Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 3433 จำนวนผู้เข้าชม |
ในบ้านเรา การให้ความหมายเกี่ยวกับ ‘ลักษณะของวรรณกรรม’ มักมีลักษณะกว้างๆ ที่ก่อให้เกิดความสับสนถกเถียงกันมาตั้งแต่ครั้งเริ่มบัญญัติศัพท์คำว่า ‘วรรณคดี’ และ ‘วรรณกรรม’ เพื่อแบ่งแยกให้ ‘วรรณคดี’ เป็นผลงานคนโบราณ และ ‘วรรณกรรม’ เป็นผลงานของคนร่วมสมัย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาว่า แค่ไหนเป็นวรรณคดี แค่ไหนเป็นวรรณกรรม กันมาตราบจนปัจจุบัน
นอกจากนั้น การรับรู้ลักษณะของงานเขียนประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้น ‘ร่วมสมัย’ ยังมีความหลากหลายแตกต่างออกไป ทั้งในแง่การยอมรับและไม่ยอมรับของบุคคลหลายกลุ่ม หลายจำพวก ความสับสนต่อขอบเขตและความหมายโดยเฉพาะของคำว่า ‘วรรณกรรมร่วมสมัย’ จึงมีมากมาย และมีความหนักเบาในความเข้าใจไม่ตรงกันเสมอมา อาทิเช่น อะไรแค่ไหนที่คนรุ่นใหม่เรียกว่า ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ‘วรรณกรรมเพื่อประชาชน’ ‘วรรณกรรมก้าวหน้า’ หรือ ‘วรรณกรรมสังคมนิยม’ แตกต่างกันหรือไม่ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ กับ ‘วรรณกรรมเพื่อความเป็นธรรม’ แตกต่างกันอย่างไร ‘วรรณกรรมน้ำเน่า’ ‘วรรณกรรมมอมเมา’ หรือแม้แต่ ‘วรรณกรรมการเมือง’ มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างกันเพียงใด แค่ไหน อย่างไร
คำถามต่อความหมายตามถ้อยคำต่างๆ กันนี้ มักก่อให้เกิดปัญหาทั้งในหมู่นักอ่านวรรณกรรมกลุ่มเดียวกัน หรือต่างกลุ่ม ต่างความคิด และด้วยประการนี้จึงได้ก่อกระแสให้นักเขียนหรือผู้เริ่มต้นงานเขียน มีความสับสนในการทำงานเขียนของตนแตกต่างกันไปตามภาวะการรับรู้
นักเขียนที่เขียนลงนิตยสาร ‘ขายดี’ อาจรู้สึกเสมือนหนึ่งตัวเองต่ำต้อยน้ำเน่า มอมเมา แต่ตรงข้าม นักเขียนที่เขียนลงนิตยสารประเภท ‘เพื่อชีวิต’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัย อาจรู้สึกเสมือนหนึ่งตัวเองก้าวหน้า สร้างสรรค์ รับใช้สังคม ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ผลงานของทั้งสองฝ่ายอาจตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนักในแง่ของคุณภาพ กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งซ้ำซากอยู่กับความบันเทิงแบบเดิม อีกฝ่ายหนึ่งจำเจอยู่กับความคิดวนเวียนแบบเก่า ดังนั้นผลงานในเชิง ‘คุณภาพ’ โดยส่วนรวมจึงตกอยู่ในภาวะเสมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ไปไหน นอกจากจะดูหมิ่นดูแคลนซึ่งกันและกันภายใน โดยฝ่ายหนึ่งอาจถือตนว่ารับใช้สังคม เพราะหนังสือมียอดจำหน่ายขายดี แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ปลอบใจตนเองว่ารับใช้ชีวิตที่ดีกว่าด้วยเนื้อหาของการเมืองอันถูกต้อง ฝ่ายหนึ่งเน้นหนักด้านรูปแบบความบันเทิง ฝ่ายหนึ่งเน้นหนักเนื้อหาด้านความคิด แต่กระนั้นผลก็คือ ทั้งสองฝ่ายได้ ‘คุณภาพทางวรรณกรรม’ ออกมาเท่าเดิม เนื่องจาก ‘รสนิยม’ ของคนอ่านอย่างเดียวยังไม่อาจนำมาใช้วัด ‘คุณค่าทางวรรณกรรม’ ที่ดีได้
การกล่าวว่า นักอ่านนวนิยายส่วนใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน ชอบอ่านแต่เรื่องเกี่ยวกับแม่ผัว - ลูกสะใภ้ เมียน้อย - เมียหลวง สามารถตีความออกไปได้หลายทาง ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาเช่นนั้นดำรงอยู่จริง นักเขียนไทยส่วนหนึ่งจึงสะท้อนภาพดังกล่าวออกมาเช่นนั้น หรืออาจเป็นเพราะนักเขียนนวนิยายของไทยส่วนนั้น ยังไม่มีความสามารถที่จะมองปัญหาสังคมให้ลึกซึ้งไปกว่านั้นได้ หรืออาจเพราะผู้อ่านต้องการเรื่องแบบนี้ บรรณาธิการต้องการเรื่องแบบนี้ นายทุนต้องการเรื่องนี้ นักเขียนก็เลยสนองเรื่องแบบนั้นให้เรื่อยมา ผลก็คือเกิดภาวะชะงักงันด้านคุณภาพ เช่นเดียวกับนักเขียนที่เรียกตนเองว่า ‘ก้าวหน้า’ แต่เขียนเนื้อหาของเรื่องออกมาเหมือนป้ายโฆษณา แม้แก่นความคิดจะเข้มข้นชอบธรรม แต่การนำเสนอผลงานที่ล้มเหลว ไม่สื่อ ‘สาระ’ ได้อย่างมีชีวิตชีวา นั่นก็ย่อมเท่ากับไม่มีความสามารถในการที่จะมองสังคมให้ลึกซึ้งลงไปเช่นกัน ผลของคุณค่าในทางวรรณกรรมที่ได้จึงออกมาใกล้เคียงกับเรื่องประเภทแรก อีกทั้งยังมีคนอ่านน้อยกว่าด้วย
ไม่ว่าเราจะให้ความสำคัญแก่วรรณกรรมในลักษณะของคำจำกัดความใดก็ตาม สิ่งที่นักเขียนจะต้องตระหนักท้าทายกับตัวเองก็คือ เขาคือผู้ทำงานศิลปะ ไม่ว่าทฤษฎีหรือสำนึกคิดทางวรรณกรรมจะดำเนินไปเช่นใด ปัญหาที่ว่า ‘วรรณกรรมเพื่ออะไร’ ก็เป็นปัญหาที่มีคำตอบอยู่ในตัวของมันเองได้ ถ้าหากคุณค่าในงานวรรณกรรมชิ้นนั้นจะปรากฏตัวออกมาในฐานะที่เป็น ‘งานเขียนสร้างสรรค์’ หรือ Creative Writing ไม่ใช่ผลงานประเภทที่ ‘สร้าง’ ขึ้นเพื่อป้ายหรือยี่ห้ออื่นใด แต่หากนักเขียนพากเพียรพยายาม ‘สร้าง’ ขึ้นมาให้ มีชีวิตเพื่อเป็น ‘ตัวแปร’ ในคุณค่าของมันเอง โดยตัวผู้สร้างนั้นๆ กล้าหาญชาญชัยที่จะสร้างผลงานของตนให้ ‘ลึก’ ให้ ‘แน่น’ และให้ ‘ถึง’ ซึ่งความทรงคุณค่า อีกทั้งการสร้างในฐานะของ ‘ผู้สร้าง’ (Creator) งานศิลปะนั้น ก็มิใช่สิ่งเล็กน้อยที่จะทำกันแบบสุกเอาเผากิน เพราะการทำงานวรรณกรรมในฐานะที่เป็นวรรณศิลป์ ต้องมีความคิดริเริ่ม มีลีลา และมีภาษาทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาส่งรับซึ่งกันและกัน ขึ้นต่อกันและกันอย่างซื่อสัตย์จริงใจ วรรณกรรมที่ ‘ผู้สร้างสรรค์’ สร้างขึ้นมานั้น จึงจะได้ชื่อว่าสมบูรณ์ ลึกซึ้ง และตอบสนองความประทับใจของผู้อ่าน และในระยะยาว ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านั้นยังเป็น ‘ตัวแปร’ ให้สาธารณชนได้ยกระดับ ‘ชีวิตทางวัฒนธรรม’ ให้สูงขึ้นพร้อมกันไป จนกลายเป็นมรดกในทางวัฒนธรรมของประเทศ
ดังนั้น ขอให้เราจงได้ตระหนักร่วมกันเถิดว่า อำนาจเนรมิตกรรมต่อการสร้างสรรค์ผลงานต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณธรรมของนักเขียน และคุณธรรมของนักเขียนดังกล่าวก็อยู่ที่ความสามารถในการ ‘สร้าง’ ผลงานของตนให้มีชีวิตและเลือดเนื้อประทับอยู่ในหัวใจคนอ่าน ความสำเร็จของนักเขียน ‘ผู้สร้างสรรค์’ งาน ไม่ว่ากลุ่มใด ฝ่ายใด ก็ย่อมตัดสินได้ระดับหนึ่งตรงจุดนี้ มิใช่ตรงจุดว่าด้วยจำนวนจำหน่ายทางการค้า หรือป้ายโฆษณาความคิดทางการเมือง •
จากบทนำ โลกหนังสือ 'จากห้องสี่เหลี่ยม' ปีที่ 4 ฉบับที่ 12 กันยายน 2524 บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
==============================
เชิญเลือกซื้อหนังสือในราคาพิเศษ
ลดราคาทุกปก SALE Online Bookfair เรายกงานหนังสือมาบนหน้า Website ที่นี่
เงินไม่ถึง 100 ก็ซื้อได้ ราคาตั้งแต่ 93 บาท!!! คลิกชมทันทีได้ที่ http://bit.ly/2wXrkJr
สนใจหนังสือเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้วในราคาพิเศษ คลิก SPECIAL SET
==========
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564