ประเพณีปฏิบัติ/ระเบียบแบบแผนในการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

Last updated: 21 มี.ค. 2566  |  3373 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประเพณีปฏิบัติ/ระเบียบแบบแผนในการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท

การเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นประเพณีนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2500 โดยเฉลี่ยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาในการแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดต่างๆ ราว 7-8 เดือนในแต่ละปี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ จากนั้นทรงใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามภูมิภาคเหล่านี้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโครงการพระราชดำริในช่วงที่สอง กล่าวได้ว่า ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) เนื่องจากแต่เดิมพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจเสด็จออกนอกพระราชวังเป็นระยะเวลานานเพราะปัจจัยทางการเมือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ขึ้นในพ.ศ.2502 เพื่อใช้เป็นที่รับรองราชอาคันตุกะ และเป็นที่ประทับขณะเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจในภาคเหนือ โปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์ปฏิบัติการของภาคใต้ตอนล่างเมื่อปี พ.ศ.2516 จากนั้นโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ที่ จ.สกลนคร  พ.ศ.2519  เป็นเสมือนศูนย์ปฏิบัติการภาคอีสาน

ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอย่างสม่ำเสมอในระยะแรก ยังไม่มีรูปแบบการดำเนินการที่ชัดเจน จะเห็นได้จากการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการสัมมนานักบริหารในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ‘รับเสด็จหัวเมือง’ ในปี พ.ศ.2507 เขียนโดย นายพ่วง สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเตรียมถวายการรับเสด็จ และเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่แทนกระทรวงมหาดไทยเพื่อถวายการอารักขาในการเสด็จพระราชดำเนินในขณะนั้น แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลของ ‘ข้าราชการหัวเมือง’ ขณะนั้น เนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินในระยะแรกนั้นยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของหน่วยงานราชการ

เนื้อหาของเอกสารแบ่งเป็นหัวข้อทั้งหมด 12 หัวข้อ ได้แก่
1. การรับเสด็จ ณ สถานที่ตามชนิดของพระราชพาหนะ
2. การถวายความอารักขา
3. การถวายพระแสงราชศัสตรา
4. การกราบบังคมทูล
5. การจัดสถานที่สำหรับทรงเยี่ยมเยียนราษฎร
6. การถวายสิ่งของ
7. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาและซุ้มรับเสด็จ
8. ที่ประทับชั่วคราว
9. พระกระยาหาร
10. การแต่งกายสตรี  
11. การถ่ายภาพ  
12. เบ็ดเตล็ด

ดังกล่าวมานี้ได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ว่า ประเพณีปฏิบัติหรือระเบียบแบบแผนในการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น รูปแบบการรับเสด็จ กิริยาที่พึงปฏิบัติต่อหน้าพระพักตร์ หรือการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็น ‘ประเพณีประดิษฐ์’ (Invented Tradition) ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีรูปแบบทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในการเสด็จพระราชดำเนินในปัจจุบัน
..,

บางส่วนจากเล่ม  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ :
การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : เขียน

สั่งซื้อหนังสือ คลิก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้