Last updated: 24 ธ.ค. 2563 | 3035 จำนวนผู้เข้าชม |
(ต่อจากตอนที่แล้ว คลิกอ่าน ตอนที่ 1)
เรามักคิดอยู่เสมอว่าเรารู้ตัว ว่าขณะใช้บริการเหล่านี้จะถูกดักเก็บข้อมูลบางอย่างไปบ้าง แต่ความจริงเราถูกขูดรีดข้อมูลต่างๆ มากมายมหาศาลเกินกว่าที่เราคาดคิด เรานิยมใช้เฟสบุ๊คเพื่อวางแผนกิจกรรมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ซึ่งเฟสบุ๊คไม่สนใจว่าคุณจะระบุรายละเอียดของกิจกรรมอะไรลงไป มันสนใจแค่ข้อมูลในช่อง ”ช่วงเวลา”และ “สถานที่นัดหมาย” ของคุณเท่านั้น
จีเมล์เปิดทดลองให้บริการในค.ศ. 2004 มอบความจุและความสามารถในการเชื่อมต่อมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับมีการค้นพบภายหลังว่าข้อมูลในอีเมล์ของผู้ใช้งาน ถูกสแกน เพื่อนำไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลสำหรับการผลิตโฆษณา ปัจจุบันคีเวิร์ดที่ปะปนในประโยคซึ่งเราป้อนลงในอินเตอร์เน็ตจะถูกดักจับเพื่อวิเคราะห์เป็นลักษณะบุคลิกภาพ 5 อย่าง (Five personality traits ) ซึ่งสามารถทำนายรสนิยม ความสนใจทางเพศ หรือกระทั่งทัศนคติทางการเมืองของเราได้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกดักเก็บเฉพาะตอนใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้ขณะที่เราปิดแอปหรือเบราว์เซอร์แล้ว มันยังสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่า เราอยู่ที่ไหน โทรศัพท์มือถือมีแอป รวมทั้งสามารถดึงข้อมูลในรายชื่อผู้ติดต่อ อีเมล์ กระทั่งกล้องและไมโครโฟน
เป้าหมายของทุนนิยมตรวจตราจึงไม่ใช่การใช้ข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อการโจรกรรมทางไซเบอร์ แต่เป็นการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ในระดับใหญ่จากการวิเคราะห์ข้อมูลในข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อผลกำไรสูงสุด
การคุกคามของทุนนิยมตรวจตรามิได้จำกัดเพียงพฤติกรรมทางการตลาดเท่านั้น มันสามารถควบคุมได้กระทั่งทัศนคติทางการเมืองด้วย เคธี่ โอนีล (Cathy O'Neil ) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือ Weapons of Math Destruction ระบุว่า โซเชียลมีเดียและเสิร์ชเอนจินผลิตอัลกอริทึมที่โน้มน้าวการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งได้ถึง 20% เธอยกตัวอย่างความสำเร็จของบารัค โอบามาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ค.ศ. 2012 โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น ทีมวิเคราะห์ข้อมูลของโอบามาสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 1000 ราย และสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อค้นหาประชาชนที่มีข้อมูลสอดคล้องกับโมเดลดังกล่าว แล้วส่งข้อความชวนเชื่อให้กลุ่มประชาชนที่มีข้อมูลสอดคล้องกับโมเดล
ซูบอฟฟ์ ยกตัวอย่างการคุกคามในอนาคตจากทุนนิยมตรวจตราที่อาจร่วมมือกับรัฐผ่านทางการสอดส่องพฤติกรรมผ่านกล้องCCTV ซึ่งติดตั้งไว้ทั่วเมืองใหญ่ (และใช้งานได้จริง ในประเทศพัฒนาแล้ว) รัฐได้รับสิทธิถูกต้องตามกฎหมายที่จะบันทึกภาพใบหน้าของเราเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในสังคม ทว่าในอนาคต หากนายทุนนิยมตรวจตราสามารถเข้าถึงข้อมูลใบหน้าของเราได้ ก็ย่อมจะวิเคราะห์ท่าทางของเราเพื่อทำนายอารมณ์และความรู้สึกของเราได้
จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เขียน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984)
ภัยคุกคามจากระบอบเผด็จการในศตวรรษที่ 21 จึงมิใช่เพียงอำนาจทางการเมืองของรัฐเผด็จการเท่านั้น และความไม่เท่าเทียมกันจะไม่ได้จำกัดเพียงในระดับเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นเช่นในศตวรรษที่ 20 อีกต่อไป ทศวรรษ 2020 นี้ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลจะกลายเป็นต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำและการคุกคามเสรีภาพในทุกมิติ ด้วยวิธีการที่แนบเนียน ไร้รูปร่าง และไร้ความเจ็บปวด
แตกต่างจากอำนาจการลงทัณฑ์ของพี่เบิ้มใน 1984 ทุกวันนี้เรายังปลอบใจตัวเองเสมอว่าถึงจะถูกจำกัดเสรีภาพทางการเมือง แต่เรายังมีเสรีภาพในการเลือกในมิติอื่น ทว่าตัวเลือกที่เราค้นหาผ่านทางอินเทอร์เน็ต แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากเจตจำนงเสรีของเราเอง แต่กลับเกิดจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดลออจากคลังข้อมูลของ ‘บิ๊กอาเธอร์’ ที่ขูดรีดไปจากร่างกายของพวกเราในระบบทุนนิยมตรวจตรานั่นเอง
แล้วปัจเจกชนอย่างเราจะต่อต้าน ‘บิ๊กอาเธอร์’ อย่างไร
คำตอบ...คงเป็นไปได้ยากเสียแล้วในปัจจุบันที่เราจะยอมสละสมาร์ทโฟน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดมือถือที่ทำได้แทบทุกอย่าง เพื่อปกป้องเราให้รอดพ้นจากการคุกคามของ Big other? หรือนี่คือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อแลกกับการมีชีวิตในศตวรรษที่ 21
ซูบอฟฟ์ ได้เสนอว่า ทางออกหนึ่งในขณะนี้คือการออกกฎหมายเพื่อความคุมการใช้งานข้อมูลของเหล่านายทุนนิยมตรวจตราเหล่านี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมในตะวันตกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ขณะญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีการวิจารณ์ถึงการคุกคามจากกลุ่มทุนดิจิทอลกันมากขึ้นแล้ว ในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างของรัฐที่กลายเป็นบิ๊กอาเธอร์เสียเองอย่างจีนก็มีเห็นแล้วในปัจจุบัน
...แล้วประเทศไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์จะเลือกทางใด ประชาชนจะนิ่งเฉยต่อการขูดรีดแบบใหม่ (และรวมถึงแบบเดิมๆ ที่เดาทางได้) แห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไปอีกหรือไม่
กฤตพล วิภาวีกุล ผุ้เขียน
นักศึกษาปริญญาเอก Graduate School of Asia-Pacific Studies, Waseda University
=====
คลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี
ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก
=====
รายการอ้างอิง
- Shoshana Zuboff (2019) The Age of Surveillance CapitalismShoshana Zuboff on 'surveillance capitalism' and how tech companies are always watching us (https://www.youtube.com/watch?v=QL4bz3QXWEo)
- Cathy O’Neil Weapons of Math Destruction Summary and ReviewTime The Surveillance Threat Is Not What Orwell Image (time.com/5602363/george-orwell-1984-anniversary-surveillance-capitalism)
ขอขอบคุณ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ผู้แนะนำหนังสือ The Age of Surveillance Capitalism
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564