เปิดหน้าการเกิดและขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ | ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

Last updated: 21 มี.ค. 2566  |  1156 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดหน้าการเกิดและขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ | ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 และการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 เป็นช่วงที่แทบไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาการละเมิดมาตรา 112 แต่ตอนพฤศจิกายน 2563 กลับมีคลื่นใหญ่อีกชนิดหนึ่ง

คลื่นการปราบปรามต่อผู้ที่กล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับการสะสมและใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเรียกร้องการปฏิรูป กลับมีการยัดข้อกล่าวหาอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2565 มีคนอย่างน้อย 225 คนที่โดนกล่าวหาเป็นคดีถึงศาล

ผู้นำการเคลื่อนไหวโดนกันคนละหลายคดี อย่างเช่น ทนายอานนท์โดน 14 คดี รุ้ง ปนัสยาโดน 10 คดี คนที่โดนคดีจำนวนมากที่สุดคือ  เพนกวิน - พริษฐ์  ชิวารักษ์  ที่โดน 23 คดี

เพื่อความชัดเจน ผู้เขียนขอย้ำว่าคดีทั้งหลายนี้มาจากการตั้งคำถามและเรียกร้องอย่างสงบ คนที่โดนคดีมักจะโดนการกักขังโดยปฏิเสธไม่ให้ประกันเวลาพักหนึ่งก่อนเริ่มพิจารณาคดี

ตอนที่ได้ประกันตัว อิสรภาพจะมาด้วยเงื่อนไขต่างๆ ประกอบด้วยการห้ามเข้าร่วมการชุมนุม ถูกติดกำไล EM มีเคอร์ฟิว ฯลฯ การจับและตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 มีมากขึ้นเรื่อยๆ

ประกอบกับการล้อมปราบการชุมนุมโดยทหารและตำรวจ ทำให้การชุมนุมและจำนวนคนที่ออกประท้วงลดลง การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนว่ากำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ กลายเป็นการต่อสู้ที่คงต้องใช้เวลาอีกนาน

ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นการตอบข้อเรียกร้องของทนายอานนท์ว่าต้องพูดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันอย่างตรงไปตรงมา ว่ามันต้องย้ายออกไปจากถนน การเคลื่อนไหวยังไม่ได้ยอมแพ้  แต่ผู้มีอำนาจไม่ยอมให้อยู่บนท้องถนนในปัจจุบันนี้

ตอนที่การต่อสู้ต้องออกจากถนน พื้นที่หนึ่งที่เราจะไปกันได้คือหน้าหนังสือ นี่คือสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่สำนักพิมพ์สมมติเลือกพิมพ์หนังสือ... โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย ชนิดา ชิตบัณฑิตย์

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2550 (มูลนิธิโครงการตำรา) หลังจากถูกแก้ไขปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พ.ศ.2547

ตอนที่เพิ่งเขียนใหม่ๆ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่สำคัญและน่าตื่นเต้น เพราะเป็นเล่มแรกที่เปิดหน้าให้เห็นการเกิดและขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์รัชกาลที่แล้ว ทั้งในเชิงอุดมการณ์และทรัพย์สินโดยผ่าน ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’

ยิ่งไปกว่านั้น ชนิดาไม่ใช่แค่รวบรวมข้อมูลใหม่เพื่อให้เห็นอำนาจนั้น แต่นับเป็นหนังสือที่ใช้เป็นต้นแบบสอนให้ผู้อื่นทำได้เช่นกัน หลังจากสิบห้าปีผ่านไป โดยเฉพาะหลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการปราบปรามที่เพิ่งเกิดขึ้น ความสำคัญและความหมายของหนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งเด่นและชัดเจนขึ้น
...
การที่สำนักพิมพ์สมมติจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยที่ประชาชนกำลังกลับมาเตรียมการต่อสู้ระลอกถัดไปนั้น มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นหนังสือที่ชวนให้ผู้อ่านทำงานต่อไปโดยการตั้งคำถามว่า ‘พระราชอำนาจ’ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิถีตั้งแต่ พ.ศ.2546 อย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ชนิดาทำวิจัยมีรัฐประหารสองครั้งในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557 ทั้งสองครั้งสาเหตุอันหนึ่งที่คณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนอ้างคือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการสวรรคตในรัชกาลที่ 9 และการขึ้นครองราชย์ในรัชกาลที่ 10

มีการทะลุเพดานของการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ และมีการปราบปรามอย่างอำมหิตต่อประชาชนที่กล้าถามคำถาม ในยุคสมัยนี้...

บางส่วนจาก คำนำ โดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
ในเล่ม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน

สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้