Last updated: 19 ก.ย. 2565 | 13248 จำนวนผู้เข้าชม |
ถึงแม้คำว่า ‘รัฐประหาร’ จะมีการใช้กันมาเป็นเวลาตั้งสามร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ว่ากันจริงๆ แล้ว การทำรัฐประหารนั้นเป็นไปได้จริงก็เมื่อเร็วๆ นี้นี่เอง
กล่าวคือ การที่รัฐต่างๆ ได้พัฒนาเป็นรัฐสมัยใหม่ มีระบบข้าราชการอาชีพและกองทหารประจำการ อำนาจของรัฐสมัยใหม่นั้นขึ้นอยู่กับสององค์กรนี้และถ้าหากรัฐต้องการ ก็สามารถควบคุมองค์กรอื่นๆ หรือประชาชน โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรดังกล่าว เช่น แฟ้มประวัติ เครื่องดักฟัง สายลับตำรวจลับ และข้าราชการซึ่งทำหน้าที่ตามที่รัฐบาลต้องการ เพราะข้าราชการที่ดีจะต้องปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐบาลเสมอไป
ดังนั้นประเทศเผด็จการก็คือประเทศที่รัฐบาลใช้องค์กรทั้งสอง และเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรทั้งสองมากขึ้น หรือใช้ไปในทางที่ผิดกับประเทศซึ่งมีรัฐบาลบริหารงานภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ผลของการพัฒนารัฐให้เป็นรัฐสมัยใหม่ เป็นเหตุทำให้การทำรัฐประหารง่ายขึ้น กล่าวคือ รัฐสมัยใหม่นั้นมักมีการแยกแยะอำนาจสายงานระหว่างผู้นำทางการเมืองและข้าราชการประจำ ระบบข้าราชการประจำและองค์กรของข้าราชการประจำนั้นมีสายการสั่งงานที่แน่นอนจากจุดสูงสุดลงมาถึงต่ำสุด และรัฐสมัยใหม่นั้น คำนิยามอำนาจหน้าที่ของข้าราชการซึ่งเป็นข้าของรัฐอย่างหนึ่ง กับคำนิยามของข้าราชการซึ่งเป็นผู้รับใช้ผู้เถลิงอำนาจ (คือเป็นคนใช้ของเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองประเทศโดยตรง) มักจะมีความหมายผิดกัน และถือเป็นคำนิยามที่ยังใหม่อยู่
จุดมุ่งหมายของผู้ทำรัฐประหารก็คือแยกองค์กรของรัฐสององค์กรใหญ่ (ข้าราชการและกองทัพ) ออกจากกลุ่มหรือผู้บริหารประเทศ
ความสำคัญของคำนิยามใหม่นี้มีอยู่ว่า ถ้าหากข้าราชการเป็นคนรับใช้ของกษัตริย์อย่างในสมัยโบราณหรือในประเทศที่มีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว การยึดอำนาจที่จะมีก็คงเป็นไปในแบบ ‘การปฏิวัติภายในวัง’ ซึ่งก็มักเป็นเรื่องของการเชิดกษัตริย์ โดยฝ่ายที่ทำรัฐประหารจะบังคับให้กษัตริย์ยอมรับนโยบายใหม่หรือองคมนตรีชุดใหม่ หรือว่าผู้ทำรัฐประหารนั้นอาจเป็นผู้ที่เข้าจับกุมหรือทำการปลงพระชนม์กษัตริย์เสียก็ได้ อย่างไรก็ตาม การยึดอำนาจพระราชวังเช่นว่านี้ จะต้องทำมาจาก ‘ข้างใน’ คือทำกันอย่างเงียบๆ ในวัง เฉพาะในวงการเมืองของวังและโดยพวกข้าราชการในวังเองเท่านั้นเช่น สมัยกรุงโรมหรือสมัยราชวงศ์จีนที่ทำการยึดอำนาจวังโดยเก็บจักรพรรดิ และแต่งตั้งโอรสของจักรพรรดิ ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ยึดอำนาจขึ้นมาแทน
ส่วนการทำรัฐประหารนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นประชาธิปไตยกว่า กล่าวคือ ทำจากนอกวัง มิต้องทำจาก ‘ข้างใน’ จุดมุ่งหมายของผู้ทำรัฐประหารก็คือแยกองค์กรของรัฐสององค์กรใหญ่ (ข้าราชการและกองทัพ) ออกจากกลุ่มหรือผู้บริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารมักค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าหากในกลุ่มผู้นำทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์ เช่น เป็นพี่น้อง หรือมีพันธะกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรทั้งสองที่จะต้องแยกตัวออกมาเพื่อทำให้การทำรัฐประหารเป็นผลสำเร็จอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างจีนโบราณ ในสมัยราชวงศ์แมนจูได้ทำตามวัฒนธรรมของจีนทุกอย่าง คือใช้ข้าราชการที่เป็นคนจีนทุกระดับ แต่ขณะเดียวกัน ตำแหน่งที่สำคัญของรัฐ เช่นตำแหน่งทางศาลและกองทัพ ราชวงศ์แมนจูกลับเอาลูกหลานเชื้อสายแมนจูซึ่งเข้ามาตีจีนตั้งแต่เริ่มแรก เข้ามากินตำแหน่งดังกล่าวโดยไม่ใช้คนจีน เช่นเดียวกับในระบบเผด็จการที่เอาคนของตนไปกินตำแหน่งงานราชการที่สำคัญ
ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงให้ผู้เผด็จการมีความมั่นใจว่า นโยบายของผู้เผด็จการนั้น ได้มีการนำไปใช้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่า เมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้ มีคนของรัฐบาลไปกินตำแหน่งสำคัญๆ ทั่วประเทศ บุคคลเหล่านั้นเป็นคนที่ผู้นำรัฐบาลไทยไว้ใจเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ผิดกับประเทศคอมมิวนิสต์ที่ใช้สมาชิกของพรรคเป็นผู้กินตำแหน่งสำคัญๆ ทางการบริหารเช่นกัน
นอกจากผู้นำทางการเมืองจะมีความสัมพันธ์ดังกล่าวกับคนในองค์กรนี้แล้ว เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ของผู้นำทางการเมืองกับองค์กรดังกล่าวอาจจะมีขึ้นในรูปชนชั้นเดียวกันก็ได้ แต่ถึงกระนั้น ถ้าหากจะคิดทำรัฐประหาร ก็ยังมีทางที่ผู้คิดทำรัฐประหารนั้นจะแทรกแซงความสัมพันธ์นั้นๆ เข้าไปในองค์กรดังกล่าวได้ เพราะว่าองค์กรข้าราชการนั้นใหญ่โตมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของระบบข้าราชการ จึงต้องมีการแบ่งงานออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีสายอำนาจในการสั่งงานเป็นลักษณะของตนเองออกไป โดยการปฏิบัติงานนั้นมีกฎเกณฑ์ตายตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตาม
มือตีนของรัฐนั้นก็เหมือนเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติงานเป็นไปโดยอัตโนมัติและคาดว่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ได้เองเมื่อเดินเครื่อง
ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งมา เจ้าหน้าที่ก็จะปฏิบัติตามถ้าหากคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งมาจากแหล่งที่ถูกต้องและเดินมาตามสายงานตามระเบียบ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ วิธีการทำงาน และระเบียบการปฏิบัติงานก็ยิ่งเถรตรงกว่าหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เหตุนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว มือตีนของรัฐนั้นก็เหมือนเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติงานเป็นไปโดยอัตโนมัติและคาดว่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ได้เองเมื่อเดินเครื่อง
การทำรัฐประหารเกิดขึ้นโดยการฉวยโอกาสอันนี้ กล่าวคือ ใช้การปฏิบัติงานตามระเบียบราชการขององค์กรที่เป็นมือเป็นตีนของรัฐ การยึดอำนาจจึงหมายถึงการยึดจักรกลของรัฐ โดยผู้ยึดอำนาจจะใช้จักรกลบางส่วนของเครื่องจักรนั่นเอง เราจะเห็นได้ว่าบางรัฐนั้น เครื่องจักรของรัฐเป็นเครื่องจักรชนิดดี กล่าวคือ ระบบและองค์กรราชการของรัฐอาจไม่ยอมทำตามคำสั่งหรือการสั่งงานถ้าหากงานนั้นเป็นงานที่เครื่องจักรเห็นว่า ‘ไม่ถูกต้อง’ ในรัฐเช่นนี้ใครที่คิดทำรัฐประหารก็มีหวังพังง่ายๆ บางรัฐที่ระบบราชการและองค์กรของรัฐเล็กกระจิริด และตัวข้าราชการมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับผู้นำทางการเมือง การทำรัฐประหารก็เป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับการทำรัฐประหารในประเทศที่มีการพัฒนาเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางการเมืองของข้าราชการในระดับที่สูง แต่เราโชคดีที่ว่า รัฐโดยทั่วไปในโลกนี้ เป็นรัฐที่มีองค์กรข้าราชการค่อนข้างใหญ่ และไม่ค่อยมีการพัฒนาทางด้านความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างแท้จริงนัก ดังนั้นจึงเป็นรัฐที่เหมาะแก่การยึดอำนาจมาก
บางรัฐนั้น เครื่องจักรของรัฐเป็นเครื่องจักรชนิดดี กล่าวคือ ระบบและองค์กรราชการของรัฐอาจไม่ยอมทำตามคำสั่งหรือการสั่งงานถ้าหากงานนั้นเป็นงานที่เครื่องจักรเห็นว่า ‘ไม่ถูกต้อง’
==============================
ข้อความทั้งหมดนี้มาจากหนังสือ คู่มือรัฐประหาร
สั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2ZaBlMa
คู่มือรัฐประหาร
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ : เขียน
สุชาติ สวัสดิ์ศรี : บทกล่าวนำ
ไชยันต์ รัชชกูล : บทกล่าวนำ
พิมพ์ครั้งที่สอง : มีนาคม 2556
ความหนา : 152 หน้า
ISBN: 978-616-7196-18-3
┉ ┈ ┉
หรือหากสนใจยกชุด งานวิชาการว่าด้วยวิวัฒนาการของการเมืองทั้งไทยและเทศ ไปจนถึงคอนเซ็ปต์ว่าด้วยการรัฐประหาร
คลิกสั่งซื้อ Set เรียนรู้การเมืองไทย
ราคาพิเศษ!!!
==============================
บทความที่คุณน่าจะชอบ
/ เผด็จการในคราบนักมายากล: การตบตาและสะกดจิต 'ประชาชน' /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /
==============================
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564