Last updated: 21 พ.ค. 2565 | 1066 จำนวนผู้เข้าชม |
■ ความสามารถในการแข่งขัน?
พอดีวันที่คุณเรืองเดชติดต่อให้มาบรรยายในวันนี้ ผมกำลังหยิบรายงานเก่าๆ ของสมาคมผู้พิมพ์ผู้จัดจำหน่ายหนังสือขึ้นมาพลิกๆ ดู ก็เจอบทความที่เห็นว่ามีประเด็นวิจารณ์ บทความนี้ชื่อ "บทวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ และการอ่านในสังคมไทย" สังเกตชื่อ เขาใช้คำว่า 'อุตสาหกรรม' และวิเคราะห์ 'การอ่าน' ด้วย แต่เนื้อหาไม่มีอะไรเกี่ยวกับการอ่านสักเท่าไร นอกจากนโนบายส่งเสริมการอ่าน แล้วก็สิ่งที่เขาอ้างมาเป็น 'ดัชนีการอ่าน' ก็คือข้อมูลจากสำนักอุทยานการเรียนรู้ เป็นตัวเลขในปี 2548 อ้างว่า เวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ย 60 เล่มต่อปี เก่าหลีใต้ 52.2 เล่มต่อปี ญี่ปุ่น 50 เล่มต่อปี สิงคโปร์ 40 - 50 เล่มต่อปี มาเลเซีย 40 เล่มต่อปี สาธารณรัฐเช็ก 16 เล่มต่อปี ไทย 2 เล่มต่อปี ฯลฯ เสร็จแล้วก็สรุปว่า ข้อมูลตัวเลขดัชนีนี้สะท้อนสถานการณ์การอ่านที่ต่ำมากๆ ต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมการอ่านต่างๆ
ตัวเลขพวกนี้ผมไม่รู้ว่าเขาใช้วิธีการสำรวจหรือเก็บตัวเลขแบบไหนนะครับ แต่เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากยอดขายหนังสือ โดยเฉพาะเวลาสมาคมผู้พิมพ์ฯ นำเสนอนี่ก็จะชอบวิเคราะห์จากตัวเลขยอดขายหนังสือ แล้วก็เอายอดขายหนังสือ หรือยอดการลงทุนหนังสือไปดูว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP อะไรทำนองนี้ ฐานคิดของบทวิเคราะห์เหล่านี้เป็นเรื่องของการ 'ขาย' หนังสือ ไม่ใช่การ 'อ่าน' อีกส่วนหนึ่ง เขาขึ้นหัวข้อว่า "ความสามารถในการแข่งขัน"
ผมจะอ่านให้ฟังบางประโยคนะ เช่น
ความอยู่รอดของสำนักพิมพ์จึงขึ้นกับอุปสงค์ - อุปทาน และปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น รายได้ของผู้บริโภค ความแตกต่างของประเภทผลิตภัณฑ์ ราคาผลิตภัณฑ์ และต้นทุนในการผลิตเป็นสำคัญ ดังนั้นอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์จึงจัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันแบบกึ่งสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ได้อย่างอิสระ ตามความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ระหว่างสำนักพิมพ์ โดยผู้บริโภคสามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ... ฯลฯ แล้วเขาก็แสดงภาพกราฟโดยมีข้อสรุปว่า การพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายในตลาด...
เป็นการพิจารณาความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของผู้ประกอบการ กล่าวคือ พบว่ากลุ่มผู้นำตลาด อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด เนื่องจากเมื่อพิจารณาโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ประกอบการในกลุ่มผู้นำตลาดมีความสามารถในการครอบครองสัดส่วนการตลาดได้สูงสุด ดังในตาราง... ฯลฯ คือบทวิเคราะห์แบบนี้เนี่ย นอกจากจะตั้งอยู่บน 'การขาย' หนังสือ ไม่ใช่วัฒนธรรมหนังสือจริงๆ แล้ว การ apply ทฤษฎีการตลาด ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พวกนี้ยังเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้
■ ระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เราทำธุรกิจหนังสืออยู่ เป็นระบบทุนนิยมเสรีจริงหรือไม่?
นี่คือคำถามสำคัญ ก่อนที่คุณจะ apply ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีการตลาด ดีมานด์ ซัพพลาย มือที่มองไม่เห็น อดัม สมิท อะไรทั้งหลาย ก่อนอื่นตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” นี่เป็นศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์นะครับ ถามว่า คุณจะวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันได้เนี่ย ตามทฤษฎี มันต้องมีสภาพที่ 'เสรี' ก่อนใช่ไหม เป็นเงื่อนไขเพื่อเปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างสัมบูรณ์
ดังที่กล่าวไปแล้วนะครับ ในส่วนของการขายผ่านระบบร้านหนังสือนั้น อยู่ในโครงสร้างของระบบร้านแบบแฟรนไชส์ซึ่งทำธุรกิจในแนวดิ่ง เพราะฉะนั้นมันมี conflict of interest ที่ทำให้กลไกตลาดแบบเสรีไม่ทำงาน หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ จะพูดว่ามีการแข่งขันแบบเสรีนี่ไม่ได้ หันมาดูพื้นที่อื่นที่มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าการขายปลีก เช่น การขายผ่านระบบห้องสมุด คนทำสำนักพิมพ์ในประเทศนี้ทราบกันดีว่าเป็นระบบกินเปอร์เซ็นต์นะครับ พูดง่ายๆ ก็คือ ใต้โต๊ะ ถ้าคุณจะขายหนังสือให้ห้องสมุด คุณไม่ต้องไปพูดถึงความสามารถในการแข่งขันบ้าบออะไร
เอาง่ายๆ จะให้กี่เปอร์เซ็นต์ ทำส่วนลดมาเท่าไร สามารถจัดหนังสือได้ตามโพยไหม ระบบเศรษฐกิจของเรา ไม่ใช่เฉพาะในธุรกิจหนังสือ แต่ในระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองโดยทั่วไป เป็นระบบทุนอุปถัมภ์ เป็นระบบเส้นสาย หรือการใช้สายสัมพันธ์ที่ชอบเรียกกันว่าคอนเน็กชั่นนั่นแหละ ทุนขนาดใหญ่ในประเทศนี้สะสมทุนขึ้นมาได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสัมปทาน
นี่เป็นโครงสร้างจริงๆ ของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เส้นเลือดใหญ่ของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบนี้คือการขอและการให้สัมปทานผ่านระบบเส้นสาย ไม่ใช่ความสามารถในการผลิตออกมาแล้วไปแข่งขันกันในตลาดเสรี เพราะฉะนั้นเวลาผมได้ยินคนทำหนังสือคนทำวรรณกรรมขายหนังสือไม่ได้แล้วด่าทุนนิยมเสรี โลกาภิวัตน์อย่างโน้นอย่างนี้ หรืออีกแบบในทางตรงกันข้ามก็วิเคราะห์ตลาดหนังสือด้วยทฤษฎีอย่างโน้นอย่างนี้ ความสามารถในการแข่งขัน อุปสงค์ อุปทาน ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ บ้าหรือเปล่า ประเทศนี้เป็นทุนนิยมเสรีตั้งแต่เมื่อไร คุณเคยอยู่ในระบบสังคมเศรษฐกิจแบบนั้นตั้งแต่เมื่อไรจึงบอกได้ว่ามันทำให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มันเคยมีจริงที่ไหน
■ Perfect Competition
อันดับแรกก่อนจะ apply ทฤษฎี คุณต้องรู้ว่าไอเดียทางเศรษฐศาสตร์พวกนี้เอามาจากตะวันตก และมันตั้งอยู่บนฐานคิดที่เป็นเสรีนิยม คำว่า ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแปลมาจากคำว่า Competitiveness นี่จะต้อง apply บนไอเดียพื้นฐานว่าจะต้องผลักดันตลาดไปสู่สภาพที่ perfectly competitive คือเปิดให้มีการแข่งขันแบบสัมบูรณ์ Perfect Competition ปราศจากการแทรกแซง ไม่มีการอุดหนุน
แต่ระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองของเราเต็มไปด้วยการแทรกแซง เต็มไปด้วยการอุดหนุนในลักษณะต่างๆ ในสภาวะแบบนี้ ไม่มีความสามารถในการแข่งขันตามทฤษฎีอยู่จริง "ระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองของเราไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นจารีตนิยม" สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือ คุณอยู่ในระบบตลาดที่เต็มไปด้วย conflict of interest เต็มไปด้วยการแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ และเจรจาต่อรองกันผ่านระบบเส้นสาย
สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการผูกขาดขึ้นมาเป็นการตลาดแบบสวามิภักดิ์ และอุปถัมภ์กันเป็นช่วงชั้น คุณพิมพ์หนังสือออกมาส่งให้สายส่งจัดจำหน่าย แล้วคุณก็นึกว่าตัวเองกำลังทำธุรกิจอยู่ในตลาดเสรี ฉันขายได้เพราะความสามารถของฉัน เธอขายไม่ได้เพราะเธอไม่มีความสามารถในการแข่งขัน เพ้อเจ้อ ทั้งหมดนี่เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ความสามารถในการแข่งขันของสำนักพิมพ์ใหญ่คือมีเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ของที่ขายได้แน่ๆ มาแปลขาย มีคอนเน็กชันมีเส้นสายที่จะยืดหยุ่นธุรกิจของตัวเพื่อสมประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ สามารถรับเหมาโครงการพิมพ์ขนาดใหญ่ หรือยัดเยียดหนังสือของตนเข้าไปอยู่ในโครงการอะไรสักอย่างเพราะมีคนเส้นใหญ่ถือหุ้นด้วย
การสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด หรือเป็นหนังสือเรียนก็ผ่านวีธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เน้นการควบคุมความคิด ไม่ใช่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบเสรีนิยม อีกทั้งยังผ่านระบบคอรัปชั่นที่ก็เป็นเรื่องของเส้นสาย บารมี และต่อรองให้เปอร์เซ็นต์กัน การขายหน้าร้านก็เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน คนที่ไม่รู้สึกก็เพราะคุณอยู่ในจุดที่เล็กกระจิ๋ว อยู่ในห้องแคบๆ ที่เขาซอยแบ่งให้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสในการแข่งขัน ไม่มีพื้นที่ให้คุณทำตลาดเลย มี แต่มีแบบมีกรอบจำกัด เหมือนคอกที่เขากั้นคุณให้อยู่แค่นั้น ตราบใดที่คุณไม่สามารถเสนอคอนเทนต์ของคุณ องค์ความรู้ของคุณเข้าไปแข่งขันในการศึกษาในระบบ เข้าไปแข่งขันในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองจริงๆ ของผู้คนได้
พื้นที่ที่คุณแข่งขันอยู่แล้วนึกว่าเสรีก็เป็นแค่คอกเล็กๆ เท่านั้นการพูดเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน วิจัยตัวเลข คิดหานโยบายส่งเสริมการอ่าน ในสภาพแบบนี้ทำไปอีกร้อยปีก็ไม่ขยับไปไหน ทำไปอีกร้อยปีก็ไม่สามารถพัฒนา ตราบใดที่ยังมองไม่เห็นสภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจสังคมการเมือง และลักษณะของโครงสร้างตลาดที่เป็นอยู่จริง
และเมื่อเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่จริงแล้ว จะพบว่าการวิเคราะห์ที่เป็นอยู่ มานั่งนับว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละกี่บรรทัด กี่เล่ม ล้วนเป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้น ขอบคุณครับ
ที่มา : Happy Reading | มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
<<< ตอนก่อนหน้า ธุรกิจทางปัญญาในตลาดไม่เสรี | วาด รวี [ตอนที่ 2/3] <<< ตอนแรก ธุรกิจทางปัญญาในตลาดไม่เสรี | วาด รวี [ตอนที่ 1/3]
----------
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563