Last updated: 6 พ.ค. 2566 | 1113 จำนวนผู้เข้าชม |
นอกจากปัญหาความยุติธรรม ปัญหาสำคัญอีกอย่างของรัฐไทยสมัยใหม่คือ สร้างความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก และจิตสำนึกให้ผู้คนในสังคมแบบเดียวกันไม่ได้อีกต่อไป
การอ้างแนวคิดสากลอย่างศีลธรรม (ในทางศาสนา) และอำนาจบารมี (charismatic power) ของสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 จากการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ อารมณ์ต่อความจริง รวมถึงอำนาจของชุมชนศีลธรรมและความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคนไทย
รวมทั้งการที่การเมืองแบบศีลธรรมไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริงของชีวิต ความต้องการ คุณค่า และความปรารถนาใหม่ของผู้คนในทางการเมืองและเศรษฐกิจได้อีก
สอดคล้องกับแนวคิดของ เอมีล ดูร์กายม์ (Emile Durkheim) เรื่องชุมชนศีลธรรม (moral community) ที่ว่า ศีลธรรมในศาสนาไม่อาจกลายมาเป็น ‘ความจริงทางสังคม’ และ ‘สร้างความเข้าใจหรือความเชื่อร่วมกัน’ ที่นำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวทางสังคม
ขณะที่ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองได้ตั้งอยู่ในมายาคติของชุมชนศีลธรรมที่เป็นผลจากการครอบงำความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อในบารมีส่วนบุคคลของผู้นำ และอารมณ์ความรู้สึกผูกพันต่อบุคคลที่มีบารมี
อย่างที่ ชาร์ลส์ ลินด์โฮล์ม (Charles Lindholm, 1990) กล่าวว่า บารมีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ตามกับผู้นำเชิงบารมี
เช่นเดียวกับ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber, 1978) ที่มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเชิงบารมีและผู้ตามเกิดจากความเชื่อของผู้ตามและความรู้สึกผูกพันต่อบุคคลที่มีบารมี จากการมีประสบการณ์เฉพาะในบริบททางวัฒนธรรม
หมายความว่า มนุษย์มีแรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์และความเชื่อที่แตกต่างกันโดยบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละสังคม ดังนั้น ชุมชนเชิงบารมีจึงไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันโดยความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน
ความเชื่อในอำนาจความชอบธรรมเชิงบารมีเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล (irrational) และขึ้นอยู่กับความเชื่อและอารมณ์ส่วนบุคคล อำนาจเชิงบารมีมาจากคุณลักษณะที่ไม่ปกติหรืออำนาจพิเศษยกเว้นเฉพาะของบุคคลเชิงบารมี
ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ แหล่งที่มาของอำนาจความชอบธรรม เนื่องจากบารมีขึ้นอยู่กับลักษณะส่วนบุคคลของผู้นำเชิงบารมี ความเชื่อและอารมณ์ของผู้ตามที่มีต่อบุคคลเชิงบารมี ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมของการตัดสินเชิงศีลธรรมไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อและรู้สึกในแบบเดียวกันได้
ขณะที่ความเชื่อในอำนาจความชอบธรรมตัดสินไม่ได้ว่าอะไรผิดหรือถูกในสังคม ความชอบธรรมเป็นเรื่องของการตัดสินเชิงคุณค่า ความเชื่อ และอารมณ์ของผู้คน
และในความเป็นจริงสังคมมีความหลากหลายของความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกที่มาจากภูมิหลังประสบการณ์และบริบทของผู้คน ‘ความชอบธรรมและอำนาจทางการเมือง’ จึงอ้างศีลธรรมในฐานะบรรทัดฐานของความถูกต้องและการตัดสินทางกฎหมายไม่ได้
เพราะศีลธรรมเองก็อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ศรัทธา คุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความสมเหตุสมผลต่อการรองรับความชอบธรรมในบริบทแบบเสรีนิยม ที่ผู้คนต่างต้องการสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความยุติธรรม
กระนั้น รัฐและสังคมไทยยังใช้ ‘ความเชื่อและอารมณ์ในทางศีลธรรม’ และ ‘อำนาจเชิงบารมี’ สร้างความชอบธรรมให้ระเบียบทางสังคมและการเมือง และใช้เป็นบรรทัดฐานความถูกต้อง กดทับความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ อารมณ์ และคุณค่าทางศีลธรรมอื่นในสังคม
อย่างชุมชนศีลธรรมที่เกิดขึ้นจากการสร้างความเชื่ออำนาจบารมีในฐานะส่วนหนึ่งของระเบียบทางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง ได้ส่งผลให้ความเชื่อในอำนาจเชิงบารมีไม่ใช่เรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล แต่กลายมาเป็นโครงสร้าง จารีต และรูปแบบทางวัฒนธรรมถาวร
รวมทั้งเป็นอุปนิสัยใจคอ (disposition) ของคนไทย อันเกิดจากกระบวนการสร้างความเป็นสถาบันและการแสดงบารมีให้เป็นกิจวัตรประจำวัน (the processes of routinization and institutionalization of charisma)
ในฐานะคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำและผู้มีอำนาจแบบไทย และเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาระเบียบทางสังคมและการเมือง ที่ส่งผลให้การเมืองไทยไม่สามารถแยกออกจากความเชื่อบารมีทางศาสนาที่นำไปสู่อำนาจเหลือล้นของผู้มีอำนาจนำ
โดยในกระบวนการนี้ สถาบัน องค์กร และระบบรัฐราชการไทยได้สนับสนุนการครอบงำของอำนาจเชิงบารมีในกระบวนการสร้างความเป็นสถาบันและการแสดงบารมีให้เป็นกิจวัตรประจำวัน มากกว่าการส่งเสริมอำนาจในทางเหตุผลและกฎหมายมาโดยตลอด
..,
บางส่วนจาก บทที่ 5 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564