เสรีภาพคืออะไร? ชวนอ่านความคิดของแบร์กซอน (Henri Bergson) นักคิดฝรั่งเศส

Last updated: 4 ต.ค. 2566  |  1209 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เสรีภาพคืออะไร? ชวนอ่านความคิดของแบร์กซอน (Henri Bergson) นักคิดฝรั่งเศส

"เสรีภาพที่แท้จริงมิใช่เสรีภาพที่ถูกจำกัด..." สำหรับคุณ 'เสรีภาพ' คืออะไร? เพียงแค่ได้ 'เลือกเอง' ถือว่ามีเสรีภาพหรือไม่

ชวนอ่านความคิดของ อองรี แบร์กซอน (Henri Bergson) นักคิดฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 20


แนวคิดเรื่องเสรีภาพ โดยทั่วไปคนเรามักเข้าใจว่าเสรีภาพคือการมีสิทธิเลือกระหว่างของสองสิ่ง

 แบร์กซอนเห็นว่าเสรีภาพเช่นนี้ก็ยังคงเป็นวิธีคิดแบบพื้นที่ กล่าวคือ มองเห็นเสรีภาพเป็นถนนสี่แยกและก็ให้เลือกว่าจะเดินไปทางใด แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วเสรีภาพแบบสี่แยกนี้มิใช่เสรีภาพที่แท้จริงเพราะมีตัวเลือกกำหนดให้ล่วงหน้า

เสรีภาพที่แท้จริงในทัศนะของแบร์กซอนมิใช่เสรีภาพที่ถูกจำกัดด้วยตัวเลือก หากเป็นเสรีภาพที่เปิดกว้าง เนื่องจากผู้ใช้เสรีภาพนั้นตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นเอง มิได้เลือกเอาจากตัวเลือกที่มีมาก่อน ถือเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง แบร์กซอนจึงเรียกว่า ‘เสรีภาพเชิงสร้างสรรค์’ (la liberté créatrice) ซึ่งแสดงตัวตนของผู้ใช้เสรีภาพอย่างแท้จริง (la liberté du moi entier)

ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานเป็นตัวอย่างของการใช้เสรีภาพเชิงสร้างสรรค์ สิ่งที่ศิลปินใส่ลงบนผลงานนั้นมาจากตัวตนเบื้องลึกที่สุด ศิลปินจะอยู่ในสภาพสังคมเช่นใด จะมีสภาพจิตใจเช่นใด ก็มิอาจบังคับให้ศิลปินต้องสร้างงานออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง งานศิลปะลอยอยู่เหนือปัจจัยเหล่านั้น เพราะออกมาจากตัวศิลปินแต่ถ่ายเดียว จึงแสดงเสรีภาพแห่งตัวตนอย่างแท้จริง
..,

ศีลธรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แบร์กซอนสนใจศึกษา แบร์กซอนแบ่งศีลธรรมออกเป็นศีลธรรมแบบปิด (la morale close) กับ ศีลธรรมแบบเปิด (la morale ouverte)

‘ศีลธรรมแบบปิด’ คือกฎระเบียบต่างๆ อันมีหน้าที่เอื้อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้ ศีลธรรมแบบปิดมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม สังคมหนึ่งมีศีลธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่สังคมหนึ่งตัดสินว่าผิดอาจมิใช่เช่นนั้นในอีกสังคมหนึ่ง ดังนั้น ศีลธรรมแบบปิดจึงก่อให้เกิดสังคมแบบปิด (la société close) ซึ่งมีกฎเกณฑ์ประจำกลุ่มของตน ศาสนาในสังคมแบบปิดก็เป็นแบบสถิต (la religion statique) ตามความหมายของแบร์กซอนหมายถึง ศาสนาซึ่งทำหน้าที่ผลิตเรื่องเล่าและตำนานต่างๆ (la fonction fabulatrice) เพื่อให้คนในสังคมยอมรับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ ตัวอย่างเช่นคริสต์ศาสนามีตำนานเรื่องบาปกำเนิด ทำให้คริสต์ศาสนิกชนทำใจยอมรับได้ว่าเหตุใดตนจึงต้องทนทุกข์ในโลกนี้

ในทางตรงกันข้าม ‘ศีลธรรมแบบเปิด’ มิใช่กฎเกณฑ์เฉพาะสังคมใดสังคมหนึ่งดังเช่นศีลธรรมแบบปิด หากแต่เป็นศีลธรรมแบบแผนเดียวกันซึ่งมนุษย์ในทุกสังคมและในทุกยุคสมัยมีอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การมีศีลธรรมแบบเปิดทำให้มนุษยชาติไม่จำกัดตัวอยู่แต่ในสังคมของตนในลักษณะของสังคมปิด หากเป็นสังคมเปิด (la société ouverte) อันมีศีลธรรมสากลเป็นสรณะ และศาสนาก็เป็นแบบพลวัต (la religion dynamique) ซึ่งทุกคนเข้าถึงพระเป็นเจ้าผู้เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งได้โดยสหัชญาณ

..,

บางส่วนจากบท 'ความคิดฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 20'

ในเล่ม แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์
ประวัติความคิดฝรั่งเศส จากศตวรรษแห่งเสรีภาพสู่การล่มสลายของมนุษยนิยม
(l’Histoire de la pensée française)

พิริยะดิศ มานิตย์ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการสำนักพิมพ์
สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร : บรรณาธิการเล่ม
DESIGN | ● สมมติ STUDIO ● | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม

พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2566
[ ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในชื่อ 'ประวัติความคิดฝรั่งเศส']
ความหนา : 352 หน้า
ราคาปก : 380 บาท
ISBN : 978-616-562-053-6

สั่งซื้อหนังสือ คลิก




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้