ฮิปปี้ บุปผาชน วรรณกรรมยุคบีท | จุดกำเนิดเสรีภาพของหนุ่มสาว

Last updated: 16 ธ.ค. 2564  |  14844 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฮิปปี้ บุปผาชน วรรณกรรมยุคบีท | จุดกำเนิดเสรีภาพของหนุ่มสาว

รู้จัก ‘วรรณกรรมยุคบีท’ จุดกำเนิดของเหล่าบุปผาชน วรรณกรรมบีทคืออะไร ทำไมต้องบีท

  • ปรากฏการณ์บีท การเริ่มต้นศักราชของวรรณกรรมสมัยใหม่ที่แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของอเมริกันชนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
  • เมื่อคนหนุ่มสาวต้องการแสดงออก ที่ทางของการแสดงออกที่ดีที่สุดก็คือ 'การเขียน'
  • วรรณกรรมบีท การรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมแบบเก่าลง และประกอบวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของตัวเองขึ้นมาใหม่


บ่อยครั้งที่การเกิดขึ้นของแนวทางวรรณกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ส่งต่ออุดมการณ์สู่สังคมจนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกันกับ วรรณกรรมในยุคบีท ที่กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่หล่อหลอมแนวคิดของ กลุ่มบุปผาชนหรือฮิปปี้ ในสังคมอเมริกัน

ในวันนี้ สนพ.สมมติจะขอพาผู้อ่านย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ของอเมริกา เพื่อทำความรู้จักกับยุคสมัยที่เรียกว่า 'Beat Generation' หรือ 'ยุคบีท' อันเป็นห้วงเวลาที่กลุ่มความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรม ‘มีอิทธิพลและสร้างสีสันตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์วรรณกรรมสากล’

จุดเริ่มต้นของยุคบีท กล่าวกันว่าน่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายของทศวรรษที่ 40 เมื่อ แจ็ค เคอรูแว็ค, อัลเลน กินสเบิร์ก, วิลเลี่ยม เบอร์โรห์ส, นีล คาสซาดี้ และ เกรเกอรี่ คอร์โซ รวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานที่โดดเด่นแปลกใหม่ทั้งในแง่ของเนื้อหาและวิธีคิดออกมาอย่างต่อเนื่อง

พวกเขาเริ่มต้นนับหนึ่งให้กับปรากฏการณ์บีทที่ซานฟรานซิสโก ด้วยการรวมตัวกับกลุ่มนักเขียนและกวีในกลุ่มฟื้นฟูศิลปะวิทยาแห่งซานฟรานซิสโก (San Francisco Renaissance) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 จากนั้นจึงตะลอนไปทั่วทุกภูมิภาค จนทำให้การเคลื่อนไหวเริ่มแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว



เหล่านักเขียนผู้จุดประกายปรากฏการณ์บีทขึ้นในซานฟรานซิสโก
แจ็ค เคอรูแว็ค, อัลเลน กินสเบิร์ก, วิลเลียม เบอร์โรห์ส และนีล คาสซาดี้

เหล่าเยาวชนผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมและดนตรีในยุคบีท ออกมาเดินขบวนประท้วง
เพื่อต่อต้านโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น (1960)

 

เมื่อคนหนุ่มสาวต้องการแสดงออก ที่ทางของการแสดงออกที่ดีที่สุดก็คือ 'การเขียน'

ในเวลานั้น ปรากฏการณ์บีท ถูกมองว่าเป็นการเริ่มต้นศักราชของวรรณกรรมสมัยใหม่ที่แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของอเมริกันชนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวชาวอเมริกันรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ทัศนคติ และค่านิยมทางสังคม

พวกเขาได้รื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมแบบเก่าลง และประกอบวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของตัวเองขึ้นมาใหม่ ‘วรรณกรรมบีท’ ในยุคเริ่มแรกเริ่ม ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดังกล่าว



‘ความเป็นบีท’ คือความเป็นอิสระจากการใช้ชีวิตตามกรอบของสังคมอเมริกัน
ที่ผู้คนพร่ำบอกว่าเป็นความสุขสูงสุดในชีวิต

 

“การ ‘อ่าน’ วรรณกรรมจากยุคบีท เสมือนการทำความเข้าใจกลไกหลีกหนีความซ้ำซากในระเบียบวิธีคิดเก่าๆ โดยเฉพาะอุดมคติแบบมนุษยนิยม (humanism) การยกย่องความมีเหตุผล ระบบคุณค่าและศีลธรรม”

งานวรรณกรรมของ กลุ่มบีทนิก (Beatnik) [ฉายาของกลุ่มนักนักเขียนบีท] ไม่ว่าจะเป็น On the Road ของเคอรูแว็ค, Howl ของกินสเบิร์ก หรือ Naked Lunch ของเบอร์โรห์ส ล้วนเป็นวรรณกรรมที่มีแนวทางและลีลาการเขียนที่ ‘แหกคอก’ ไปจากขนบของวรรณกรรมร่วมสมัย

ด้วยสำนวนการเขียนที่เปิดเผยและซื่อสัตย์ ทำให้ผู้อ่านได้ซึบซับถึงความบริสุทธิ์ของภาษา แนวทางการประพันธ์บทกวีที่ไม่นำพาต่อจริตและฉันทลักษณ์อันเคร่งครัด

ความกล้าที่จะเขียนในสิ่งซึ่งไม่มีนักเขียนคนใดกล้าเขียน เช่น ฉากโป๊เปลือย การใส่ถ้อยคำหยาบคายระคายหูลงไปในบทสนทนา รวมถึงการผสมปนเปเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เข้ากับปัญหาใหญ่ของสังคม ทำให้วรรณกรรมยุคบีทมีเอกลักษณ์และสะท้อนตัวตนของผู้เขียนออกมาได้อย่างไม่เหมือนใคร

นอกจากลีลาของภาษาแล้ว เนื้อหาและรูปแบบของบทกวีหรือนวนิยายในยุคบีทยังมีความแตกต่าง หลุดจากกรอบเดิมๆ เพราะถือเป็นยุคแรกๆ ที่นักเขียนหยิบเอาประเด็นปัญหาของสังคมออกมาสร้างสรรค์ผลงาน ตั้งคำถามต่อโครงสร้างสังคมอเมริกันในยุคนั้นที่สนใจแต่การผลิต บริโภค และทำงาน หันมาพูดถึง ‘อิสรภาพและความเป็นปัจเจก’ มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดประกายให้เกิดเหล่าบุปผาชนหรือที่เรียกกันว่า ‘ฮิปปี้’

อัลเลน กินสเบิร์ก ขณะอ่าน ‘หอน’ (Howl)
กวีนิพนธ์เลื่องชื่อในยุคบีทต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ณ Washington Square Park ในปี 1966




On the Road  ผลงานจากปลายปากกาของ Jack Kerouac
วรรณกรรมที่เป็นดั่งต้นธารของผลงานในยุคบีท




ไมเคิล แมคเคลอร์, บ็อบ ดีแลน และ อัลเลน กินสเบิร์ก
ขณะไปสังสรรค์ด้วยกันหลังคอนเสิร์ตของดีแลนในปี 1965
บ็อบ ดีแลน เป็นศิลปินที่รู้จักและสนิทสนมกับนักเขียนในยุคบีทหลายคน
การเป็นนักอ่านวรรณกรรมบีททำให้ผลงานดนตรีของเขาเองมีกลิ่นอาย ‘ความเป็นบีท’ อยู่มาก

 

'รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนไทยคนสำคัญ ผู้คลุกคลีกับขบวนการบุปผาชนและได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมยุคบีทมาอย่างเต็มเปี่ยมเคยกล่าวไว้ว่า “วรรณกรรมในยุคบีทได้สร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันให้คนจำนวนมากออกท่องเที่ยว...” พลังของยุคบีทจึงไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าของวงการวรรณกรรม หากยังส่งผลต่อวิธีคิดและการใช้ชีวิตของคนอีกเป็นจำนวนมากทั่วโลก รวมทั้งบทกวีและนวนิยายในยุคบีทยังถือเป็นต้นธารของงานเขียนประเภทต่อต้าน ท้าทายต่อกรขนบของสังคม ที่ยังทรงอิทธิพลจวบจนปัจจุบัน! 

 

อ่านเพิ่มเติมประเด็นอันหลากหลายเกี่ยวกับ Beat Generation ที่น่าสนใจ เช่น

  • ว่าด้วยเรื่องราวและรากเหง้าของวรรณกรรมในยุค Beat
  • แนะนำนักเขียนบีท ใน ใครเป็นใครในวรรณกรรมบีท
  • เก้าเล่มที่คุณต้องอ่าน สำหรับทางลัดสู่วรรณกรรมบีท
  • บทสัมภาษณ์ Beat on, Beat in, Beat out ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
  • บทความ Naked Lunch: วิลเลี่ยม เอส. เบอร์โรห์ส กับสังคมแห่งการควบคุ
  • ตามหาวรรณกรรมบีทที่ร้านหนังสือ The Lost Bookshop


ได้ใน วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 11



คลิกสั่งซื้อ Set วารสารหนังสือใต้ดิน เล่ม 11-14 ในราคาสุดพิเศษ   

คลิกสั่งซื้อครบ Set วารสารหนังสือใต้ดิน ในราคาสุดพิเศษ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้