Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 3063 จำนวนผู้เข้าชม |
พบกับที่สุดของความเป็นศิลปิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ในรูปแบบของอาหารฝรั่งเศสชั้นเลิศ ที่สร้างความรื่นรมย์และยกระดับจิตใจผู้เสพ พร้อมไปกับการได้แง้มดูประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของยุโรปในช่วงต่างๆ ทั้งในแง่ศาสนา การเมือง และการปกครอง ที่ส่งผลและเป็นมรดกตกทอดถึงมนุษยชาติในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องราวของ อุดมการณ์ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทาน และอหังการของศิลปิน
ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) คือนามปากกาที่ใช้ในการประพันธ์บทประพันธ์ที่เป็นภาษาอังกฤษของ คาเร็น บลิกเซ็น (Karen Blixen) เธอเกิดที่ประเทศเดนมาร์กในปี 1885 ในตระกูลไดนีเสนที่ร่ำรวย พอถึงปี 1914 เธอได้แต่งงานกับ บารอน บรอร์ บลิกเซ็น ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง จึงทำให้เธอได้ยศเป็นบารอนเนสตามสามีไปด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งเธอและสามี ก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริติช อีสท์ แอฟริกา เพื่อทำไร่กาแฟ ครั้นพอถึงปี 1921 บารอนเนส บลิกเซ็น ตัดสินใจหย่าขาดกับสามี แต่ยังคงทำไร่กาแฟต่ออีก 10 ปี จนกระทั่งเกิดวิกฤติการล่มสลายของตลาดกาแฟ เธอจึงต้องจำใจขายกิจการและทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อกลับประเทศเดนมาร์กในปี 1931 และที่ประเทศเดนมาร์กนี้เอง ที่ คาเรน บลิกเซ็น ได้เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง
คาเรน บลิกเซน จะประพันธ์งานเขียนของเธอเป็นภาษาอังกฤษ (แล้วจึงค่อยแปลกลับมาเป็นภาษาแดนนิชอีกครั้ง) โดยใช้นามปากกาว่า ไอแซค ไดนีเสน หนังสือเล่มแรกของเธอที่มีชื่อว่า Seven Gothic Tales นั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง ตามติดมาด้วย Out of Africa, The Angelic Avengers (ซึ่งเขียนภายใต้นามปากกาว่า Pierre Andrézel), Writer’s Tales, Last Tales, Anecdotes of Destiny (ที่มีเรื่อง Babette’s Feast รวมอยู่ด้วย), Shadows on the Grass, และ Ehrengard
ผลงานของ คาเรน บลิกเซ็น ทุกเรื่องล้วนแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการอันกว้างไกลไร้ขอบเขตของเธอทั้งสิ้น ซึ่งจัดว่าเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเธออย่างหาใครเทียบได้ยาก งานเขียนของเธอ มักอยู่ในรูปของเรื่องเล่าในรูปแบบของเรื่องสั้นที่มักดึงเอาบางส่วนของนิยายปรัมปรา หรือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ยุโรปมาผูกเป็นเรื่องราวเสมอ และมักใช้ธีมที่หม่นมืดของยุคโกธิคมาสร้างเป็นพล็อต เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาความหมายในแง่ของปรัชญา และศีลธรรมจรรยาที่ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของเธอเอง ที่ต้องการให้ผู้อ่านงานเขียนของเธอ ขบคิด ค้นหา และตีความนัยยะที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าแบบนิยายปรัมปราของเธอทุกเรื่อง เรียกได้ว่า งานเขียนของเธอทั้งเอื้อและกระตุ้นให้เกิดการตีความได้อย่างมากมาย และต่อเนื่องไม่รู้จบ ถือเป็นเสน่ห์ที่ท้าทายนักอ่านของเธอตลอดมา และเรื่องสั้นของเธอ ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นงานระดับมาสเตอร์อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดชีวิตของ คาเรน บลิกเซ็น เธอมีโอกาสเป็นตัวเต็งในการที่จะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีอันต้องพลาดไป จน เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ถึงกับออกปากว่า ตัวเธอนั้นเหมาะสมที่จะได้รางวัลนี้มากกว่าเขาเสียอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1962 (จากบันทึกของรางวัลโนเบลที่ได้รับการเปิดเผยหลังเวลาผ่านไป 50 ปี) ปีนั้นเธอติดชอร์ตลิสต์ของนักเขียนที่มีสิทธิได้รับรางวัลนี้ แต่ก็ต้องพลาดไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากเธอเสียชีวิตไปก่อน ผู้ที่ได้รับรางวัลเลยกลายเป็น จอห์น สไตน์เบ็ค ไป
งานเขียนของเธอล้วนได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก ทั้งจากบรรดานักอ่านทั่วไป และนักเขียนด้วยกันเอง นักเขียนที่ชื่นชมและได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของเธอมากคือ ทรูแมน คาโพที นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานเรื่อง In Cold Blood และ Breakfast at Tiffanay’s อันแสนโด่งดังนั่นเอง และด้วยบุคลิกท่าทาง รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และผลงานที่โดดเด่นของเธอ ทำให้ คาเรน บลิกเซ็น ได้รับการกล่าวขานให้เป็น ไอคอนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 คนหนึ่งเลยทีเดียว โดยรัฐบาลประเทศเดนมาร์กได้นำรูปภาพของเธอมาพิมพ์บนธนบัตร 50 โครนของเดนมาร์ก และแสตมป์ของเดนมาร์กถึง 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย Asteroid 3318 Blixen เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีของเธออีก และแม้แต่กูเกิลเอง ก็ฉลองวันเกิดครบรอบ 125 ปีให้เธอด้วย Google Doodle ในวันที่ 17 เมษายน 2010
คาเรน บลิกเซ็น เสียชีวิตในปี 1962 ที่คฤหาสน์ของครอบครัวในเมือง Rungsted ประเทศเดนมาร์ก โดยร่างของเธอถูกฝังไว้ที่นั่น ที่ต่อมา ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ Karen Blixen ให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อศึกษางานเขียน และเรียนรู้ตัวตนของเธอ โดยมีไฮไลต์คือห้อง Ewald ที่เธอใช้เขียนหนังสือเป็นส่วนใหญ่ กับสวนด้านนอกที่ประกอบไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้หลากหลายพันธุ์ที่ได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่อย่างดี โดยเน้นให้เห็นถึงแนวคิดด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพที่เธอโปรดปราน
กล่าวสำหรับเรื่อง Babette’s Feast เรื่องนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1987 โดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ชื่อ เกเบรียล แอกเซล (Gabriel Axel) และได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย โดยมี คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ผู้ล่วงลับ แห่งห้องเสื้อชาเนล เป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าของบาเบตต์ในเรื่อง ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกอีกด้วย เป็นภาพยนตร์ที่พระองค์ทรงแนะนำให้ทุกคนดู โดยมีบันทึกไว้ในเอกสารของวาติกันอย่างเป็นทางการ (นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก และเรื่องเดียวที่ได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารของวาติกัน) Babette’s Feast จัดเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับอาหารที่สร้างความประทับใจ และอยู่ในใจของคนทั่วโลกอย่างไม่มีวันลืมเลือน
=================
บทความโดย รสวรรณ พึ่งสุจริต ผู้แปล งานเลี้ยงของบาเบตต์
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
สั่งซื้อล่วงหน้าครบชุด 8 เล่มใหม่ เพียง 1,590 จากราคาเต็ม 1,700 บาท
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งจองยกชุด คลิก https://bit.ly/3alEWMu
หนังสือเสร็จพร้อมจัดส่ง วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 หรือหากเสร็จก่อนจะจัดส่งทันที สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน
==================
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set 16 เล่ม ครบชุดวรรณกรรมในวงเล็บ
ราคาสุดพิเศษ!!
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564