Last updated: 21 มี.ค. 2566 | 1534 จำนวนผู้เข้าชม |
การสำรวจสถานภาพการศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ผ่านมาพบว่า แม้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญ และเกี่ยวข้องกับราษฎรจำนวนมาก ทั้งงานเขียนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย
หากแต่งานศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเชิงวิเคราะห์ทางวิชาการยังคงมีจำนวนจำกัดและยังขาดแคลนงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึง ‘บทบาทของพระมหากษัตริย์’ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้กระทำ (active) ในการสถาปนาพระราชอำนาจนำ (Royal Hegemony) ทั้งในมิติการเมืองและมิติทางอุดมการณ์ผ่านรูปธรรมของปฏิบัติการทางอุดมการณ์ (Ideological Practice) ที่เรียกว่า ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’
งานศึกษานี้จึงเกิดขึ้นภายใต้ความพยายามในการสืบค้นให้เห็นถึงความเป็นมา บริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงื่อนไขการสถาปนาพระราชอำนาจนำ
เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดทั้งในเชิงโครงสร้างเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในกระบวนการสถาปนาพระราชอำนาจนำ รวมถึงสร้างนิยามความหมายใหม่ทั้งในระดับการศึกษาและการทำความเข้าใจ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ในสังคมไทย
หากพิจารณาจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ.2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ พระราชอำนาจและบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงมีจำกัด
เนื่องจากเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งบทบาทและพระราชอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อันเป็นปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างหลักในการดำเนินการสถาปนาพระราชอำนาจนำในสังคมไทย
ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปราศจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในการปกครองประเทศดังเช่นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทั้งยังทรงปราศจากสายสัมพันธ์กับระบบราชการอันเป็นกลไกในการขับเคลื่อนรัฐ
ขณะที่ปัจจุบัน บทบาทและพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรากฏอย่างเด่นชัด ทรงทำหน้าที่เป็นปัญญาชนทางการเมืองในฐานะผู้ให้การศึกษา (educator) ผู้จัดตั้งเชื่อมโยง (organizer) และผู้นำ (leader) ทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
รวมไปถึงแนวความคิดและวิถีทางในการพัฒนา ได้แก่ ทรงดำรงบทบาทเป็น ‘กษัตริย์นักพัฒนา’ ในการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภายใต้พระราชดำริ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งได้รับการขานรับจากหน่วยงานรัฐและกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง จนกลายมาเป็นแนวนโยบายการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน
คำถามที่ตามมาก็คือ การสถาปนาพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร มีกระบวนการและการดำเนินการภายใต้โครงสร้างอย่างไร ประกอบด้วยอุดมการณ์และปฏิบัติการทางอุดมการณ์อย่างไร มีกระบวนการสร้างกลุ่มทางประวัติศาสตร์อย่างไร เครือข่ายปัญญาชนประกอบด้วยกลุ่มใดและมีลักษณะอย่างไร
ทั้งนี้ การศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในฐานะที่เป็นทั้งรูปธรรมและขั้นตอนของการพัฒนาที่นำเสนอโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการไขไปสู่การทำความเข้าใจกระบวนการสถาปนาพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสังคมไทย
..,
บางส่วนจาก บทที่ 1
ในเล่ม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563