต้บรรทัด ที่ผู้เขียน ‘แต่ง’ ขึ้นนี้ พอไปด้วยกันได้กับถ้อยคำตามบรรทัดต่างๆ ที่นำมาวิเคราะห์ตีความ และความไปด้วยกันได้นั้นจะทำให้ผู้อ่านบันเทิงใจได้ตามสมควร
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจาก คำนำผู้เขียน
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
============
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564