Last updated: 4 มิ.ย. 2565 | 2617 จำนวนผู้เข้าชม |
รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) คือคุรุผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของชมพูทวีป โดยเฉพาะในหมู่ผู้สนใจปรัชญาตะวันออก เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อของ 'คีตาญชลี' มหากาพย์นิพนธ์แห่งสรรพความรู้ทางปรัชญาที่ควรสัมผัสสักครั้งในชีวิต
ผลงานอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงของนักปรัชญาชีวิตชาวตะวันออกผู้นี้ นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้วยังมี 'Stray Birds' ที่เคยแปลและตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีและอาจร้างลาไปตามกาลเวลา
วันนี้ อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน หรือฉบับแปลสมบูรณ์แบบครั้งแรกของ Stray Birds อาจเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจในวันที่หม่นหมอง ในโลกและสภาวะที่กระตุ้นเร้าให้ร้อนรนอยู่ทุกเมื่อของสังคมในปัจจุบัน
เรารู้จัก รพินทรนาถ ฐากูร ในฐานะกวีชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และไม่ใช่ผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาพลักษณ์ของนักเขียนชาวเอเชียในเวทีโลกเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้พลิกโฉมหน้าของวรรณกรรมภาษาเบงกาลีและดนตรีแบบอินเดีย
รพินทรนาถเกิดที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในตระกูลพราหมณ์ที่มีฐานะร่ำรวยและได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เขาไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษก่อนจะกลับมาและหันไปทำงานในฐานะนักเขียนบทละคร กวี และนักแต่งเพลง คลุกคลีกับแวดวงนักเขียนรวมถึงเป็นนักแสดงในบทละครบางเรื่องที่เขาเขียนเอง ซึ่ง ณ ตอนนั้น นอกเมืองกัลกัตตายังแทบไม่มีใครรู้จักชื่อของเขาเลย
ต้องรอจนถึงอายุ 51 ปี รพินทรนาถที่เดินทางกลับไปยังอังกฤษเป็นครั้งแรกตั้งแต่เรียนจบมาได้เริ่มต้นแปล 'คีตาญชลี' ของเขาเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่ก่อนหน้านี้ผลงานแทบทั้งหมดของเขาอยู่ในภาษาเบงกาลีอันเป็นภาษาแม่ เขาแปลงานโดยไม่ได้คาดหวังสิ่งใด ค่อยๆ แปลและเขียนต้นฉบับทั้งหมดด้วยลายมือ จนกระทั่งเพื่อนศิลปินคนหนึ่งของเขารู้โดยบังเอิญและขออ่าน ซึ่งนั่นก็คือวินาทีแห่งปาฏิหาริย์ที่เปลี่ยนชีวิตที่เหลือทั้งหมดของรพินทรนาถ ฐากูร
เพื่อนศิลปินโรเทนสไตน์ (Rothenstein) ติดต่อเพื่อนของตนผู้มีนามว่า W.B. Yeats หรือก็คือ วิลเลียม บัตเลอร์ ยีตส์ ศิลปินและกวีอีกคนที่จะได้รับโนเบลในอนาคต
ยีตส์แสดงความชื่นชมต่อ คีตาญชลี และผลงานอื่นๆ ของรพินทรนาถ ฐากูรเป็นอย่างมาก รวมถึงยกย่องเขาว่า
ครั้งแรกที่ 'คีตาญชลี' ได้พิมพ์ครั้งแรกในฉบับภาษาอังกฤษ แม้จะขายแค่ในวงเล็กๆ แถวชุมชนชาวอินเดียในอังกฤษ แต่ความงดงามตราตรึงก็แทรกซึมเข้าไปในหมู่นักวิจารณ์วรรณกรรมทั่วไป และที่สุดก็โด่งดังไปทั่วโลก
หลังจากประสบความสำเร็จในงานชิ้นนี้ รพินทรนาถ ฐากูร จึงเริ่มทยอยแปลงานของตนเป็นภาษาอังกฤษ รวมผลงานทั้งหมดแล้วมีบทกวีกว่าพันบท รวมเรื่องสั้นแปดเล่ม บทกวีเกือบโหล และนวนิยายอีกแปดเรื่อง โดยที่ทั้งหมดเกี่ยวพันกับความคิดด้านปรัชญา ศาสนา การศึกษา และประเด็นทางสังคม ซึ่งเสน่ห์อันเหนือล้ำและอานุภาพของบทกวีของเขาก็คือตอบโจทย์คนได้ในทุกยุคทุกสมัย รวมถึงสั่นสะเทือนจิตใจของผู้อ่านได้เสมอ
กล่าวสำหรับผลงาน อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน คือการโบยบินที่หลุดจากกรอบธรรมเนียมของบทกวีและเป็นแบบฉบับของฐากูรโดยแท้จริง ด้วยการเลือกใช้ 'บทร้อยกรองอิสระ' (Free Verse) แทนการประพันธ์บนฉันทลักษณ์อันเคร่งครัด ซึ่งสอดประสานอย่างแนบสนิทกับแก่นทางความคิดส่วนใหญ่ของเขาที่พูดถึงธรรมชาติและเรื่องทางจิตวิญญาณ
ความหมายของ 'Stray Birds' ชัดเจนตรงตัวว่าคือการไม่ยึดติดใน 'รูปแบบ' ซึ่งเป็นการสำแดง 'ความเป็นมนุษย์' ที่มีทั้งความบกพร่องและเสรีภาพ 'Stray' ในที่นี้เป็นได้ทั้งอิสรภาพ และการแสดงความผิดพลาด กะพร่องกะแพร่ง ซมซาน หรืออาจเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านจะตีความไปในทางใด
แต่ รพินทรนาถ ฐากูร ผู้เขียน ก็เคยให้คำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากการมองเห็นฝูงหงส์โบยบิน ซึ่งสำหรับเขา ท่วงท่าการโบยบินของนกก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งชีวิต และการโบยบินนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของตัวเขาเองด้วย
อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน ฉบับสมบูรณ์ครั้งแรก รวบรวมบทกวีหรือถ้อยคำสั้นๆ จากผู้เขียนที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แต่แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง เป็นบทรำพึงรำพันสั้นๆ ที่มีความหมายติดตรึงใจอย่างยาวนาน อาทิ
ฉันนั่งอยู่ข้างหน้าต่างในยามอรุณ
โลกมาหยุดที่ฉัน
ทักทายฉัน
แลจากไปราวกับผู้สัญจร
รู้ชีวิตมีราคา
ก็เพราะโลก
รู้ชีวิตมีคุณค่า
ก็เพราะรัก
(จาก อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน)
จะเห็นได้ว่าบทกวีไร้สัมผัสของ รพินทรนาถ ฐากูร ทำให้เราต้องค่อยๆ ละเลียดและหยุดคิด ปล่อยห้วงสำนึกให้ละล่องซึมซาบไปกับบทกวีไร้สัมผัสที่ผู้เขียนถ่ายทอด สุนทรียศาสตร์และแง่คิดอันคมคายของเขาสื่อสารด้วยถ้อยคำเรียบง่ายเพียงไม่กี่ประโยค จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ผลงานการประพันธ์ของเขาจะจับใจผู้อ่านส่วนมากได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่สัมผัส
ความเรียบง่ายแต่ล้ำลึก รุ่มรวยความหมายแต่ถ่อมตนในถ้อยคำนี้ สมยิ่งแล้วที่ทั่วโลกเรียกขานเขาว่า 'เกอเธ่' และ 'เชกสเปียร์' แห่งโลกตะวันออก
==============================
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564