Last updated: 19 ก.ย. 2565 | 1493 จำนวนผู้เข้าชม |
นวนิยาย Swastika Night โดย แคทธารีน เบอร์เดกิน (Katharine Burdekin) ถูกขนานนามว่าเป็นพี่น้องที่พลัดพรากของ 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ด้วยความพยายามของทั้งสองเล่มที่จะฉายภาพฝันร้ายและความน่าหวาดกลัวหากโลกถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่ Swastika Night แตกต่างออกไปจาก 1984 อย่างชัดเจนคือการเน้นย้ำความโหดร้ายในแง่ของเพศที่อาจเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และจากการเน้นย้ำนี้เอง Swastika Night จึงเป็นนวนิยาย dystopian ที่ปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchal Society) ที่กดขี่ทั้ง ‘เพศหญิง’ และ ‘การรักเพศเดียวกัน’
ในโลกสมมติของ Swastika Night ผู้หญิง (โดยเฉพาะชาวนาซี) ถูกควบคุมและกดขี่ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับให้อยู่อาศัยรวมกันในเขตพื้นที่หนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นกรงขังพวกเธออยู่ในนั้นไม่ให้ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระแบบผู้ชาย นอกจากนี้ พวกผู้หญิงชาวนาซียังถูกกีดกันจากความงาม เพราะพวกเธอถูกบังคับให้โกนหัวโล้นและสวมเสื้อผ้าที่สีดูสกปรก และที่แย่ยิ่งกว่านั้น สังคมนาซีไม่มองพวกเธอเป็น ‘มนุษย์’ แต่กลับมองพวกเธอเป็น ‘สัตว์’ ชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่เพียงสืบพันธุ์ให้กับมนุษย์เพศชายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภาพการถูกกดขี่แบบสุดโต่งเหล่านี้คือการกู่ตะโกนเพื่อทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความพังพินาศที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมที่ยังยึดมั่นในปิตาธิปไตยอย่างไม่ลืมหูลืมตา
นอกจากการเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีแล้ว Swastika Night ก็หยิบยกประเด็นความหลากหลายทางเพศขึ้นมาให้เห็นเช่นกัน ในสังคมที่ ‘ความเป็นชาย’ (Masculinity) ถูกเชิดชูบูชาอย่างงมงาย ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเพศชายบางครั้งก็เกินเลยไปมากกว่าการเป็นสหายหรือพี่น้อง กลิ่นอายของความหลากหลายทางเพศปรากฏตั้งแต่ย่อหน้าแรก ตัวอย่างเช่น ในฉากแรกสุดของเรื่อง แฮรมันน์ ชายหนุ่มผู้มีร่างกายกำยำเผยความหลงใหลในความงามของเด็กหนุ่มผมทองตาฟ้า แม้สังคมจะเชิดชู ‘ความเป็นชาย’ มากแค่ไหนหรือความความรู้สึกหลงใหลนั้นจะเอ่อล้นมากแค่ไหน แต่การรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่อง ‘ผิดศีลธรรม’ ในสังคมนาซีที่เคร่งคัด อาจพูดได้ว่า การถูกกดขี่ในสังคมนาซีไม่จำกัดอยู่กับเพียงแต่กับผู้หญิงเท่านั้น แต่ความรู้สึกและตัวตนของผู้ชายเองก็ไม่เคยถูกปล่อยให้เป็นอิสระเช่นเดียวกัน
แม้นวนิยายเรื่องนี้เสนอเพียงแค่สถานการณ์สมมติในอนาคต แต่ภาพสมมติที่น่าหวาดหวั่นเหล่านั้นเขย่าสติให้เราทบทวนต่อความไม่เป็นธรรมหลายรูปแบบในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเพศ จากภาพที่ผู้หญิงถูกกดขี่อย่างหนักและการรักเพศเดียวกันที่แสดงออกไม่ได้เลยแม้แต่น้อย จึงอาจมองได้ว่า Swastika Night เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิง แต่สนับสนุนความเท่าเทียมกันของทุกๆ เพศ
เรียบเรียงโดย นิธิวัฒน์ จอนลอย
==========
คลิกสั่งซื้อ Swastika Night
วรรณกรรมโลกสมมติลำดับที่ 10
แนะนำ Set วรรณกรรมโลกสมมติ
ราคาพิเศษ!!!
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564