Last updated: 23 เม.ย 2564 | 5721 จำนวนผู้เข้าชม |
Keynote
บทบันทึกว่าด้วยเรื่ององค์กรทางการศึกษาและวัฒนธรรม
“บทบันทึกว่าด้วยเรื่ององค์กรทางการศึกษาและวัฒนธรรม” ชิ้นนี้ กรัมชี่กล่าวถึงกระบวนการว่าด้วยการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนเป็นหลัก โดยตั้งต้นข้อเขียนชิ้นนี้ของเขาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในมุมมองของเขา ‘วิกฤติของหลักสูตรการศึกษาและองค์กรที่จัดการเรียนการสอน’ (Crisis of curriculum and organisation of the schools) หรือหากกล่าวอย่างเจาะจงก็คือ ‘วิกฤติของภาพรวมเชิงนโยบาย’ ในการผลิตสร้างปัญญาชนของชาติเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการส่งผลให้เกิดปัญหาที่รอบด้านกว่า และถึงที่สุดแล้ว ก็เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง (Organic crisis) ของรัฐ
การมองปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคม/การเมืองแบบเชื่อมโยงและเป็นองค์รวมถือเป็นจุดเด่นสำคัญประการหนึ่งของมุมมองแบบกรัมชี่ การเลือกใช้คำว่า ‘organic’ สำหรับกรัมชี่มีนัยสำคัญที่ความเป็นโครงสร้าง กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยมิติหรือโดยตัวแปรใดแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หากตัวแปรต่างๆ กลับเชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น เหตุที่กรัมชี่มองว่าหาก ‘โรงเรียน’ หรือองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา ตลอดจนหลักสูตรการศึกษานั้น จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติเชิงโครงสร้างของรัฐได้ เพราะกรัมชี่มองว่า การศึกษาเป็นเรื่องของ ‘ชนชั้น’ (Class) การกำเนิดขึ้นของโรงเรียนในลักษณะที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการผลิตขนาดใหญ่และความชำนาญเฉพาะทางในการผลิต ภายใต้สังคมเช่นนี้จึงจำเป็นต้องสร้างกรรมาชีพที่มีทักษะการทำงานที่ตอบสนองชนชั้นผู้ถือครองปัจจัยการผลิตได้
กรัมชี่มองว่าโรงเรียนจึงจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะกว้างๆ ด้วยกัน ได้แก่ โรงเรียนแบบคลาสสิค (Classical school) ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นผู้ปกครองและของปัญญาชนชั้นนำ ส่วนโรงเรียนแบบที่สองได้แก่ โรงเรียนเพื่อการอาชีพ (Vocational school) ซึ่งกรัมชี่มองว่าโรงเรียนเพื่อการอาชีพมีไว้สำหรับชนชั้นผู้เปรียบได้กับการเป็นกลไกในการผลิต (Instrumental classes)
เมื่อองค์กรจัดการศึกษาเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับประเด็นชนชั้น จึงทำให้เราเข้าใจประเด็นที่กรัมชี่เสนอในบทบันทึกนี้ว่า หากวิกฤติการณ์ของหลักสูตรการศึกษาและวิกฤติการณ์ของโรงเรียนเกิดขึ้น จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่วิกฤติยาวนานของรัฐหรือสังคมนั้นๆ ได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในระบบทุนนิยมที่ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีด (Exploitation) และสร้างมูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) ของชนชั้นนายทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากองค์กรการศึกษาเกิดวิกฤติหรือไม่สามารถทำหน้าที่ในการผลิตกรรมกรเพื่อทำหน้าที่ในการผลิตให้กับสังคมนั้นๆ ได้ นั่นมีโอกาสนำไปสู่วงจรของการขาดทุน เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงไปยังปัญหาสังคมอื่นตามมาได้อีกหลายประการ
กรัมชี่กล่าวในบทบันทึกนี้ว่าแนวโน้มความเป็นไปสำหรับการศึกษากับประเด็นชนชั้นในสังคมอิตาลีในขณะนั้นก็คือ โรงเรียนที่ไม่ได้มุ่งสนองประโยชน์หรือตอบประโยชน์ให้กับชนชั้นผู้กุมทิศทางการผลิตก็จะทยอยถูกล้มล้างไป และสิ่งที่จะเหลืออยู่ก็เพียงโรงเรียนจำนวนน้อยที่จะสนองตอบความต้องการของชนชั้นนำจำนวนน้อยในสังคมได้ การต่อสู้ในสถานการณ์เช่นนี้กรัมชี่มองว่า ทางออกที่ดูมีเหตุผลที่สุดก็คือรัฐจะต้องจัดองค์กรการศึกษาให้เป็นของทุกคน/เป็นของสาธารณะ หรือที่เรียกว่า ‘Common school’ โรงเรียนของทุกคนหรือโรงเรียนของสาธารณะในที่นี้ต้องจัดให้มีความรู้เรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน มนุษยศาสตร์ และว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม โรงเรียนรัฐในรูปแบบนี้เป็นการแทนที่การแบ่งแยกโรงเรียนออกเป็นสองแบบที่แยกขาดดังกล่าวข้างต้น และจะทำให้เป็นการรักษาดุลระหว่างการพัฒนาความรู้เพื่อการทำงานเชิงเทคนิคเพื่องานอุตสาหกรรม (Technically/Industrially) และเพื่อการพัฒนาศักยภาพในการบรรลุทางปัญญา (Intellectual work) ให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้
กรัมชี่เสนอว่า โรงเรียนของสาธารณะควรต้องมีลักษณะองค์กรแบบปรึกษาหารือ (Deliberative body) สำหรับบริหารการศึกษา เพื่อส่งเสริมความรู้ทั้งในด้านเทคนิคเฉพาะทาง และเพื่อการพัฒนาทางปัญญา การบริหารงานแบบนี้ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศแบบการถกเถียงแลกเปลี่ยนร่วมกันและการวิพากษ์วิจารณ์ (Collective discussion and Criticism) การส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้จะทำให้เกิดการเรียนที่สร้างสรรค์และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันได้
กรัมชี่มองว่า กระบวนการเรียนรู้แบบถกเถียงกันและวิพากษ์วิจารณ์นี้เป็นการสร้างศักยภาพแบบใหม่ให้กับผู้เรียนได้มีเพื่อใช้ในการทำงาน
===============
อ่านเพิ่มเติมได้ใน อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง
วัชรพล พุทธรักษา : เขียน
กาญจนา แก้วเทพ, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คำนิยม
ความหนา : 192 หน้า
ISBN 978-616-7196-85-5
=====
อยากรู้เรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น อยากเข้าใจการควบคุมกดขี่จากผู้มีอำนาจ
ไม่ควรพลาดชุดงานเขียนเกี่ยวกับ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีการเมืองแนวมาร์กซิสต์คนสำคัญ
สั่งซื้อ SET GRAMSCI 2 เล่ม
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564