อะไรทำให้เราเป็น 'มนุษย์เศรษฐกิจ'?

Last updated: 7 ส.ค. 2567  |  153 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อะไรทำให้เราเป็น 'มนุษย์เศรษฐกิจ'?

❝ กรอบความคิดอรรถประโยชน์เป็นกรอบความคิดที่สำคัญสำหรับการขยายตัวของการค้าและระบบทุนนิยม มนุษย์เศรษฐกิจ (homo economicus) ต้องแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด การลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุดคือต้นแบบ ❞

▪️...ความรู้จากตัวอักษรไม่ได้เป็นความรู้ที่มาจากสายสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอีกต่อไป ความรู้ของคนพื้นเมืองเป็นความรู้ที่มาจากธรรมชาติ แผ่นดิน สภาพแวดล้อมที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ชีวิตแบบคนพื้นเมืองจึงไม่มีการแบ่งตนเองออกจากสิ่งแวดล้อม ไม่มีการแยกระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ วิถีชีวิตคือวิถีความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตมีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยสัมพันธ์ผ่านผัสสะ (senses) ทุกรูปแบบ

▪️ ชีวิตที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่าที่จะดำรงตนอยู่อย่างปัจเจกชนที่มีพื้นที่ส่วนตัว (private space) ที่จะไม่ยอมให้อะไรอื่นย่างกรายเข้ามารุกล้ำ สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่แวดล้อมอยู่นั้นไม่ได้ดำเนินไปด้วยสายสัมพันธ์เชิงอรรถประโยชน์ สำหรับ ไอลตัน เครนัก (Ailton Krenak) แล้ว ‘ชีวิตไม่ใช่เรื่องของประโยชน์ใช้สอย’ (Life is not useful)

▪️ กรอบความคิดอรรถประโยชน์เป็นกรอบความคิดที่สำคัญสำหรับการขยายตัวของการค้าและระบบทุนนิยม มนุษย์เศรษฐกิจ (homo economicus) ต้องแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด การลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุดคือต้นแบบ มนุษย์ที่รู้จักการใช้จ่ายให้น้อยที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุดจึงถือเป็นวิถีที่ปฏิบัติตามต้นแบบดังกล่าว

▪️ แต่สำหรับกรอบคิดแบบคนพื้นเมืองชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องคิดแต่เรื่องประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ เส้นทางพัฒนาการของระบบทุนนิยมทำให้คนพื้นเมืองกลายเป็นคนที่ยังไม่สามารถเป็นหน่วยของการผลิตแบบทุนนิยมได้อย่างเต็มที่ การปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และความเข้าใจให้สอดคล้องกับ ‘สภาวะสมัยใหม่/อาณานิคม/ทุนนิยม’ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น

▪️ เมื่อการสร้างมนุษย์เศรษฐกิจ (homo economicus) ที่มีลักษณะเหมือนกันเพื่อสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น การสร้างความเป็นเอกพันธุ์ (homogenization) ให้กับผู้คนผ่านความเป็นพลเมือง (citizenship) ก็ยังเป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐประชาชาติ ความหลากหลายของคนพื้นเมืองในลาตินอเมริกาถูกจัดระเบียบให้เป็นพวกเดียวกัน จากเชื้อชาติสีผิว (race) มาสู่กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic) แม้แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป เช่น ในโบลิเวียมีอยู่ 36 กลุ่ม โดยเป็นเคชชัว (Quechua) ประมาณ 31% ไอมารา 25% และกลุ่มอื่นๆ (เช่น Guaraní Chiquitano)

▪️ การสร้างความเป็นเอกพันธุ์ของรัฐประชาชาติคือการทำลายชาติพันธุ์ หลังวิถีทางแห่งการทำลายล้างของรัฐประชาชาติ เส้นทางของพัฒนาการตามแนวทางของคนพื้นเมืองที่หลากหลายมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

▪️ กรอบความคิด vivir bein (good life) หรือ ‘ชีวิตที่ดี’ ได้กลายมาเป็นนโยบายสำคัญในครึ่งหลังของทศวรรษ 2000 เพื่อทดแทนแนวทางการพัฒนาเพื่อไปสู่ทุนนิยมแบบสังคมแอตแลนติกเหนือ โดยพัฒนาการเพื่อ ‘ชีวิตที่ดี’ ดำเนินไปตามโลกทัศน์และความรู้แบบคนพื้นเมืองมากกว่าที่จะเดินตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ความรู้แบบสังคมแอตแลนติกเหนือ

▪️ ความรู้พื้นเมืองเป็นทางเลือกเพื่อเปิดทางให้กับการถอดถอนระเบียบอำนาจอาณานิคม โดยทางเลือกที่คนพื้นเมืองต้องการนั้นคือ หลีกเลี่ยงการขูดรีดทางเศรษฐกิจ...

บางส่วนจากในเล่ม ว่าด้วยการถอดถอนระเบียบอำนาจแบบอาณานิคม (On Decolonaility)  
โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

▪️▪️▪️ บอกได้เลยว่าเข้มข้นถึงจุดเดือด เปิดมุมมองที่ซุกอยู่ใต้พรม เนื้อหาแน่นมากถึง 440 หน้า! 'ต้นตอ' ของบางสิ่งที่ดูเหมือนเป็น 'เรื่องปกติ' นั้นอาจมาจากสิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้! จักรวรรดิ . อำนาจ . ความไม่เท่าเทียม . ชนชั้น . การขูดรีด etc.




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้