Last updated: 3 เม.ย 2566 | 1510 จำนวนผู้เข้าชม |
แนวคิดเรื่องการปกครองโดย ‘คนดี’ ได้ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งโดย พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีที่เป็นชนชั้นนำคนสำคัญในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ซึ่งนิยามคนดีว่าหมายถึงคนที่ดำเนินตามรอยพระราชดำริของในหลวง รู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และประพฤติตนสอดคล้องกับหลักศีลธรรมในศาสนา
แนวคิดเรื่องคนดีและตอบแทนบุญคุณแผ่นดินยังได้รับการส่งเสริมในฐานะที่เป็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของคนไทย โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 วาทกรรมคนดีได้สร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีในช่วงการรัฐประหาร พ.ศ.2549
โดยพลเอกเปรมกล่าวยกย่องพลเอกสุรยุทธ์ว่า “เป็นคนดีและทุ่มเทเสียสละเพื่อประเทศและงาน” และได้กล่าวว่า “หากคนไทยต้องการรัฐบาลที่ดี ก็ต้องส่งเสริมคนดีให้มาปกครองประเทศ”
การยกย่องชื่นชมคนดียังเป็นหนทางหนึ่งของการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งเป็นศีลธรรมที่คนไทยทุกคนควรยึดถือ
ความหมายของคนดียังได้รับการส่งเสริมเผยแพร่โดยสมาคมเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน พลตำรวจตรีอัมพร ภัยลี้ เป็นนายกสมาคมฯ และการสนับสนุนจากปัญญาชน รัฐบาล และกลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อเหลือง (รวมทั้ง กปปส.)
โดยสมาคมนี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2556 ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการคัดสรรคนดีและส่งเสริมคนไทยให้เป็นคนดี
นอกจากนี้คือการแต่งเพลงและทำมิวสิควิดีโอเพลง ‘เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน’ ขับร้องโดยวงคาราบาว ทั้งมีหนังสือ เอกสารเผยแพร่ และสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม เผยแพร่ และผลิตซ้ำแนวคิดกตัญญูต่อแผ่นดิน
ผลของการสร้างแนวคิดดังกล่าวอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างภาพของการคอร์รัปชั่นและนักการเมืองคอร์รัปชั่นในฐานะเป็นหายนะของชาติ และหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการส่งเสริมให้คนดีมาปกครองประเทศ
อีกทั้งแนวคิดเรื่องคนดียังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับมหาบุรุษหรือคนดีสูงสุดของชุมชนศีลธรรมไทย ที่มีกษัตริย์เป็นเสมือนภาพตัวแทนอยู่
นอกจากนี้ เอกสารวิชาการที่เผยแพร่โดยสถาบันพระปกเกล้าชื่อ หลักพระพุทธศาสนากับการส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตย (2549) โดยอภิชาติ ดำดี ซึ่งเป็นนักพูด นักจัดรายการชื่อดังของไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกระบี่ เคยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนและกลุ่ม กปปส.
โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารส่วนบุคคลดีเด่นของหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 8 โดยหนังสือเล่มนี้ อภิชาติอธิบายแนวคิดศีลธรรมในหลักคำสอนศาสนาพุทธกับแนวคิดเรื่องคนดีและประชาธิปไตย
โดยเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตประชาธิปไตยตามแนวพระพุทธศาสนาได้เน้นเรื่องการ ‘เป็นคนดี’ ตั้งแต่ในระดับปัจเจกบุคคลกระทั่งถึงผู้ปกครองรัฐ โดยยึดหลักคำสอนตามพระพุทธศาสนาในแต่ละระดับ
เช่น ระดับปัจเจกบุคคลก็ยึดหลักประพฤติตามอารยธรรม (กุศลกรรมบถ) ระดับผู้ปกครองรัฐยึดหลักทศพิธราชธรรม อันเป็นการนิยามความเป็นคนดีที่แตกต่างจากพลเอกเปรม เพราะเน้นที่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา มากกว่าวาทกรรมราชาชาตินิยม
ทั้งนี้ ในงานเขียนของอภิชาติได้กล่าวว่า พระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหลายประการ เช่น การให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล สิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความเสมอภาค การตัดสินปัญหาโดยใช้เสียงข้างมาก และการใช้กฎหมายในการปกครอง ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่นำไปปรับใช้ได้ดีกับวิถีการปกครองประชาธิปไตย
..,
บางส่วนจาก บทที่ 4 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563