Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 5227 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความบางส่วนจาก พันธมิตรกับสัญญาณอันสับสนจากราชสำนัก โดย วาด รวี จากเล่ม การเมืองโมเบียส
Keynote
ปี 2551 หลังการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลมาถึงจุดเดือดจนก่อให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม มีปฏิกิริยาจากราชสำนักเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ความสำคัญของปฏิกิริยาเหล่านี้ ไม่ใช่ความเด่นชัดของการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นความคลุมเครือ ขัดแย้งกันเอง ที่ก่อให้เกิดความสับสน และต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์สนับสนุนตนเอง หรืออย่างน้อย ไม่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม และในท่ามกลางความคลุมเครือไม่ชัดเจนนี้เอง ในที่สุดกลุ่มพันธมิตรก็ตัดสินใจกระทำปฏิบัติการอันเป็นการท้าทายภาวะของความไม่กระจ่างชัดนี้ที่ทำให้ความขัดแย้งแหลมคมขึ้นไปอีกด้วยการยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
ถ้าความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์คือศีลธรรมอันสูงสุดของสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คล้ายการแสดงให้เห็นว่าศีลธรรมนี้สามารถย้อนกลับมาบีบบังคับสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร กลุ่มพันธมิตรใช้ข้ออ้างเรื่องความจงรักภักดีในการประท้วงขับไล่รัฐบาลฝ่ายทักษิณ และอาจจะต้องการให้สังคมเชื่อว่าการกระทำของพวกเขานั้นเป็นเสมือนกระทำไปในนามของสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อเผชิญกับภาวะอันไม่กระจ่างของการยอมรับการกระทำในนามของสถาบันกษัตริย์จากราชสำนัก หรือแม้แต่ถูกปฏิเสธจากราชสำนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือปฏิบัติการอันรุนแรงที่คล้ายจะเอาตัวเองเป็นเดิมพันเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและราชสำนัก
ก่อนหน้านั้น ความขัดแย้งค่อยๆ สั่งสมความตึงเครียดตลอดการชุมนุมที่กินเวลาต่อเนื่องกันหลายเดือน กลุ่มพันธมิตรเริ่มชุมนุมหลังจากรัฐบาลสมัครบริหารประเทศได้ 5 เดือนกว่า ประเด็นในการโจมตีแรกคือความไม่จงรักภักดี โดยมี จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นเป้าหมาย จากนั้นจึงขยับไปมุ่งโจมตี นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ต่อยูเนสโก เพื่อเสนอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งไต่ระดับจากการเมืองภายในประเทศไปสู่การเมืองระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนทักษิณก็ขยายวงและรุนแรงขึ้นไปตามการยกระดับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร เกิดการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตที่จังหวัดอุดรธานี กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กลุ่มพันธมิตรยังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการชุมนุมขนาดใหญ่ ด้วยการจัดตั้งกองกำลังที่ใช้ความรุนแรงร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วง และใช้กองกำลังเหล่านี้ในการบุกยึดสถานที่สำคัญ เช่น สถานีโทรทัศน์ NBT และทำเนียบรัฐบาล
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญปลดสมัครจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ กลุ่มพันธมิตรยังคงไม่ออกจากทำเนียบรัฐบาล กระทั่งสภาลงมติเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และมีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว กลุ่มพันธมิตรก็เคลื่อนไหวปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลสมชายเข้าแถลงนโยบายในวันที่ 7 ตุลาคม แต่ครั้งนี้รัฐบาลสมชายสั่งตำรวจให้สลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. เข้าประชุมในรัฐสภา ในเหตุการณ์ปะทะกันที่หน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจ
เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการในพระราชินีสิริกิติ์ ได้โทรศัพท์ถึงผู้อำนวยการวชิรพยาบาลเพื่อแจ้งว่า พระราชินีจะรับผู้บาดเจ็บไว้ในการอุปถัมภ์ทั้งหมด และพระราชทานเงิน 100,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล บ่ายวันเดียวกัน สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศบนเวทีว่า
“ผู้ชุมนุมเป็นทหารเสือพระราชา วันนี้รู้แล้วว่าทำร้ายลูกหลานพระองค์ท่าน ทำร้ายประชาชน ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงพระราชทานเงินมาช่วยเหลือหนึ่งแสนบาท และรับไว้เป็นคนไข้ในส่วนพระองค์ทั้งหมด”
การปะทะกับตำรวจในวันที่ 7 ตุลาคม แม้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม แต่จากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่รายงานในสื่อทั่วไปก็พบว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง มีไม้หน้าสาม คันธงปลายแหลม หนังสติ๊ก ระเบิดปิงปอง รวมถึงปืนพก เป็นอาวุธ มีตำรวจถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสด้วยการเอาคันธงปลายแหลมแทงทะลุตัว และมีการขับรถชนและต้องการจะทับตำรวจ จึงไม่ใช่ทุกฝ่ายในสังคมจะเห็นเช่นเดียวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ
ในวันที่ 9 ตุลาคม พระเทพฯ ทรงตอบคำถามสื่อมวลชน ระหว่างเสด็จมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย รัฐคอนเน็กติกัต สหรัฐอเมริกา ในเรื่องกลุ่มพันธมิตรกระทำในนามสถาบันกษัตริย์ตามการรายงานของข่าวสดว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาดำเนินการสิ่งต่าง ๆ เพื่อตัวของพวกเขาเอง” ข่าวนี้รายงานโดยสำนักข่าวเอพี และต่อมาหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้แปลเผยแพร่ในฉบับวันที่ 11 และ 12 ตุลาคม โดยต้นฉบับจากเอพีในภาษาอังกฤษคือ :
The princess was asked at a press conference following her talk whether she agreed with protesters who say they are acting on behalf of the monarchy.
“I don’t think so,” she replied. “They do things for themselves.”
ข่าวนี้สร้างความโกรธแค้นให้กลุ่มพันธมิตรและมีการรณรงค์คว่ำบาตรหนังสือพิมพ์ข่าวสดและเครือมติชนบนเวทีพันธมิตร อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงเกิดขึ้นทั่วไปว่าข่าวสดแปลคลาดเคลื่อน ที่ถูกแล้วต้องแปลคำของพระเทพฯ ที่กล่าวถึงพันธมิตรว่า “พวกเขาทำในนามของพวกเขาเอง” อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 ตุลาคม กลุ่มพันธมิตรก็ได้รับสัญญาณการสนับสนุนที่ชัดยิ่งขึ้น
พระราชินีสิริกิติ์เสด็จพระราชทานเพลิงศพผู้ชุมนุมพันธมิตรที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 7 พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ องคมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ส.ส. ส.ว. ฝ่ายค้าน และบุคคลอีกจำนวนมาก ในงานนี้พระราชินีได้ทรงกล่าวกับจินดา บิดาของ อังคนา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ โบว์ ผู้เสียชีวิตว่า “ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” และ “เป็นห่วงพันธมิตรทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตร” และ “ขอให้กำลังใจกับครอบครัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบแล้ว และเงินที่เป็นค่ารักษา ในหลวงเป็นผู้พระราชทานให้” (ตามการรายงานของผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 ตุลาคม 2551, 19:11 น.) นอกจากนี้ในระหว่างที่เสด็จกลับยังทรงหยุดเพื่อพูดคุยกับ สนธิ ลิ้มทองกุล อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ถึง 2 อาทิตย์ถัดมา บุคคลสำคัญของราชสำนัก 3 คน คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, สุเมธ ตันติเวชกุล และ ดิสธร วัชโรทัย ก็ทยอยกันออกมาแสดงความเห็นให้ยุติความรุนแรงและปรองดองกัน โดยดิสธรเป็นผู้ที่กล่าวอย่างชัดเจนที่สุดว่า คำพูดของเขาคือสารจากในหลวง :
ผมต้องขอกราบเรียนว่าผมได้ไปพูดมาแล้ว 19 จังหวัด และผมก็ไม่ทราบว่าที่นั่งอยู่ที่นี่เป็นพรรคพวกไหน จะเป็นฝ่ายพันธมิตรก็ดี จะเป็นฝ่าย นปช. ก็ดี ผมต้องกราบเรียนความจริงอันหนึ่งว่า ถ้าพวกเราทุกคนรักในหลวง ไม่ต้องไปทำนาที่ทำเนียบหรอกครับ ไม่ต้องไปแสดงพลังที่ไหน ในฐานะผมเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ผมดูแลทุกข์สุขของราษฎรในนามของพระองค์ท่าน ผมบอกได้เลยว่า ทุกๆ ครั้งที่ประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นวาตภัย วินาศภัย สาธารณภัยต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทอดทิ้งพวกเราเลย ทุกครั้งที่เกิดภัย พระองค์ท่านจะรับสั่งให้ลงไปช่วยทุกครั้ง เหมือนกับคราวนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านชุมพร พระองค์รับสั่งทันทีเลยว่าให้ผมรีบลงมา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่างๆ ในชุมพร
ถ้ารักในหลวงให้อยู่ชุมพร ไม่ต้องไปที่อื่น ผมเคยพูดตลอดเวลาว่า รักในหลวงให้อยู่บ้าน รักในหลวงให้กลับบ้าน คุณไปแสดงพลังตรงนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก ผมกล้าพูดตรงนี้เพราะผมเป็นตัวจริงเสียงจริงนะครับ รับพระราชกระแสมาเองว่า พวกเราต้องขยาย ทำอย่างไรให้เขาทราบว่า เรามีหน้าที่และทำหน้าที่อะไร ผมไม่ได้เข้าข้างใครนะครับ ผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ผมรู้อย่างเดียวว่า ผมอยู่พรรคในหลวง และพรรคนี้ใหญ่โตมาก
สนธิตอบโต้ทั้งสุเมธและดิสธรอย่างดุเดือดบนเวทีพันธมิตร และไม่ยอมรับการออกมาพูดในนามในหลวงของทั้งสองคน ในขณะที่หลังจากการพูดของดิสธร 3 วัน ทักษิณ ชินวัตร ก็โฟนอินเข้ามาปราศรัยกับคนเสื้อแดงในงานความจริงวันนี้ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน โดยในการตอบคำถาม วีระ มุสิกพงศ์ มีคำพูดสำคัญที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์ว่า
“ใครก็เอาผมกลับบ้านไม่ได้ นอกจากพระบารมีที่ทรงมีพระเมตตา หรือพลังจากประชาชนเท่านั้น”
และนายวีระตอบว่า “เมืองไทยเรามีศัพท์อยู่คำหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะกินใจ ท่านพูดมาแบบนี้ทำให้ผมนึกถึงคำศัพท์คำนั้น คือเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันสูงสุด อาศัยพระบารมีของท่าน บวกกับพลังรากหญ้า คือมวลมหาประชาชนเข้าด้วยกัน คำนั้นเขาเรียกว่าราชประชาสมาสัย หนทางนี้แหละครับ”
และทักษิณกล่าวตอบว่า “โอ ขนลุกเลยครับ ผมฟังแล้วขนลุก เหมือนที่บอกว่าเย็นศิระเพราะพระบริบาลครับ”
หลังจากนั้นราว 3 สัปดาห์เศษกลุ่มพันธมิตรก็บุกเข้ายึดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ในวิกิลีคส์มีบทสนทนาของชนชั้นนำจำนวนหนึ่งทั้งก่อนและระหว่างการยึดสนามบิน ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของสถานการณ์ทั้งหมดนี้ชัดเจนขึ้น
“ถ้าเราแพ้ทักษิณจะกลับมา และถ้าทักษิณกลับมาสถาบันกษัตริย์จะหายไป”
“If we lose, Thaksin will come back, and if Thaksin comes back, the monarchy will be lost,”
ข้างต้นคือถ้อยคำของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรีซึ่งกล่าวกับ เอริค จี. จอห์น ทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโทรเลขวิกิลีคส์วันที่ 3 กันยายน 2551 ทูตบันทึกไว้ว่าสิทธิแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในทัศนะของเขา ทักษิณและสมัครคือภัยคุกคามประเทศไทยและราชสำนัก สิทธิเล่าให้ทูตฟังว่าในการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพบกับคณะองคมนตรีที่หัวหิน เขาจะกราบบังคมทูลเสนอแผนการจัดการนายสมัคร โดยจะไม่มีการใช้กำลัง รัฐธรรมนูญเดิมจะยังอยู่ จะแก้ไขให้คนนอก (ไม่ใช่ ส.ส.) เป็นรัฐมนตรีได้ รัฐสภาและวุฒิสภาจะยังอยู่ อานันท์ (ปันยารชุน) จะมาเป็นผู้นำ และจะมีอดีตนายทหารหรือรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์ นักวิชาการ สมาชิกกลุ่มพันธมิตรหนึ่งหรือสองคน และอาจจะคนจากพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วม จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะมีการขจัดอิทธิพลต่าง ๆ ของทักษิณทั้งหมดออกไปจากระบบ :
สิทธิกล่าวว่าคนกลุ่มหนึ่งมาพบเขาพร้อมกับแผนการ พวกเขามาอยู่กันจนแน่นห้องรับแขก เขาเอ่ยชื่อเพียงคนเดียวคือ ปราโมทย์ นาครทรรพ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่เกษียณอายุแล้วจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนอื่นๆ ประกอบด้วย นายทหารอากาศระดับสูง ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะองคมนตรีเขาจะต้องไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง เพียงให้คำปรึกษาพระมหากษัตริย์ แต่สิทธิยอมรับการพบปะในฐานะ ‘อดีตผู้นำทางทหาร’ ที่พร้อมจะทำเพื่อชาติบ้านเมือง เขาตั้งใจจะสนับสนุนและนำเสนอแผนการนี้ต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะโล่ห์ป้องกันประธานองคมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักและไม่ยุติธรรมว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่มพันธมิตร และพยายามจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นรัฐบาล เป็นเดิมพันที่สูงเพื่อจะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย
“ถ้าเราแพ้ทักษิณจะกลับมา และถ้าทักษิณกลับมาสถาบันกษัตริย์จะหายไป” สิทธิอธิบาย
...
บทความบางส่วนจาก พันธมิตรกับสัญญาณอันสับสนจากราชสำนัก โดย วาด รวี
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ เพียงคลิกสั่งซื้อ การเมืองโมเบียส - รวมบทความว่าด้วยการเมืองที่หนักแน่นและร้อนแรง)
=======================
ผลงานแปลของ วาด รวี คลิก ชายชราและทะเล (ฉบับสองภาษา) เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (เขียน)
บทความอื่นๆ คลิก สี่สิบปีของวรรณกรรมสมมติ
==================
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564