Last updated: 5 ก.ย. 2565 | 1676 จำนวนผู้เข้าชม |
การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงความตกต่ำและล้าหลังของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่สังคมไทยเคยดูถูกดูแคลนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคะแนนภาษาอังกฤษจากดัชนี English Proficiency Index Report ปี 2560 ที่ไทยอยู่อันดับ 53 ใกล้เคียงกับปากีสถานและกัวเตมาลา ส่วนกัมพูชาอยู่ที่ 77 ลาวอันดับที่ 80 ขณะที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 13 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 15 และมีรายงานจากสำนักงานจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ Education First (EF) ปี 2561 ไทยอยู่อันดับที่ 64 จาก 88 ประเทศทั่วโลก ได้ 48.54 จาก 100 คะแนน
ซึ่งไม่เพียงเรื่องภาษาในเวทีนานาชาติ ปัญหาของระบบการศึกษาไทยครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา สายอาชีพ และมหาวิทยาลัย รวมถึงปัญหาเรื่องการสนับสนุนการวิจัยและการศึกษา ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณมหาศาล แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ไปสู่เป้าหมาย
ระบบการศึกษาไทยเลี่ยงไม่พ้นกับการข้องเกี่ยวกับการเมืองและอำนาจรัฐ ความเปลี่ยนแปลงในห้วง 7 ทศวรรษ นับแต่รัฐประหาร 2490 ถึง 2562 ที่พบว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีรัฐประหารกว่า 10 ครั้ง นั่นคือ พ.ศ.2490, 2491, 2494, 2500, 2514, 2519, 2520, 2534, 2549 และ พ.ศ.2557 เฉลี่ยทุก 7 ปี ประเทศไทยมีรัฐประหาร 1 ครั้ง
ตั้งแต่ 2490 ถึง 2562 สังคมไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งมีกลไกการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน โดยการธำรงอำนาจของคณะรัฐประหารได้แสดงให้เห็นภาวะรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจน...
ปัญหาของการรัฐประหาร ไม่ใช่เพียงทำลายนิติรัฐและยึดอำนาจมาจากประชาชน ยังนำมาซึ่งนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ส่งผลให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอ่อนแอ ขณะที่นักวิชาการภาครัฐอาศัยช่วงเวลานี้ผลักดันนโยบายโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไปด้วย...
ช่วงเวลาสำคัญที่สะท้อนการรวมศูนย์อำนาจซึ่งส่งผลต่อการศึกษาคือ การครองอำนาจของคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2500 ถึงปี 2516 และช่วงปี 2557 ถึงปี 2562 แวดวงการศึกษาถูกกระชับอำนาจเพื่อแผนการใหญ่ และขับเคลื่อนประเทศโดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างฉันทามติทางการศึกษา และเพิ่มการใช้อำนาจควบคุมพลเมืองในระบบการศึกษาด้วยระเบียบวินัยบนเรือนร่างที่เข้มงวด การดำเนินการเช่นนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติแม้ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน
ด้านการปฏิรูป ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องด้วยการตั้งคำถามจากทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ว่าลักษณะเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจของการปฏิรูปเชื่อมโยงกับรัฐประเภทใด ยิ่งรัฐรวมศูนย์อำนาจ การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปยิ่งน้อยลงด้วย
นอกจากนั้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยมักถูกวิเคราะห์อย่างไม่รอบด้านและไม่สัมพันธ์กับแนวคิดกระจายอำนาจทางการเมืองและการศึกษา ส่งผลให้การแก้ไขกลายเป็นเรื่องปลายเหตุ ในขณะที่องค์กรที่ทำงานด้านความรู้ การสร้างความรู้ และการวิจัย ได้รวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลาง
อีกทั้งแวดวงนักวิชาการมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในทางกลับกัน หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม พวกเขากลับเลือกเพิกเฉย ไม่ได้แสดงท่าทีวิพากษ์อย่างที่ทำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง...
-- บางส่วนจาก บทนำ โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ในเล่ม เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
คลิกสั่งซื้อในราคาพิเศษ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ที๋โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมให้คุณเบิกเนตรและตาสว่าง
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564