อันโตนิโอ กรัมชี่ | Antonio Gramsci กับการยุติสภาวะที่เป็นรอง

Last updated: 22 ม.ค. 2564  |  5346 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อันโตนิโอ กรัมชี่ | Antonio Gramsci กับการยุติสภาวะที่เป็นรอง

ในหนังสือ อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง: ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์ (Gramsci and Political Installation: Philosophy of Praxis, Social Transformation, and Human Emancipation) ได้พูดถึง แนวคิดเรื่องกลุ่มคนผู้มีสถานะรอง ว่าเป็นหนึ่งในแนวคิดแกนกลางที่สำคัญในการทำความเข้าใจปรัชญาปฏิบัติของกรัมชี่ ที่มีเป้าหมายในการจัดวางความคิดเรื่องการปลดแอกมนุษย์ออกจากโครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม

กล่าวคือ เป็นการจัดวางความคิดใหม่เกี่ยวกับกลุ่มผู้มีสถานะรองและสภาวะที่เป็นรอง โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขบคิดต่อว่า เราจะจัดวางความคิดกันใหม่ได้อย่างไรบ้าง เพื่อยุติสภาวะที่เป็นรองที่ดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยมแบบปัจจุบันลง ซึ่งประเด็นเรื่องความพยายามในการยุติสภาวะที่เป็นรองเป็นประเด็นที่สอดแทรกเป็น 'ประเด็นใจกลาง' อยู่ในบันทึกนับไม่ถ้วนของกรัมชี่ทั่วทั้งสมุดบันทึกจากคุก

ในมุมมองของกรัมชี่ สภาวะที่เป็นรองจะสามารถยุติลงได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มผู้มีสถานะรองไขว่คว้ามาซึ่งอำนาจในการตัดสินใจและปกครองตัวเองได้ (Autonomy) ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการทางสังคม/การเมืองที่หลากหลาย และผ่านการต่อสู้อย่างซับซ้อนนับไม่ถ้วน

ต่อประเด็นนี้ กรัมชี่ได้เน้นย้ำไว้ใน 'สมุดบันทึกจากคุกเล่มที่ 25 ในหัวข้อที่ 5 (Q25§5)' ซึ่งได้กล่าวถึงมุมมองเรื่องการยุติสภาวะที่เป็นรองเอาไว้ว่า หากกลุ่มผู้มีสถานะรองต้องการจะหยุดสภาวะ/สภาพเงื่อนไขที่เป็นรองได้นั้น พวกเขาต้องกลายมาเป็นฝ่ายอำนาจรัฐ (State) เสียเอง ในแง่นี้ ผู้มีสถานะรองต้องลดทอน กด หรือกำจัดกลุ่มพลังที่มีอำนาจอยู่เดิม และต้องครอบครองความยินยอมพร้อมใจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับให้เกิดขึ้นเหนือมวลชน

กรัมชี่เสนอว่า หากเราศึกษากลุ่มพลังที่ก้าวหน้าว่าจะสามารถพัฒนาจากการเป็นผู้มีสถานะรองไปสู่การเป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำ (Dominant groups) ในสังคม/การเมือง ได้หรือไม่นั้น ต้องทำความเข้าใจและระบุเงื่อนไข 2 ประการที่สำคัญให้ได้ ได้แก่

1. การทำความเข้าใจอำนาจในการปกครองตัวเอง โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้มีสถานะรองและกลุ่มพลังที่ต้องการก้าวข้าม และ 2. การสนับสนุนจากกลุ่มก้อนต่างๆ ในสังคมทั้งที่เปิดเผยและที่เฉื่อยชา

กระบวนการทั้งสองข้อนี้เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นเสียก่อน การรวมเป็นปึกแผ่นในรูปแบบของอำนาจรัฐจึงจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของบุตติกิช (Joseph Buttigieg) เสนอว่า ในการจะจัดวางความคิดใหม่เพื่อให้การต่อสู้ทางการเมืองล้มโครงสร้างอำนาจเดิมลงให้สำเร็จนั้น จำเป็นต้อง ประการแรก ทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดกลุ่มผู้ครองอำนาจนำจึงมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจ เนื่องจากกลุ่มผู้มีอำนาจนำนั้นถือทั้งในส่วนของอำนาจรัฐ และกลไกในการควบคุมในเชิงวัฒนธรรมและความคิด การทำงานของกลไกอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้จัดวางความคิดและการมองโลกให้กับผู้คนอย่างแข็งขัน ดังนั้นบุตติกิชจึงเสนอว่า เราต้องมองให้ออกว่าชนชั้นนำมีกลไกการครองอำนาจแบบใดอยู่บ้าง และการทำงานของกลไกเหล่านั้นเป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้การต่อสู้เพื่อล้มอำนาจนำเป็นไปได้อย่างเหมาะสม

ประการที่สอง การต่อสู้เพื่อรื้อถอนการกำกับและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้เกิดสภาวะที่เป็นรองนั้น จำเป็นต้องต่อสู้โดยตรงที่พื้นที่เชิงอุดมการณ์ ดังนั้นบุตติกิชเสนอว่า กลยุทธ์การต่อสู้ของผู้มีสถานะรองนั้นไม่ใช่การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ หรือการได้มาซึ่งที่นั่งในทางการเมือง แต่เป็นการทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด (War of position) เพื่อจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ในพื้นที่ของประชาสังคม (Civil society)

ทางด้านกรัมชี่เสนอว่า สิ่งที่ต้องปลูกสร้างขึ้นให้ได้เหนือความคิดของมวลชนสถานะรองก็คือ ความรู้สึกที่อยากแยก/ก้าวให้พ้นจากสภาวะรอง (Spirit of cleavage) การจัดวางความรู้เรื่องการก้าวพ้นสถานะที่เป็นรองต้องขยายขอบวงจากชนชั้นที่มีบทบาทนำอย่างชนชั้นกรรมาชีพไปสู่การสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้นในวงกว้าง

อย่างไรก็ดี กรัมชี่เสนออีกว่า การปฏิวัติเพื่อก้าวข้ามสภาวะที่เป็นรองนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง โดย/และไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพราะเป็นดอกผลของวิกฤติทางการเมืองหรือวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างเป็นกลไกแต่อย่างใด แต่การปฏิวัติเป็นสิ่งที่ต้องถูกจัดวางความคิด และเตรียมพร้อมไว้ก่อนโดยตัวแสดงผู้เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความตระหนักรู้ในเรื่องคุณค่าและทำงานหนักในด้านการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และเป็นตัวแสดงที่สามารถจัดการ ถ่ายทอด หรือส่งต่อความคิด เพื่อจัดวางให้ผู้อื่นได้ (Inculcate)

หากสร้างตัวแสดงทางการเมืองที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ โอกาสในการสร้างระเบียบทางสังคม/การเมืองใหม่ย่อมเป็นไปได้


==============================

อ่านบทความเกี่ยวกับกรัมชี่และผู้มีสถานะรอง ใน Gramsci กับความหมายของ ‘ผู้มีสถานะรอง’

หรือ อ่านทั้งหมดได้ใน อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง

อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง:
ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์
(Gramsci and Political Installation: Philosophy of Praxis, Social Transformation, and Human Emancipation)

วัชรพล พุทธรักษา : เขียน
กาญจนา แก้วเทพ, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คำนิยม

ความหนา : 192 หน้า
ISBN 978-616-7196-85-5

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้