Last updated: 28 ม.ค. 2564 | 3566 จำนวนผู้เข้าชม |
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เสียงดนตรีแจ๊ซ จังหวะเต้นรำรื่นเริง ฟองสบู่อันสวยสดงดงามของความฝันแบบอเมริกัน เงินตราผู้เป็นใหญ่ และความรักฉาบฉวยฟุ้งเฟื่อง ในเรื่องของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) ต่างประดากันมาร่วมวาดมโนภาพของสังคมอเมริกันในปลายทศวรรษ 1910 ต่อต้นทศวรรษ 1920 ได้อย่างแจ่มชัดน่าอัศจรรย์
'ปราสาทน้ำแข็ง' (The Ice Palace) และ 'ความฝันในฤดูหนาว' (Winter Dreams) คือ 2 ใน 3 เรื่องจากรวมเรื่องสั้น หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ ซึ่งเปรียบเป็นประกายแห่งช่วงชีวิตอันรุ่งโรจน์ทางอาชีพนักเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์
แต่แล้วเมื่อถึงปี 1929 ฟองสบู่อันงดงามก็พลันแหลกสลาย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เสมือนพายุร้ายที่พัดพาภาพอันตระการตาในอดีตจนย่อยยับ
หลังวิกฤติร้ายแรงผ่านไป อเมริกันชนล้วนไม่เหมือนเดิม ชีวิตนักเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์ที่เคยร่ายมนตร์ให้แก่สังคมอเมริกันเองก็เช่นกัน พอขึ้นทศวรรษ 1930 ความนิยมของเขาตกลงอย่างน่าใจหาย ราวกับสะเก็ดดาวสิ้นประกายที่ตกลงจากฟ้าและกลายเป็นก้อนหินไปพร้อมๆ กับภาวะทางเศรษฐกิจโลก
เมื่อถึงปี 1936 'หวนคืนสู่บาบิลอน' (Babylon Revisited) รวมถึงเรื่องสั้นและนวนิยายหลังจากนั้นก็ไม่อาจสร้างสีสันให้ชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ได้อีก เขาสิ้นใจในปี 1940 ด้วยความรู้สึกบั้นปลายชีวิตที่ว่า ตนคือนักเขียนผู้ล้มเหลว
หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ ที่บรรจุวิธีการเล่าเรื่องในแต่ละช่วงชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ไว้จึงไม่ใช่แค่รวมเรื่องสั้น แต่เป็นปราสาทแห่งชีวิตทั้งชีวิตของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้เคยใช้ชีวิตทางสังคมอย่างโอ่อ่าเช่นเดียวกับตัวละครส่วนใหญ่ที่เขาเขียนถึง
'ปราสาทน้ำแข็ง' ชื่อเรื่องที่ฟังแล้วเย็นยะเยือกนี้เปิดฉากด้วยทัศนียภาพอันอบอุ่นของบ้านที่สาดส่องด้วยแสงอาทิตย์ บรรยากาศที่ระอุไปด้วยไอร้อนของสหรัฐอเมริกาตอนใต้ให้ความรู้สึกขัดกับชื่อเรื่องบอกไม่ถูก แต่นั่นก็คล้ายจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าเรื่องจะดำเนินไปในทิศทางไหน และขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์ในตอนต้นชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ได้ด้วย
ฟิตซ์เจอรัลด์เขียนเรื่อง 'ปราสาทน้ำแข็ง' ในปี 1920 นอกจากการพรรณนาด้วยภาษาภาพอันมีชีวิตชีวาแล้ว เรื่องนี้ยังสะท้อนปูมหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างคนเหนือและคนใต้ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหลังสงครามกลางเมืองในปี 1861-1865 ที่แม้จะจบลงด้วยการยุติสงคราม แต่ความรู้สึกในใจของคนยังไม่เปลี่ยน ซึ่งก็อาจเหมือนกับทุกที่ที่มักมีการดูแคลนอีกฝ่ายหนึ่งโดยแฝงฝังผ่านดีเอ็นเอทางภูมิศาสตร์
ส่วนเรื่อง 'ความฝันในฤดูหนาว' ที่เขาเขียนในทศวรรษ 1920 เช่นกัน (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1922 แต่รวมเล่มในปี 1926) กลับให้ความรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่ากันว่าโด่งดังและครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของการเขียนแบบฟิตซ์เจอรัลด์มากที่สุด และยังสมบูรณ์ในแง่ของสัญญะ การปูเรื่อง การดำเนินฉาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องในสไตล์ที่เขาจะยึดไว้ในช่วงระยะหนึ่ง ก่อนเขียน 'The Great Gatsby' ที่จะกลายเป็นตำนานในอีกไม่กี่ปีให้หลัง
'ความฝันในฤดูหนาว' เรื่องเกี่ยวกับชายชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงที่สร้างเนื้อสร้างตัว พัวพันกับสาวสังคมไฮโซมากรักและมักจะไม่ได้รับรักตอบจากเจ้าหล่อน จนท้ายที่สุดได้แต่พบกับความผิดหวังนี้ เสมือนเป็น 'ซิกเนเจอร์' กลายๆ ของฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งตอบสนองต่อสังคมขณะนั้นที่ทุนนิยมกำลังเติบโตอย่างมหาศาลได้ดี
และถ้าเทียบกับเรื่องที่เต็มไปด้วยภาพสังคมชั้นสูงและการไต่เต้าเขยิบฐานะในแบบต่างๆ ที่เขาเคยเขียนถึง 'หวนคืนสู่บาบิลอน' ที่เขาเขียนในช่วงต้นทศวรรษ 1930 กลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง ด้วยเรื่องของชายผู้หวนระลึกถึงความหลัง (ทั้งเรื่องดีและเรื่องแย่) เป็นคนที่ผ่านมรสุมมาหลายฤดูแล้วและมองย้อนกลับไปหาตัวตนที่กลวงเปล่าในอดีตของตัวเอง
ถ้าจะบอกว่าเรื่อง 'หวนคืนสู่บาบิลอน' มีความเป็นฟิตซ์เจอรัลด์น้อยกว่าสองเรื่องแรก (และเรื่องที่คนรู้จักกันดีอย่าง The Great Gatsby) ก็คงไม่ผิดนัก เพราะในเรื่องนี้ฟิตซ์เจอรัลด์ละทิ้งแม้กระทั่งสำนวนพรรณนาอันโอ่อ่าฟุ้งฝันอย่างที่เขามักใช้ในแทบทุกเรื่อง กลายเป็นชายที่อายุมากขึ้นจนให้ความรู้สึกราวกับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวฟิตซ์เจอรัลด์เองหลังผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจและมรสุมชีวิตที่ตกต่ำลง
เขาได้สัมผัสกับความเศร้า ความผิดหวัง และความแปลกแยกเมื่อทุกสิ่งถูกพัดพาไปกับวิกฤติเงินตรา และตัวฟิตซ์เจอรัลด์เองก็ต้องเผชิญปัญหาส่วนตัวจากอาการป่วยทางจิตของภรรยา แต่ฟิตซ์เจอรัลด์ก็ยังคงไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาเขียนทุกเรื่องออกมาด้วยการผสมตัวตนลงไปอย่างละนิดละหน่อยมาตั้งแต่แรกแล้ว ถ้างานในยุคหลังจะทำให้ภาพเหล่านั้นเปลี่ยนไปบ้าง ก็เป็นเพราะฟิตซ์เจอรัลด์ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตนั่นเอง
ความน่าเศร้าของนักเขียนผู้นี้คือ เมื่อวันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์อันแสนสั้นผ่านไป ชื่อเสียงของฟิตซ์เจอรัลด์ก็ไม่เคยโดดเด่นเท่าเดิมอีกเลย จากที่คนเคยมองว่าเขาเป็นดาวเด่นควบคู่มากับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กลายเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในยุคที่ผู้อ่านไม่ได้สนใจภาษาหรูหราและเรื่องแฝงรักแฝงเศร้าของชนชั้นไฮโซในแบบของเขาอีกแล้ว
งานของฟิตซ์เจอรัลด์ที่อยู่ในสถานะตกต่ำในช่วงบั้นปลายของเขาเพิ่งมาได้รับการฟื้นฟูความนิยมหลังทศวรรษ 1950 หลังจากที่เจ้าตัวเสียชีวิตไปแล้ว คนในสมัยหลังหันมาอ่านงานของเขา ดื่มด่ำภาษาภาพและโวหารพรรณนาเปรียบเปรยอันรุ่มรวยของเขา และชื่นชมฟิตซ์เจอรัลด์ในฐานะนักเขียนแห่งยุคแจ๊ซและคนรุ่นหลงทาง (the Lost Generation) ที่เป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1
ตัวละครที่แวดล้อมไปด้วยเงินตราและความฟุ้งเฟ้อกลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้งในรูปแบบภาพทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และผู้คนก็ยกย่องงานเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์ว่าเป็นเพชรเม็ดเอกแห่งยุคแจ๊ซต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะว่าเป็นเอกด้านการให้ภาพของสังคมฟองสบู่ที่สวยงาม ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929
เมื่อมองย้อนกลับไป ในยุคนั้นฟิตซ์เจอรัลด์ไม่ได้ถูกนักวิจารณ์และนักอ่านมองในฐานะนักเขียนผู้บันทึกภาพของวัฒนธรรมยุคแจ๊ซเลย แต่เป็นเพียงนักเขียนดาวรุ่งในแมกกาซีนที่อ่านแล้วบันเทิงใจ ภาษาสวยสดงดงาม ทั้งยังบรรยายตัวละครผู้หญิงออกมาได้อย่างละเมียดละไมจนไม่เหมือนนักเขียนชาย (แต่ในทางกลับกัน ตัวละครหญิงของฟิตซ์เจอรัลด์กลับไม่ค่อยมีดีนัก คนรุ่นหลังบางกลุ่มจึงมองว่าเขาเป็นพวกเหยียดเพศนิดๆ เช่นเดียวกับนักเขียนร่วมยุคเดียวกันอย่างเฮมิงเวย์)
เรื่องของเขานั้นจะอ่านให้ง่าย อ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวก็ได้ แต่ก็ด้วยสำนวนอันมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง และ--พูดก็พูด สำนวนของฟิตซ์เจอรัลด์ไม่ได้เรียบง่ายเลย ดังนั้นงานของเขาในยุคนั้น (คือก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ) จึงจัดว่าเป็นงานประเภท 'ร่ำรวยรสนิยม' อย่างแท้จริง
แต่สุดท้ายแล้วเมื่อฟองสบู่อันงดงามนั้นแตกสลายไป ผู้คนก็ไม่หวนกลับไปอ่านเรื่องในแบบของเขาอีก
เมื่อพิจารณาการเลือกเรื่องทั้ง 3 ใน หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ การเลือกเรื่องในฉบับแปลภาษาไทยนี้ แต่ละเรื่องสั้นเสมือนตัวแทนในช่วงชีวิตต่างๆ ของฟิตซ์เจอรัลด์ และทำให้ผู้อ่านเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของนักเขียนผู้นี้อย่างแจ่มชัด ลำดับเรื่องเหล่านี้แสดงท่วงทำนองจากที่เต็มไปด้วยความฝัน ค่อยๆ หม่นลง หนักแน่นขึ้น และท้ายที่สุดก็ละทิ้งความเยาว์วัยในอดีตเสีย บอกเราโดยไม่มีเสียงถึงจังหวะชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ที่เปลี่ยนไป
นักอ่านในบ้านเรามักรู้จักฟิตซ์เจอรัลด์จาก The Great Gatsby ขณะที่รวมเรื่องสั้นอย่างเป็นทางการของฟิตซ์เจอรัลด์ ไม่ว่าจะเล่ม Flappers and Philosophers, Tales of the Jazz Age หรือ All the Sad Young Men ยังไม่มีการแปลฉบับเต็ม ส่วนเล่ม 'หวนคืนสู่บาบิลอนฯ' นี้มาจากรวมเรื่องสั้นปี 1960 ในชื่อ Babylon Revisited and Other Stories ซึ่งเป็นงานรวมเล่มหลังมรณกรรมของฟิตซ์เจอรัลด์ไปแล้ว
การนำรวมเรื่องสั้นของฟิตซ์เจอรัลด์มาแปลเป็นภาษาไทยครั้งนี้--แม้จะไม่ใช่เล่มที่รวมในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ก็ตาม--จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
ในเมื่อรวมเรื่องสั้นแต่ละเล่มมีเจตนาในตัวเอง และรวมเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมจะบอกทุกอย่างของผู้เขียนได้โดยไม่ต้องใช้อรรถาธิบายเพิ่มเติม หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ จึงเป็นการเลือกสรรอย่างประณีตเช่นนั้นเอง
จาก 'ปราสาทน้ำแข็ง' อันงดงาม ไปสู่ชีวิตที่แม้จะสมบูรณ์แบบแต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้าและผิดหวังใน 'ความฝันในฤดูหนาว' ที่ท้ายที่สุดเหลือแต่ความว่างเปล่าเยียบเย็น และสุดท้ายก็นำไปสู่การหวนระลึกถึงอดีตใน 'หวนคืนสู่บาบิลอน' คือลำดับที่เปรียบเสมือน 'ปราสาทแห่งชีวิต' ของตัวฟิตซ์เจอรัลด์เอง
ข้อที่น่าสังเกตคือ บางที ชาร์ลี เวลส์ ชายที่อยู่ในเรื่อง 'หวนคืนสู่บาบิลอน' ก็คือส่วนหนึ่งของตัวฟิตซ์เจอรัลด์ แต่จะผิดไปบ้างก็ตรงที่ ชาร์ลี เวลส์ ไม่คิดอยากย้อนกลับไปยังอาณาจักรบาปที่ตนเคยละลายเงินเป็นว่าเล่นจนชีวิตต้องพินาศ
ส่วนฟิตซ์เจอรัลด์ แม้เขาอาจอยากหวนคืน แต่ ณ เวลานั้นก็ไม่มีบาบิลอนใดๆ ให้เขากลับไปอีกแล้ว
==============================
บทความเผยแพร่ครั้งแรกชื่อ ปราสาทแห่งชีวิตของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ใน “หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ” ในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set ครบชุดวรรณกรรมในวงเล็บ
ราคาสุดพิเศษ!!
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563