Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 2885 จำนวนผู้เข้าชม |
บางส่วนจาก บทกล่าวตาม โดย เวียง - วชิระ บัวสนธ์
ในเล่ม เรื่องเล่าชาววิกล ผลงานของโคตรนักเขียนอเมริกัน เชอร์วูด แอนเดอร์สัน (Sherwood Anderson)
==========
นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ถ้าเรายังไม่ได้อ่านงานของ 'เชอร์วูด แอนเดอร์สัน' เพราะนี่คือผลงานของโคตรนักเขียนอเมริกัน
บรรดาตัวละครในผลงานชุดนี้ของ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน นอกจากจะมีความเจ็บไข้จำหลักอยู่ในจิตใจในระดับแตกต่างกัน มันยังส่งผลสืบเนื่องมาถึงการจัดวางที่ทางเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันของแต่ละคนทั้งแบบที่เลือกไม่ได้และไม่รู้ตัว หากท้ายที่สุดแล้ว ก็ล้วนถูกความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาห่อห่มชีวิตไว้คล้ายๆ กัน
มากคนไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ บางรายจัดตัวเองเป็นผู้มีความสุข แต่ไม่วายใคร่ลิ้มลองรสชาติแห่งความไม่สบายใจดูบ้าง
ภาพรวมใน เรื่องเล่าชาววิกล จึงไม่เพียงเปิดเปลือยสภาวะจิตใจอันเป็นผลมาแต่เดิมจากเหตุหนึ่งเหตุใดของใครต่อใครในเมืองไวน์สเบิร์กเท่านั้น หาก เชอร์วูด แอนเดอร์สัน ยังพยายามสื่อให้เห็นด้วยว่า ปมปัญหา จากครั้งก่อนเก่าเหล่านี้นี่เองที่ทอดเงาทะมึนมาสร้างกรอบกรงแห่งการดำรงอยู่ในปัจจุบันของแต่ละคน
พร้อมกันนั้นก็ส่งผลต่อการผลิตพฤติกรรมของเขาคนนั้นในสถานการณ์แห่งชีวิตแต่ละครั้งแต่ละเรื่องโดยไม่รู้ตัว ราวจะบอกว่า มนุษย์เราล้วนถูกชักใยด้วยเงื้อมมือแห่งอดีตอันเลวร้ายอย่างเลี่ยงไม่พ้น ไม่ต้องเอ่ยว่าผู้คนส่วนใหญ่ต่างไม่เท่าทันกับสภาวการณ์ดังกล่าว
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่อาจละเลยข้อเท็จจริงในแง่ที่ว่า เชอร์วูด แอนเดอร์สัน หาได้ทำตัวเป็นทนายแก้ต่างให้แก่ข้อผิดพลาดบกพร่องของผู้หนึ่งผู้ใดจนน่าเห็นใจไปหมด หรือโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้อ่านยอมยกโทษไปเสียทุกเรื่อง เขาเพียงแต่เลือกเปิดผ้าแผลในใจของบุคคลผู้นั้นออกทีละชั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปพินิจพิเคราะห์กันเอาเองด้วยวิจารณญาณส่วนตัว
การจัดวางน้ำเสียงเยี่ยงนี้ นอกจากจะให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ผู้อ่านแล้ว ยังเพิ่มมิติความลึกให้กับตัวละครจนดูมีชีวิตจิตใจขึ้นจริงๆ ขณะเดียวกันก็แฝงทัศนคติในการมองชีวิตของนักเขียนเอาไว้อีกชั้นหนึ่งด้วยว่า
ก่อนที่เราจะพิพากษาหรือวินิจฉัยการกระทำของใคร ไม่สมควรเด็ดขาดที่จะก้าวข้ามขั้นตอนแห่งการพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ว่ามีเบื้องลึกปมหลังฝังใจต่อการผลิตพฤติกรรมในสถานการณ์หนึ่งๆ ของใครคนนั้นด้วยหรือไม่อย่างไร
อันที่จริงงานเขียนของ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน ชุดนี้ ว่ากันตามตรงก็ยากจำแนกแยกแยะได้เด็ดขาดตายตัว ว่าควรถือเป็นรวมเรื่องสั้นหรือนวนิยาย กระทั่งเรื่องชุด เพราะแต่ละเรื่องต่างก็มีประเด็นเป็นเอกเทศตามขนบเรื่องสั้นทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีโครงใหญ่ในส่วนของฉากสถานที่กำกับเอาไว้อีกชั้นแบบนวนิยาย
‘เรื่องเล่าชาววิกล’ เป็นผลงานอันน่าสรรเสริญในส่วนที่พยายามสำรวจตรวจสอบลึกลงไปยังภูมิประเทศด้านในแห่งจิตใจมนุษย์ เพื่อฉุดรั้งให้คนเรารู้จักเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น โกรธกันน้อยลง
หากแต่องค์ประกอบทั้งปวงที่หน่วงเหนี่ยวเกี่ยวโยงไปกระตุกเตือนให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างท่องไปในเมืองไวน์สเบิร์กภายใต้การนำทางของมัคคุเทศก์ซึ่งเปี่ยมด้วยวุฒิภาวะอย่าง เชอร์วูด แอนเดอร์สัน จนถึงขั้นต้องหันมาทบทวนถามไถ่ตัวเองในทำนองที่ว่า
บางทีเราอาจเป็นหนึ่งในชาวไวน์สเบิร์กด้วยเหมือนกัน...นั่นไม่ถือเป็นฝีมือระดับเทพของ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรให้ใกล้เคียงได้อีกแล้ว!
คลิกสั่งซื้อ เรื่องเล่าชาววิกล (Winesburg, Ohio)
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563