Last updated: 8 ก.ค. 2563 | 3830 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryūnosuke Akutagawa) ได้จากโลกนี้ไปด้วยเหตุแห่งความวิปลาส เพราะตำนานที่จารึกถึงวันตายของเขา ซึ่งบอกเล่าว่าอะคุตะงะวะกินเวโรนอลเข้าไปหลายกำมือก่อนจะนอนหลับไปตลอดกาลนั้น ไม่อาจทำให้คนรุ่นหลังคิดเห็นเป็นอื่นไป
พฤติกรรมเช่นนี้เมื่อผนวกกับงานเขียนที่มีฉากวนเวียนอยู่กับคนบ้าหรือโรงพยาบาลประสาท (เช่น ขัปปะ - Kappa, Spin-ning Gears หรือ Death Register) ย่อมตอกย้ำความเชื่อดังกล่าว และเมื่อกาลเวลาผันผ่านไป ภาพลักษณ์ของความวิปลาสก็ถูกผูกโยงยึดเข้ากับตัวผู้ประพันธ์ ราวกับเป็นภาพสองด้านบนเหรียญแห่งชีวิต
ผมอ่านเรื่องสั้นของอะคุตะงะวะเป็นครั้งแรกจากหนังสือเล่มหนึ่งที่หาเจอในห้องสมุดเมื่อตอนอายุได้เพียงสิบหกปี (เรื่องสั้นเรื่องนั้นชื่อ Greeting) เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่พยายามหาหนทางทักทายหญิงสาวคนที่พบเจอ ณ สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ความลังเลของชายหนุ่มผู้นั้นถูกถ่ายทอดเป็นภาษาที่ไม่เหมือนนักเขียนคนใดที่ผมเคยอ่านมา ความรู้สึกทำนองนี้บังเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อผมถูกบังคับให้อ่านเรื่องสั้นชื่อ ในป่าละเมาะ ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย
บทสนทนาอันวกวนแต่มีแง่มุมคมคาย ตัวละครที่แลดูเรียบง่าย ทว่าโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ (อย่างคนตัดฟืนหรือโจรร้ายทาโจมารุ) ทำให้เห็นว่าเรื่องสั้นของอะคุตะงะวะนั้นมีพลังในการเล่าเรื่องอย่างที่ใครได้อ่านก็คงยากที่จะปฏิเสธ
ด้วยเหตุผลนี้ แม้ความตายของอะคุตะงะวะจะเรียบง่ายหรือเป็นไปแบบคนปกติธรรมดาสามัญ เขาก็เป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมอยู่ดี ยิ่งเมื่อพินิจพิจารณาชีวิตโดยรอบของเขา ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า อะคุตะงะวะเป็นสดมภ์หลักของนักเขียนญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากญี่ปุ่นทำการเปิดประเทศในสมัยเมจิ ภายหลังแรงกดดันจากประเทศตะวันตก (โดยเฉพาะจากกองทัพเรือของนายพลเรือวิลเลียม เฟอร์รี)
อะคุตะงะวะเกิดและเติบโตในในแถบชิตามาจิของโตเกียวซึ่งเป็นถิ่นเก่าของเมือง (ในยุคเอโดะ) ที่นั่นเขาได้ซึมซับละครคาบุกิ และเรื่องเล่าจากวรรณกรรมจีนโบราณ ในขณะที่ประเทศกำลังผ่านช่วงสงครามใหญ่อันได้แก่ สงครามจีน - ญี่ปุ่น และสงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่น
ในระหว่างที่เขากำลังเคร่งเขียนหนังสืออย่างเข้มงวดนั้น ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นอะคุตะ-งะวะก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Tokyo Imperial University ทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษางานของนักเขียนต่างชาติ อาทิ
วรรณกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีคิดและวิถีชีวิตของเขา อะคุตะงะวะเริ่มปรากฏตัวในสูทแบบชาวตะวันตก หันมาสูบซิการ์ ดื่มกาแฟแทนชาในวงสนทนา ทานสเต็กเป็นอาหารหลักแทนเส้นโซบะ และเดินเข้าหอประชุมเพื่อฟังโอเปร่าในยามพักผ่อน แต่สิ่งที่สำคัญคือการศึกษาวรรณกรรมต่างประเทศโดยมีพื้นฐานจากวรรณกรรมจีนคลาสสิค ทำให้อะคุตะงะวะเริ่มทดลองผสมผสานข้อเด่นของวรรณกรรมทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน และการทดลองนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
งานเขียนของเขาที่มาจากตำนานโบราณสมัยเฮอัน อาทิThe Nose, In a Bamboo Grove, Rashōmon, Hell Screen, Yam Gruel หรือ The Lady-Roku-no-Miya ล้วนแล้วแต่ถูกปรุงแต่งและให้อรรถรสใหม่ (น่าดีใจที่หลายเรื่องถูกแปลอยู่ในเล่มนี้) เช่นเรื่อง ราโชมอน ที่เป็นเรื่องของคนใช้ตกยากต้องกลายเป็นโจร หรือ ฉากนรก ที่หยิบยืมชีวิตของจิตรกรนามโยชิฮิเดะ มาถ่ายทอดอาการลุ่มหลงในการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหมดจิตหมดใจ
. . .
นัตซึเมะ โซเซกิ (Natsume Sōseki: 1867 - 1916) นักเขียนชาวญี่ปุ่นรุ่นพี่ผู้มีชื่อเสียงกว้างขวางในขณะนั้น (และยังคงมีชื่อเสียงต่อมา จนกระทั่งใบหน้าของเขาได้รับเกียรติให้ปรากฏบนธนบัตรหนึ่งพันเยน) ได้มีโอกาสอ่านเรื่องสั้น จมูก โซเซกิ ถึงกับเขียนจดหมายไปหาอะคุตะงะวะ และให้กำลังใจว่า
“หากเธอสามารถเขียนเรื่องสั้นแบบนี้ได้อีกสัก 20 - 30 เรื่อง ก็จะไม่มีใครเทียบเธอได้ในโลกวรรณกรรม”
แม้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า โซเซกิเป็นผู้ที่มีเมตตาเสมอต่อนักเขียนรุ่นน้อง แต่เขาก็ไม่เคยเอ่ยชมใครในสาธารณะมาก่อนการแสดงออกของโซเซกิบ่งชี้ว่า เขารู้สึกพึงใจและตื่นเต้นกับงานเขียนชิ้นนี้ของอะคุตะงะวะด้วยใจจริง
. . .
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความบ้าของอะคุตะงะวะ (หากมีจริง) ย่อมไม่ได้เกิดจากความฝังใจในเหตุการณ์อดีตเพียงอย่างเดียว(เพราะมนุษย์ทุกคนต่างก็มีความปวดร้าวในชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิ้น) หากแต่เกิดจากแรงปรารถนาในการเขียน และความพยายามจะเอาชนะตัวเองในการสร้างสรรค์ จนทำให้เขาต้องขุดค้นเข้าไปในตัวเองมากขึ้นทุกขณะ ไม่ต่างจากการยินยอมให้ตัวเองมอดไหม้เป็นจุณ เพื่อให้ผลงานของเขากลายเป็นแสงสว่าง
หลายครั้งหลายคราที่ผมกำเริบเสิบสานหาญเทียบตัวเองกับอะคุตะงะวะ เพราะเรามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน
ผมกับเขาเกิดในปีเดียวกันคือ ‘ปีมังกร’ เราลาออกจากการสอนก่อนจะหันมาเขียนหนังสือเหมือนกัน (เขาสอนที่มหา-วิทยาลัยวิศวกรรมการต่อเรือเป็นอาชีพสุดท้าย)
ผมเรียนรู้เทคนิคงานเขียนจากวรรณกรรมต่างประเทศ ชอบเขียนงานที่ปฏิเสธความจริงแบบด้านชา และนิยมการสร้างโลกเฉพาะส่วนตัว ผมชอบใช้ตัวละครที่เป็นตัวเองดำเนินเรื่องและหมกมุ่นกับประเด็นแบบปัจเจก
แต่เมื่อยกความพ้องเคียงเหล่านี้ออก ผมก็ไม่อาจเทียบกับเขาได้แม้สักกระผีกริ้น
เพราะที่สุดแล้ว ผมอาจเป็นแค่นักเขียนที่เขียนเพื่อหาความหมายให้ชีวิต แต่สำหรับ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ เขาเป็นนักเขียนที่มีชีวิตอยู่เพื่อหาความหมายให้แก่สิ่งที่เขาเขียน ดังนั้นเมื่อเขาไม่อาจมีสิ่งใดให้เขียนต่อไปได้ การมีชีวิตอยู่ก็ไร้ความหมาย
..,
บางส่วนจาก:
จิตไหว การเผาไหมครั้งสุดท้ายของอะคุตะงะวะ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ | บทกล่าวตามในเล่ม
ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ (Rashomon and Other Stories)
==========
บทความที่คุณน่าจะชอบ
อะคุตะงะวะ ราชาเรื่องสั้นญี่ปุ่น | 7 ประโยค ความจงรักภักดีและความรัก
Bungo Stray Dogs แนะนำหนังสือฉบับภาษาไทยของนักเขียนในเรื่อง
==========
สนใจผลงานของอะคุตะงะวะที่สนพ.สมมติตีพิมพ์ทั้ง 2 เล่ม
คลิก Set เรื่องสั้นคัดสรรของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ
หรือชมชุดหนังสืออื่นๆ มากกว่า 40 ชุด ในราคาพิเศษ คลิก Special Set
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564