วงจรชีวิตและความตายของพระเจ้า

Last updated: 5 ก.ค. 2565  |  1885 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วงจรชีวิตและความตายของพระเจ้า

โดยทั่วไปความคิดที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าคือความเป็นอมตะของพระองค์ สำหรับสถานะของพระเยซูก็ดูจะเป็นอมตะเพราะตายแล้วฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาใหม่ การฟื้นคืนชีพ (resurrection) นับเป็นรากฐานสำคัญของคริสต์ศาสนา เพราะถ้าไม่มีการฟื้นคืนชีพก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีคริสต์ศาสนา กรอบความคิดเรื่องการฟื้นคืนชีพดำเนินไปตามกรอบวงจรของการมีชีวิตและความตายของพระเจ้าในกรอบคิดเรื่องพระเจ้ามาเป็นพันปีก่อนที่พระเยซูเกิด แต่ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นคืนชีพหรือเป็นกรอบคิดเรื่องการไม่ตายของพระเจ้า ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าชีวิตไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พระเจ้าไม่ว่าจะตายและฟื้นคืนชีพ พระเจ้าก็ยังคงเป็นพระเจ้าพระองค์เดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พระเจ้ายังคงเป็นพระเจ้าไม่มีวันเป็นอะไรอื่นไปได้

สำหรับพระเจ้า ความตายไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุด เพราะสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้ การกลับมามีชีวิตหลังความตายทำให้พระเจ้ามีลักษณะเหมือนนกฟีนิกส์ (Phoenix) ที่ฟื้นคืนชีพได้ตลอดเวลา ความคิดเรื่องพระเจ้าตายเป็นความคิดโบราณที่ปรากฏให้เห็นในเมโสโปเตเมีย ขณะที่กรอบความคิดเรื่องการเกิดตายและฟื้นคืนชีพของพระเจ้าเป็นกรอบคิดที่นิยมกล่าวถึงกันมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยมี James Frazer เป็นหัวหอกสำคัญ การพิจารณาว่าพระเยซูที่เกิดตายและฟื้นคืนชีพนั้นเป็นชุดความคิดที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางอยู่แล้ว เช่น Adonis Orisis และ Tammuz เป็นต้น โดย Adonis ถือได้ว่าเป็นแบบสำคัญของการฟื้นคืนชีพ แต่ก็ยังเป็นคำถามเช่นเดียวกับเรื่องราวโบราณหลายพันปีมาแล้วก็คือ Adonis ฟื้นคืนชีพหรือเปล่า? เพราะมีข้อโต้แย้งว่าการฟื้นคืนชีพเป็นการสร้างของพวกชาวคริสต์ สำหรับ Adonis เป็นพระเจ้าจากบาบิโลน พระเจ้าองค์นี้เกี่ยวข้องกับการเกษตร การปลูกธัญพืชต่างๆ ด้วยการเดินทางของวัฒนธรรมและการส่งผ่านทางวัฒนธรรมทำให้ Adonis ไปมีความสัมพันธ์กับ Aphrodite ตลอดจนเทพท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก

กรอบความคิดแบบ Adonis ยังสัมพันธ์กับเทพเจ้าอย่าง Dumuzi หรือ Tammuz อันเป็นเทพเจ้าของบาบิโลนในด้านของการเกษตร สำหรับบาบิโลนก็มีพระเจ้าที่คุ้มครองเมืองคือ Marduk โดยมีเมียชื่อ Sarpanitum การสถาปนาให้ Marduk เป็นผู้คุ้มครองบาบิโลนเกิดขึ้นในราชวงศ์ Kassite ในช่วง 1,000-1,500 ปีก่อนคริสตกาล โดย Marduk มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ประมาณ 300 ปีก่อนคริสกาล หลังจากราชวงศ์ Kassite ล่มสลายไปเพราะถูกรุกรานจาก Elamite แล้ว Marduk ก็ถูกนำไปใช้ใน Elam หรือ Iran จนกระทั่งถึงช่วงระยะหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล

ทั้งนี้ Marduk จะเทียบเคียงได้กับ Jupiter พระเจ้า Marduk ทำสงครามสร้างชัยชนะให้กับความยิ่งใหญ่ของตนเองเฉกเช่นเดียวกับความยิ่งใหญ่ของบาบิโลน Marduk เอาชนะเทพเจ้าผู้หญิง Tiamat ผู้เป็นเจ้าแห่งมหาสมุทรและความวุ่นวาย หลังจากฆ่าเธอแล้ว Marduk ก็สร้างโลกจากร่างของ Tiamat พระเจ้าจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ที่ใดที่หนึ่ง พระเจ้าที่เดินทางไปที่ใหม่ก็อาจได้รับการเคารพยกย่องบูชามากกว่าถิ่นเดิม กรอบคิดของบาบิโลนนี้เข้ามามีอิทธิพลต่อดินแดนแถบซีเรียและปาเลสไตน์หรือพวกเซไมตะวันตก (Western Semite) ก่อนเข้าไปมีอิทธิพลต่อพวกกรีกโบราณ ทั้งนี้คำว่า Adon ในภาษาไซไมหมายถึงพระเจ้า (lord) ซึ่งก็ยังเป็นคำที่ใช้กันในปัจจุบันด้วย

กรอบความคิดเรื่องการตายและฟื้นคืนชีพยังดำเนินไปพร้อมกับแนวความคิดเรื่องการหายตัวไปของพระเจ้า เช่น พระเจ้าหนีไปอยู่ในดินแดนไกลโพ้นในทุ่งหญ้าสเต็ป (steppe) เป็นต้น พระเจ้าของพวกฮิตไต (Hittite) ที่ไม่ได้เป็นเทพเจ้าพายุนั้นก็มีการหายตัว สำหรับการหายตัวไปยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล ในกรณีของพวกฮิตไตการหายไปอาจหมายถึงการหลับของพระเจ้า ในขณะที่การหายตัวไปของ Baal หมายถึงความตายแบบที่มนุษย์ตาย ความตายที่มีพิธีกรรมการฝัง ความแตกต่างของ Baal กับพระเจ้าของฮิตไตก็คือ การที่ Baal อยู่ในสถานะการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า ความตายและการฟื้นคืนชีพของ Baal แสดงสถานะที่ไม่แน่นอนของราชวงศ์อูการิท (Ugaritic Dynasty) ในขณะที่ฮิตไตไม่เคยประสบปัญหาการตกเป็นดินแดนภายใต้การควบคุมจากคนต่างแดน ในแง่นี้สถานะที่มั่นคงของพระเจ้าขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางการเมือง แต่ทั้งหมดก็ยังคงมีความหวังในเรื่องของการฟื้นคืนชีพ

อ่านต่อ คลิก

ว่าด้วยเอกเทวนิยม : เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง


ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
จิรวัฒน์ รอดอิ่ม : ออกแบบปก

ความหนา : 264 หน้า
ISBN: 9786165620048
==================

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้