Last updated: 21 ก.ย. 2563 | 2660 จำนวนผู้เข้าชม |
ท้ายงานเขียนบนเว็บไซต์ waymagazine.org 'อธิคม คุณาวุฒิ' บรรยายกระชับถึงเสี้ยวตัวตนของข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าขออนุญาตผู้อ่านคัดลอกบางส่วนว่า "อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย..."
ขวยเขินระคนกระดากอาย มิใช่ข้าพเจ้ารังเกียจถ้อยความนี้ ตรงข้ามเสียด้วยซ้ำ แต่ทุกเรื่องบนโลกล้วนมีที่มาที่ไป สมัยพ้นรั้วมหาวิทยาลัยในสาขาวารสารศาสตร์ ข้าพเจ้าเข้าทำงานในองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง สำเหนียกสำนึกติดตัวเสมอมาว่า อาชีพนักข่าวคือผู้ชี้ทางสังคม เปิดโปงความจริง และยืนเคียงข้างผู้ยากไร้ ส่วนจะเป็นกลางหรือไม่ วัยกระเตาะขนาดนั้น ข้าพเจ้ายังไร้เดียงสาเกิน
ข้าพเจ้าออกตะลุยดะสัมภาษณ์ผู้ยากไร้ทว่ามากน้ำใจ คนขับแท็กซี่คืนกระเป๋าเงิน พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยเหลือวัยชราในอุบัติเหตุ กระทั่ง ชายผู้เคยขายไตส่งลูกเรียน เป็นอาทิ บางคราระหว่างพูดคุย ข้าพเจ้าจำต้องเบี่ยงหน้าหนีคู่สนทนา หลบซ่อนความอ่อนแอที่กำลังรินเอ่อ ความยากจนคือสิ่งอัปลักษณ์ ข้าพเจ้าเกลียดเข้ากระดูกดำ มันขย้ำทำลายชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ
เป็นห้วงไล่เลี่ยข่าวสารด้านเดียวกรอกหูข้าพเจ้าเช้าสายบ่ายเย็นล่วงค่ำ กำมือตบแน่นสั่นเทา ข้าพเจ้าเกลียด ทักษิณ ชินวัตร เข้ากระดูกดำ ออกตะลุยร่วมชุมนุมกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชายชื่อทักษิณสำหรับข้าพเจ้าแล้ว ผูกโยงกับความยากจนของผู้คนส่วนใหญ่ แล้วทักษิณคือใคร เขาคือนักการเมือง
ความจริงอันสัมบูรณ์ในเวลานั้นคือ ข้าพเจ้าเกลียดนักการเมือง พวกมันโกงกิน ขายชาติ ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียงสองปี ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้ คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าว ข้าพเจ้าขนลุกซู่
ครั้นมีโอกาสได้ร่วมชายคาองค์กรสื่อเล็กๆ นาม ‘นิตยสาร WAY’ ข้าพเจ้าต้องเขยิบเพดานการสัมภาษณ์ขึ้นไปอีก สังคมแบ่งฝักฝ่าย แต่ข้าพเจ้าต้องเรียนรู้ทัศนะจากปากคำอันหลายหลาก กล่าวหยาบๆ คือ ทั้งเหลืองและแดง ทั้งนักวิชาการ นักฏหมาย ครูบาอาจารย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปินตลก รวมถึงนักแสดง ถอดเสียงเอง เขียนเอง สุ้มเสียงแตกต่างซึมซ่านทีละน้อย
สนามผืนใหม่ที่ข้าพเจ้าลงละเลงคีย์บอร์ด ส่งผลให้ความจริงสัมบูรณ์ครั้งเก่า ย้ายตัวเองมาสู่อีกตำแหน่ง ความยากจนไม่ได้เกิดจากนักการเมืองโกงกินเพียงถ่ายเดียว ทว่ามันสลับซับซ้อนปะปนด้วยง่ายดายหากใจเปิดกว้าง ความเหลื่อมล้ำและอีกสารพันปัญหา ดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยว อำนาจนิยม ผูกขาดความคิดและทุน ลิดรอนเสรีภาพ อำนาจอันแผ่ไพศาลทุกอณู
กล่าวให้ง่ายเข้า หากเรานับพลเมืองทุกคนว่ามี 1 เสียงเท่ากัน เสียงเหล่านั้นต้องมีโอกาสส่งถึงองค์อธิปัตย์ว่าพวกเขาปรารถนาสิ่งใด แล้วมันจะส่งถึงได้อย่างไรถ้าไม่ผ่านกลไกรัฐสภา ซึ่งปราศจากเงื่อนปมกลโกง และก่อนถึงรัฐสภามันต้องผ่านสิ่งใดถ้ามิใช่การเลือกตั้ง เปล่าเลย ข้าพเข้ามิได้เลิกรังเกียจนักการเมือง พวกเขาและเธอก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ อาชีพอื่น เหมือนนักข่าว เหมือนนักวิชาการ
ระบบการเมืองที่ดี จะเปิดโอกาสให้ทุกฝั่งฝ่ายมีส่วนสร้างสมรรถนะแห่งการตรวจสอบ ในความหมายเข้มข้นว่า ต้องผ่านถนนบนกติกาสากล พูดตรงๆ คือ ต้องไม่มีรัฐประหารอีก เพราะหากไม่แกล้งหลับตาข้างเดียว การยึดอำนาจโดยทหารนั้น ทำไปเพื่อใคร ข้างไหน ความเชื่อใด และคงไม่ต้องสาธยายให้เยิ่นเย้อแล้วกระมังว่า ‘คนดี’ ในทางการเมืองไม่มีอยู่จริง มีแต่คนที่ต้อง ‘ตรวจสอบ’ ได้
เหนืออื่นใด การโยนอำนาจและศักดิ์ศรีอันหมายถึงคุณค่าที่มาจากความเป็นอิสระของมนุษย์ ไปให้ผู้หนึ่งผู้ใดกุมกอดไว้ ไม่น่าจะเป็นมรรคาสร้างความเจริญสู่บ้านเมือง
ไม่นานนัก ข้าพเจ้าฝ่าเปลวแดดเข้าร่วมชุมนุมกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน ร้อนจนเนื้อตัวแทบไหม้ แต่ความเนืองแน่นกลับไม่ลดลงเลยรอบอนุสาวรีย์ บ้างถือหนังสือวิชาการหนักๆ บ้างชูแผ่นป้ายเรียกร้องสิ่งต้องการ บ้างปราศรัยบนเวทีน่ารับฟัง บ้างเป็นผู้ชรา บ้างกลางคน ขากลับ ข้าพเจ้าผ่านรถกระบะคันหนึ่ง บนนั้น ชายชราตอนต้นหาเช้ากินค่ำยืนตรึงยื่นขวดน้ำเย็นฉ่ำ
"สู้ๆ นะลูก เพื่ออนาคตของเรา" แกส่งเสียง
'อนาคตของเรา' คำคำนี้สะเทือนในอกว่า ข้าพเจ้าไม่อาจดูแคลนสติปัญญาของผู้ชุมนุม พวกเขาและเธอที่ยังฝืนทนร้อนโดยไม่ยี่หระ ขณะข้าพเจ้ากำลังโบกแท็กซี่ ปวดหลังเหลือคณา
‘อนาคตของเรา’ คำคำนี้ทิ้งนัยไว้แก่สติของข้าพเจ้าว่า มันกินนิยามความหมายถึงฉันทามติที่พวกเราควรมีร่วมกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งต้องอาศัยอยู่กินบนแผ่นดินไทยต่อจากข้าพเจ้า อายุเยอะแล้ว อีกไม่นานดินก็กลบหน้าว่างั้นเถอะ
‘อนาคตของเรา’ คำคำนี้ดึงข้าพเจ้าย้อนกลับไปยังเดือนตุลาคม ปี 2553 ตอนทำสัมภาษณ์ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ บนเนื้อกระดาษนิตยสาร ข้าพเจ้าถามเขาประมาณว่า มองป้ายคนเดือนตุลาเป็นเครดิตด้านบวกอยู่ไหม คำตอบผ่านการตัดทอนบางส่วนคือ...
"สำหรับผม สังคมไทยใช้งานคนเดือนตุลามากเกินไป และคนเดือนตุลาบางคนเองก็ใช้ประโยชน์จากยี่ห้อนี้มากเกินไป คนเดือนตุลา ถ้าพูดด้วยความเคารพ อาจถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนบ้าง"
"ทั้งนี้ทั้งนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ยี่ห้อเดือนตุลามีต้นทุนจริงในสังคม"
ด้วยถือวิสาสะเกินพอดี ข้าพเจ้าตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นว่า 'ส่งคนตุลาเข้านอน' (โปรดคลิกเข้าไปเสิร์ชอ่านเนื้อหาเต็มๆ ใน waymagazine.org ก่อนโกรธาข้าพเจ้า) ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น ในทัศนะข้าพเจ้าล้วนๆ หากใครง่วงหงาวหาวนอน หลับตาพักให้เต็มอิ่ม ตื่นฟื้นอารมณ์ดีแล้วค่อยมารับฟังเสียงและความเป็นไปได้อื่นๆ นอกเหนืออัตตาความเชื่อตน
คลับคล้ายเวลาย้อนมองวีรกรรมสมัยเยาว์ ข้าพเจ้ารู้สึกตนเองเหลวไหลทุกครั้ง เหลวไหลเลอะเทอะ น่าอดสู ขอโทษได้ก็จะทำ มันเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ข้าพเจ้ามีความรู้เพียงน้อยนิด สิ่งฉงนกว่าคือ คนที่เคยคุมองค์กรสื่อสมัยไร้เดียงสา สามารถย้ายตนเองและบริวารไปนั่งบริหารหัวแฟนคลับ ในสำนักข่าวนามกระเดื่องเรืองรองว่ามีหลักการ ไม่เอนเอียง ครับ ไม่เอนก็ไม่เอน เอาตรงๆ ก็ไม่น่าฉงนหรอก เป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง ตอนนั้นยังไม่รู้จักอุดมการณ์อันเกรียงไกรของเขาดีพอ
ความจริงเคลื่อนไหลได้ พอๆ กับที่มันถูกประกอบสร้างได้ และในอนาคตข้างหน้า มันอาจเขยื้อนขยับไปสู่อีกตำแหน่ง ใครเล่าจะรู้
ทว่าตอนนี้ วินาทีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ฝ่ายหนึ่งถูกไล่ล่าราวี คุกคามอุ้มหาย ข้าพเจ้าขอเลือกยืนเคียงข้างคนหนุ่มสาวเท่าที่พอจะทำได้ สมมติมีลูก ข้าพเจ้าย่อมไม่ปรารถนาให้หน่อเนื้อเชื้อไขของตนถูกระเบิดกะโหลกกระจุยด้วยกระสุนจริง หรือโดนซุ่มยิงจากรางรถไฟฟ้า ยุคใหม่แล้ว ความรู้ไม่อาจถูกผูกขาด มันไหลเวียนถ้วนทั่วเครือข่ายอินเทอร์เน็ต-แทบทุกหลังคาเรือน
สมมติมีลูก ในฐานะอาวุโส เรี่ยวแรงน้อยกว่า สายตายาวอ่านหนังสือได้น้อยเล่ม อารมณ์และฮอร์โมนพลุ่งพล่านน้อยลงดุจเงาตามตัว หากมีนัดชุมนุมวันใดและไปร่วมด้วยไม่ไหว ปวดหลัง ข้าพเจ้าจะเดินเข้าไปตบไหล่เขาและเธอเบาๆ พร้อมพลางเอ่ยง่ายๆ ว่า
"ระวังตัวนะลูก ถึงแล้วโทรบอกนะ พ่อจะรอ"
ขณะลงกลอนประตูรั้วหน้าบ้าน ข้าพเจ้าคงรำพึงในใจอย่างเหนียมๆ ว่า
เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ
*****
ประวัติและผลงาน
สันติสุข กาญจนประกร
อาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี เคยเป็นบรรณาธิการ WAY MAGAZINE สมัยผู้คนยังพิสมัยกลิ่นกระดาษ ปรากฏเรื่องสั้นตามที่ต่างๆ เช่น นิตยสารเรื่องสั้นออนไลน์ (เม่นวรรณกรรม) ชายคาเรื่องสั้น ราหูอมจันทร์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
พิมพ์นวนิยายของตนเองชื่อปก ซิมโฟนียังบรรเลง หนึ่งในหนังสือ 'ความน่าจะอ่าน' ปี 2020 เว็บไซต์ The101.world และนวนิยาย 1 ใน 9 เรื่องสุดท้ายรางวัล 'ปีศาจ'
เนื้อหาว่าด้วย ชายทำนิตยสารนิรนามสติใกล้ฟั่นเฟือน หนึ่งหญิงสาวนักข่าวม็อบใบหน้าอ่อนหวาน ผู้ลุ่มหลงการถ่ายภาพองค์ประกอบวิ่นเเหว่งไม่ครบส่วน และอีกหนึ่งหญิงคนขายแผ่นเสียงอุปมาผีสาว ผู้ถูกวิงวอนให้บันทึกปากคำจากเรื่องเล่าพร่าๆ เลือนๆ คาบเกี่ยวการเมืองไทยร่วมสมัยก่อนรัฐประหาร 49 จวบจนการจุดเทียนก่อนยึดอำนาจอีกครั้งในปี 57 และย้อนลึกไปสู่ความรุนเเรง 'ลืมไม่ได้ จำไม่ลง' ในเดือนตุลา 19
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ 'ซิมโฟนียังบรรเลง' เพิ่มเติมได้ที่เพจชื่อ นวนิยาย 'ซิมโฟนียังบรรเลง'
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563