Last updated: 26 พ.ย. 2564 | 1735 จำนวนผู้เข้าชม |
บันทึกเสวนา ‘พบนักเขียนซีไรต์ รอบคัดเลือก 2564’
วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 - 15.00 น.
โดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ดำเนินรายการ โดย
ดร.อลงกต ใหม่ด้วง (‘กัลปพฤกษ์’) และ ผศ.ดร.จิราภรณ์ อัจฉริยะประสิทธิ์
..,
อาณาเขต โดย นิธิ นิธิวีรกุล
ผศ.ดร.จิราภรณ์ อัจฉริยะประสิทธิ์ : “ค่ะ คุณนิธิ นิธิวีรกุล เป็นผู้เขียนนวนิยายเรื่องอาณาเขต ซึ่งทำให้ตัวดิฉันเองอ่านแล้วก็ทึ่งในตัวผู้เขียนมาก ที่สามารถถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ออกมาได้เยอะมากมาย ทีนี้ก็คงต้องถามคล้ายๆ ท่านอื่นว่า ที่มาที่ไปของการเขียนเรื่องนี้คือมีแรงบันดาลใจจากอะไร เขียนออกมาเป็นในเรื่องของการแพร่เชื้อกาฬโรคใช่ไหมคะ มีที่มาที่ไปอย่างไรคะ”
นิธิ นิธิวีรกุล : “จริงๆ ขอเกริ่นก่อน ขอบอกก่อนว่าเรื่องกาฬโรคมันเป็นแค่เพียงเทคนิคในการตกแต่งตัวนิยายเท่านั้น แต่ว่าแรงบันดาลใจในการที่จะเขียนเนื้อเรื่องของ อาณาเขต ขึ้นมาจริงๆ มันมาจาก 2 เรื่อง จาก 2 ประเด็น คือ 1. อาชญากรรมโดยรัฐที่ยังไม่เคยถูกนำมาถูกสอบสวน เพื่อที่จะหาผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง โดยอิงมาจาก 2 เหตุการณ์ ซึ่งถ้าเกิดคนได้อ่านนิยายเรื่องนี้ มันจะมีส่วนที่ผมจงใจใส่สองตัวเลขเข้าไป คือตัวเลข 3,094 คน มาจากตัวเลขผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา กับตัวเลข 98 คน คือผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภา 53 ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาชญากรรมโดยรัฐ และ อาณาเขต เป็นเรื่องราวที่พูดถึง โดยถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่พูดถึงอาชญากรรมโดยรัฐเหมือนกัน
“ประเด็นที่ 2 คือ ความต้องการที่อยากจะมีอิสรภาพของคนที่ถูกจำคุก ไม่ว่าจะเป็นจำคุกในนิยามของการที่อยากจะเป็นคนอื่นแล้วเป็นไม่ได้ หรือจำคุกในนิยามอย่างที่เราคุ้นเคยกัน คือถูกจำคุก หรือถูกจำคุกในอาณาเขตของรัฐ ของเมือง ที่เราไม่สามารถมีชีวิตเป็นอย่างที่เราเป็นได้ แรงบันดาลใจก็จะมีมาแค่นี้”
จิราภรณ์ : “แสดงว่ามันมีบทบาทหน้าที่บางอย่าง ที่ต้องการจะสื่อสารไปยังผู้อ่าน ไปยังสังคมวงกว้าง”
นิธิ : “ครับ”
จิราภรณ์ : “เรื่องกาฬโรคก็คือเป็นเพียงเครื่องมือในการหยิบเข้ามาใส่แนวคิดบางอย่างเท่านั้น แต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ร่วมสมัยนะคะคุณนิธิ ซึ่งก็สอดคล้องกับโรคภัยที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็การเขียนโครงเรื่องแบบนี้มันชวนให้เราร่วมอยากจะรู้ด้วยว่า สุดท้ายแล้วใครคือคนที่แพร่เชื้อกาฬโรคกันแน่ ซึ่งคุณนิธิก็ทำไปได้ถึงจุดนั้นด้วย แม้ว่าจะหยิบเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบนำเสนอแนวคิดก็ตาม ตรงนี้ก็น่าสนใจนะคะ
“อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะสอบถามคุณนิธิก็คือ ดิฉันสนใจในเรื่องของกลวิธีการเล่าซึ่งเป็นอีกเล่มหนึ่งที่การเล่าก็ค่อนข้างจะแปลกใหม่เหมือนกัน มีการหยิบยืมเอารูปแบบการเขียนประเภทต่างๆ แทรกเข้าไว้ อย่างเช่นมีการเอาตัวรายงานหรือแถลงการอะไรพวกนี้แทรกเข้าไปด้วย ตรงนี้เป็นอย่างไรคะ ลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม”
นิธิ : “ด้วยความที่ตอนแรกเนี่ย เค้าโครงของเรื่องนี้ต้องการจะให้มันเป็นนิยายที่ถูกเขียนโดยใครก็ตามที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร คือผมต้องการจะให้นิยายเรื่องนี้เป็นเหมือนเป็นเสียงแทนของคนที่ไม่มีชื่อเสียง เป็นเสียงแทนของผู้ที่ไม่เคยถูกรับฟังในสังคม เพราะฉะนั้นตัวผู้เล่าเรื่องจึงค่อนข้างถูกกลืนหายไป ทำให้ผู้เล่าเรื่องหลักค่อนข้างจะไม่มี ก็จะมีแยกออกไปหลายๆ คน
“พอจุดประสงค์ในการเขียนเป็นแบบนั้น มันก็เลยเริ่มจากพยานซึ่งจะเป็นตัวอัณณ์ คณัสนันท์ ก็คือจะเล่าโดยผ่านเทคนิคหลายเสียง เพราะอัณณ์จะเป็นคนที่แปลกแยก เขาก็จะพูดกับตัวเองบ้าง พูดผ่านบันทึกบ้าง ก็จะมีหลายเสียง แล้วอัณณ์ก็หายตัวไป คนที่เข้ามาสืบสวนเรื่องการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อัณณ์อาศัยอยู่ก็คือยศเส ซึ่งอัณณ์เป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต ยศเสก็จะเข้ามาสืบสวน และยศเสก็จะเข้ามาสอดรับต่อ หลังจากนั้น เริ่มจากยศเสแล้วก็ส่งต่อให้ตัวละครต่อไป เพื่อให้มันประกอบขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนของเรื่องนี้”
จิราภรณ์ : “งั้นการใส่เข้ามามันมีบทบาททั้งหมดอยู่ อีกอันหนึ่งคือ ก็คือว่าดิฉันเองเห็นอย่างที่คุณนิธิพยายามบอกก็คือว่า มีการสับเปลี่ยนผู้เล่าตลอด รู้สึกเล่นกับการเล่า เล่นกับกลวิธีการเล่าได้อย่างน่าสนใจ แล้วยังในช่วงท้ายเรื่องเหมือนมีคุณนิธิเข้าไปด้วย ตรงนั้นเป็นอย่างไรคะ”
นิธิ : “จริงๆ ในช่วงท้ายเรื่อง ตรงที่มันมีข้าพเจ้า หรือเสียงข้าพเจ้า เสียงคนที่เล่าคำว่าข้าพเจ้ามันเริ่มตั้งแต่คำนำแล้วก็ไปเป็นคำตาม ขณะเดียวกันข้าพเจ้าจะแทรกอยู่ในตัวบทแต่ละบทที่แทรกเข้ามาอยู่ตลอด ถ้าคนอ่านผ่านจะสังเกตได้ มันจะมีเสียงที่แทรกของตัวข้าพเจ้าเข้ามา ซึ่งมันก็มีเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง คุณสันติสุข กาญจนประกร ซึ่งเขาก็ส่งนิยายมาร่วมประกวดด้วยในชื่อ ซิมโฟนียังบรรเลง เขาก็ถามว่าโดยตัวข้าพเจ้าเนี่ยใช่นิธิไหม เพราะว่าในเรื่องนี้มีการใส่ตัวนิธิเข้าไปด้วย ผมก็เลยบอกว่า ถ้าให้ไปใส่นักเขียนคนอื่นมันก็ดูเหมือนไปกระทบคนอื่นโดยตรง มันต้องใส่ตัวเอง มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใส่ตัวเองโดยตรง
“ทีนี้พอมันเป็นข้าพเจ้า ผมไม่รู้จะเป็นการสปอยล์ไหม แต่จะพูดไปเลยว่ามันไม่ใช่ตัวผมเสียทีเดียว แต่หมายถึงมันคือตัวข้าพเจ้า แทนตัวเสียงของคนที่ไม่ได้ถูกรับฟัง ฉะนั้นตัวข้าพเจ้ามันคือการพยายามแทรกเข้าไปเพื่อที่กระตุ้นคนอ่าน เพื่อที่จะเหมือนคอยกระตุกขาว่า ตรงนี้อย่างนี้นะ ตรงนี้เป็นแค่ตัวบทนิยายนะ คุณกำลังอ่านคำตามนะ สุดท้ายแล้วคุณอาจกำลังเห็นตัวเองผ่านคำตามของนิยายเรื่องนี้ คุณไม่ได้กำลังอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง แต่คุณอาจจะกำลังอ่านชีวิตตัวเองอยู่ก็ได้”
จิราภรณ์ : “มีความซับซ้อนนะคะ ดิฉันเองก็อ่าน มีชื่อนิธิเป็นตัวละครด้วยเหรอ อะไรอย่างนี้ แต่เห็นอย่างหนึ่งคือมีความเป็นเอกภาพของเรื่องค่ะคุณนิธิ ตั้งแต่เปิดเรื่องมาเลย ตั้งแต่เป็นคำนำจนมาถึงปิดเรื่องเลย อันนี้เป็นความจงใจใช่ไหมคะ”
นิธิ : “ใช่ครับ เป็นความจงใจ คือตอนแรกที่เขียนคำนำ มันไม่ใช่คำนำนี้ ตอนที่เห็นในตีพิมพ์ฉบับหนึ่งเป็นคำนำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นรูปแบบที่ผมรู้สึกว่ามันมีความนิยายมากกว่านี้ แต่ว่าตัวอาณาเขต อย่างที่ปกเขียนว่า มันคือการพยายามทำให้เป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นนิยายเรื่องนี้มันจะเหมือนเล่นกับคนอ่านตั้งแต่หน้าปกว่าคุณอาจจะไม่ได้อ่านตัวนิยายอยู่
“พอบางคนอ่านคำนำ เขาก็อาจคิดว่าคำนำเป็นคำนำของสำนักพิมพ์หรือเปล่า ซึ่งในแง่หนึ่ง ผมคือเหมือนต้องการหยิบฉวยสิ่งที่...จะเรียกว่าอะไร...เหมือนเป็นขนบในการตีพิมพ์มากกว่าว่าจะมีคำนำ มีคำตาม และในตัว อาณาเขต เหมือนจะตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องมีคำนำ คำตามไหม ผู้เขียนคำนำหรือผู้เขียนคำตาม ส่วนมากจะแยกเป็นคนละคนกัน แล้วทั้งสองส่วนตรงนี้มันนำมาประกอบกันเพื่อสร้างอิมแพ็ค หรือสร้างความรู้สึกในตัวคนอ่านเมื่ออ่านนิยายเรื่องนั้นจบ
“มันคือโครงสร้าง หรือก็อย่างที่ถึงที่สุดก็คืออาณาเขตของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ที่คนอ่านจะต้องอ่านแล้วก็สุดท้ายกลับไปตั้งคำถามว่า อาณาเขตมันคืออะไร ดังนั้นใช้ครับทั้งคำนำทั้งตัวคำตาม ผมต้องการทำให้มันออกมาเป็นโครงสร้างเดียวกันหมด ก็มีการแก้การปรับอยู่หลายครั้งเหมือนกัน ให้เป็นเนื้อเดียวกันมากที่สุดเท่าที่ความสามารถผมมี”
จิราภรณ์ : “แต่มันเป็นเนื้อเดียวกันเลยค่ะ คือเราเห็นว่าเล่นตั้งแต่ต้นเรื่องเลยเหรอ เล่นตั้งแต่คำนำมาเลย แล้วมันมีความเป็นเอกภาพจนถึงปิดเรื่อง อันนี้น่าสนใจมาก เหมือนกับคุณนิธิกำลังเล่นกับโครงสร้างของหนังสือ โครงสร้างของเรื่องเล่า ดิฉันมองอย่างนี้ ใช่ไหมคะ”
นิธิ : “ใช่ครับใช่ คืออย่างที่ได้บอกไป เพราะผมต้องการจะให้นิยายเรื่องนี้มันเหมือนเป็น...คือโดยใจของผมตอนที่เขียนด้วย...ผมอยากให้มันเป็นการปิดพาร์ทการเขียนของผม และผมตั้งใจว่าจะหยุดเขียน ในความตั้งใจเดิมคือจะหยุดเขียนไปสักระยะหนึ่ง ฉะนั้นผมก็อยากให้นิยายเรื่องนี้เป็นคล้ายๆ ผลรวมทางความคิดของตัวผมเอง เป็นผลรวมทางการอ่านของตัวผมเอง เป็นผลรวมทางการเขียนของตัวผมเองด้วย มันจึงค่อนข้างที่จะออกมาเป็นอย่างที่เห็น”
จิราภรณ์ : “อ่อ...มีแนวคิดที่จะพักการเขียนเหรอคะ”
นิธิ : “ก่อนหน้านี้ครับ ตอนที่เขียนอาณาเขตครับ ถ้าเกิดว่าถ้าคนตามอ่านนิยายผมหรือเรื่องสั้นมาตั้งแต่ตอน น้ำตาปารวตี ที่พิมพ์กับสนพ.สมมติ ผมก็พิมพ์กับสมมติที่เดียว จะเห็นว่าวิธีการเล่าผมจะเป็นวิธีเดียวกันหมด เป็นวิธีเล่าโดยผ่านเหล่าคนเล่า ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ก็เป็นเหมือนกัน ประพฤติการณ์ ก็เป็นเหมือนกัน พอเป็น อาณาเขต มันจึงจำเป็นที่ต้องใส่ตัวผมเข้าไปเพื่อเป็นการปิดฉากการเขียนรูปแบบนี้ ลองก้าวข้ามไปสู่อาณาเขตอื่นๆ การเขียนของตัวผมเองดูสิ แล้วก็ลองจบตรงนี้ ได้เท่าไหนก็คือเท่านั้น”
จิราภรณ์ : “น่าสนใจค่ะ พอได้มารู้ความเป็นมาเป็นไปของการเขียนเรื่อง แล้วก็แนวคิดในการนำตัวตนเข้าไปใส่ น่าสนใจมาก มันมีความหมายทั้งหมดเลย ทั้งเล่มเลย สัมพันธ์ผูกโยงกับคุณนิธิอย่างแยกกันไม่ออกเลย ฟังจากที่คุณนิธิพูดมา น่าสนใจค่ะ”
นิธิ : “ในบางแง่ผมก็ไม่แน่ใจนะ ผมก็คิด...ในบางแง่มันจะเป็นการที่พูดถึงแต่ตัวเองมากเกินไปไหม มันทำให้เรารู้สึกหมกมุ่นตัวอาณาเขตแล้วมีตัวนิธิครอบลงไปในตัวอาณาเขตมากเกินไปไหม ผมก็คิดเรื่องนี้ในตอนที่เขียน และผมก็พูดอยู่ว่ามันต้องมีคนวิจารณ์แน่ แล้วก็มีจริงๆ แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นความเสี่ยงที่ผมรับได้ ผมตั้งใจอยากให้มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะผมกำลังคิดย้อนกลับไปที่ว่า แล้วทำไมต้องให้ความสำคัญกับนิธิล่ะ ทำไมต้องให้ความสำคัญกับว่าใครเป็นคนเล่าล่ะ มันก็จะกลับไปที่ว่าทำไมคนเล่าถึงเป็นข้าพเจ้า ทำไมในตอนที่ข้าพเจ้าได้รับต้นฉบับอาณาเขตถึงไม่มีชื่อผู้เขียนมา ก็จะบอกว่าเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งไม่จำเป็นที่คุณต้องยึดติดว่าใครเป็นคนเล่า ใครเป็นคนเขียน หรือผู้เขียนเป็นใคร ทำไมคุณต้องสนใจว่านักเขียนหมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป
“ผมคิดว่าเรากำลังให้คุณค่าความเป็นนักเขียนมากกว่าอาชีพอื่นๆ ซึ่งอันนี้ถ้ากระทบความรู้สึกใครขอโทษจริงๆ แต่นี่เป็นความรู้สึกผม ว่านักเขียนไม่ได้มีความหมาย หรือมีคุณค่า หรือมีคุณูปการอื่นๆ ต่อสังคมมากไปกว่าอาชีพอื่น ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ดังนั้น การที่เราอ่านเรื่องราวที่นิธิเขียน เรื่องราวที่นิธิสอดแทรกตัวเองเข้าไปจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์จนถึงขนาดบอกว่าคุณหมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าวิพากษ์ไม่ได้ครับ ผมแค่รู้สึกว่า อันนี้เป็นการตั้งคำถามในตอนที่ผมเขียน ไม่ได้ว่าจะเถียงกับใครนะ ผมเถียงกับตัวเองตอนที่ผมเขียน อาณาเขต ผมจะตั้งคำถาม เดี๋ยวก็ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ออกมา แล้วผมก็ตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วทำไมถึงต้องกลัวการเขียนออกไปแบบนั้น ทำไมจะต้องเขียนไม่ได้ ทำไมจะต้องคิดว่าคนอื่นจะวิพากษ์แบบนี้ ทำไมถึงต้องคิดว่าคนอื่นจะมองเราแบบนี้ ในเมื่อเรามีเรื่องที่อยากจะพูด เรามีเรื่องที่อยากจะสื่อสาร เราก็ควรกล้าที่จะสื่อสาร ในความคิดผมหนังสือควรจะเป็นสิ่งที่ซื่อสัตย์ต่อคนอ่านที่สุดครับ”
จิราภรณ์ : “จริงๆ งานของคุณนิธิก็คือว่ามันก็สร้างมาจากประสบการณ์ส่วนตัวนั่นแหละ การตกผลึกความคิด ก็อาจจะคล้ายๆ งานที่เข้ารอบมาหลายเรื่อง ก็ต้องมาจากความคิดหรือการตกผลึก ประสบการณ์ส่วนตัว หรืออารมณ์ความรู้สึก บางทีมันก็แยกยากระหว่างตัวตนของคนเขียนกับงานเขียน จริงๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร น่าสนใจค่ะ แล้วมันก็ทำให้เห็นถึงกลวิธีการเล่าเรื่องที่มันดูซับซ้อน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องตัวตนในเรื่องที่มีความซับซ้อน ซ้อนทับของตัวตนเยอะมาก ทำให้เรารู้สึกค้นหา ทำให้รู้สึกเรามีคำถามตลอดเวลา...ทำไมอัณณ์มาแล้ว ทำไมนิธิมา คนนู้นคนนี้มาอะไรอย่างนี้ มันทำให้ชวนที่จะติดตามเรื่องไปจนจบ ขอขอบพระคุณคุณนิธิมาก ในเรื่องของกลวิธีการเล่าแล้วก็การผสมผสานรูปแบบเรื่องเล่า อันนี้ดิฉันว่าโดดเด่นมาก”
นิธิ : “ขอบคุณครับ”
..,
จิราภรณ์ : “อีกเรื่องหนึ่งที่สปอยล์ยากเหมือนกัน ก็คือเรื่อง อาณาเขต ค่ะ ก็ถือว่าสปอยล์ยาก ต้องอ่านค่ะ เพราะว่าเล่าอย่างไรก็เล่าได้ไม่ครอบคลุมความหมายที่คุณนิธิต้องการสื่อออกมา มันเยอะแยะมากแทบจะทุกบรรทัดเลย มีการท้าทายขนบต่างๆ มากมาย แต่ที่จะหยิบมาถามคุณนิธิ ดิฉันจะหยิบมาเพราะว่ามันจะปรากฏอยู่สองครั้งในเนื้อเรื่อง เราก็เลยเอ๊ะ...กำลังจะบอกอะไรเรา ก็คือปรากฏในหน้าที่ 1 บรรทัดแรกเลย ‘คนเราสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นคนอื่นได้ไหม หากการทำเช่นนั้น ทางเลือกจำกัดเพียงถ้าไม่ปลิดชีพเจ้าของเรือนร่างแห่งชีวิตที่ต้องการครอบครองแล้วจะมีทางใดเหลือให้อีก’ ซึ่งอันนี้ปรากฏในหน้าที่ 1 ครั้งหนึ่ง แล้วก็ไปปรากฏในหน้า 255 เราก็สงสัยว่าทำไมปรากฏสองครั้ง ช่วยบอกนัยตรงนี้ได้ไหม”
นิธิ : “คือมันกำลังจะบอกว่า ตรงส่วนเนื้อที่หนึ่งมันไม่ใช่คนที่เอามาเล่าในส่วนคำตาม มันคือคนละคนในการเล่า นั่นส่วนแรก ส่วนที่สองคือต้องการจะบอกหัวใจของเรื่องนี้ อาณาเขต ซึ่งตอนคุยในห้องคลับเฮ้าส์เมื่อต้นอาทิตย์ มีผู้อ่านคนหนึ่งเข้ามาถามความหมายของคำว่า อาณาเขต ที่อยู่นอกอาณาเขตนี้คืออะไร มันมีความหมายอะไรบ้าง ซึ่งผมตอบว่า มันคือเสรีภาพ แล้วในนิยายเรื่องนี้ก็พูดถึงประโยคนี้ไว้ ขออนุญาตอ่านนะครับ
ทั้งหมดนี้จึงไม่อาจแปลความหมายกระทั่งแปรเป็นสิ่งอื่นไปได้นอกเหนือจากข้อเท็จจริงว่า หากต้องทนอยู่ในสภาวะของนักโทษ [Prison] แทนที่จะเป็นบุคคล [Person] ผู้มีอิสรภาพ ซึ่งผู้ตระหนักถึงโซ่ตรวนเท่านั้นจึงจะมองเห็นสภาวะดังกล่าว เช่นนี้แล้ว หนทางเดียวที่จะพาตัวเองออกจากคุกแห่งนี้ได้ หนทางเดียวในการที่จะได้รับสิ่งนั้นกลับคืน จึงเหลือเพียงเส้นทางนี้
จึงเหลือเพียงคำนี้
เสรีภาพ
“คือตรงนี้มันเป็นหัวใจของเรื่อง มันก็จะไปสอดรับกับประโยคที่อาจารย์ยกขึ้นมาในตอนหน้าที่หนึ่ง คือตัวอัณณ์มีความปราถนาอยากจะเป็นนิธิ เขามีความคิดที่อยากจะปลิดชีพนิธิเพื่อจะไปเป็นแทน แต่แล้วเขาก็มาเผชิญกับคำถามที่ว่า ถ้าเขาฆ่านิธิ แล้วคนที่รู้จักนิธิล่ะ เขาก็ต้องรู้ว่าหน้าตาของอัณณ์ไม่ใช่อัณณ์ คนก็จะรู้ เขาก็จะสวมรอยนิธิได้แค่ในส่วนตัวบท...คือนิธิที่เป็นแค่ตัวหนังสือเท่านั้นหรือนิธิในเฟสบุ๊กเท่านั้น อย่างที่เรามักเห็นว่าจะมีการปลอมไอดีกัน ปลอมแอคเคาน์กัน แล้วประโยคตรงนี้มันยังไปโยงกับคำที่ว่า สุดท้ายแล้วคุกมักจะขังเราได้แค่ร่างกาย ยากจะขังจิตวิญญาณหรือขังความคิดจิตใจเราได้ ฉะนั้นร่างกายเรามันจึงเป็นเหมือนคุกอีกแบบ ทางเดียวที่เราจะไปจากร่างกายได้มันก็คือต้องฆ่าตัวตาย หรือถ้าเราไม่เลือกฆ่าตัวตายเราก็ต้องจะเลือกที่จะเปลี่ยนตัวตนตัวเองไปเป็นคนอื่น เปลี่ยนชื่อเป็นคนอื่นอย่างที่เรามักเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อจะช่วยให้มีโชคมีลาภ
“เนื้อเรื่องนิยายตรงนี้มันต้องการบอกว่า คนเรามันมักจะติดอยู่ในกรงขังใดกรงขังหนึ่งเสมอ ทางใดทางหนึ่งเสมอ ฉะนั้นเสรีภาพที่แท้จริงของคนเราบางที หรืออาจเรียกได้ว่าเสรีภาพสูงสุดก็คือเราอาจจะต้องไปจากตัวตนของเรา พูดแบบนี้อาจดูเหมือนพุทธศาสนาหน่อย...อาจจะต้องละทิ้งตัวตนเราเพื่อก้าวพ้นไปสู่อิสรภาพที่แท้จริง”
จิราภรณ์ : “คุณนิธิมีความคิดอะไรเยอะมาก ไม่น่าเชื่อว่ามันจะแตกไปได้ขนาดนี้ จากแค่ประโยคแค่สองสามประโยค คุณนิธิอธิบายอะไรได้เยอะมาก ซึ่งน่าทึ่งค่ะน่าทึ่ง”
นิธิ : “อย่างที่บอกไปตอนต้น เพราะนิยายเรื่องนี้เป็นการเก็บผสมผสานจากนิยายที่เคยเขียนก่อนหน้านี้ อย่าง น้ำตาปารวตี จะเป็นนิยายที่พูดถึงแก่นเรื่องพุทธศาสนาเหมือนกัน จะพูดเรื่องการกลับชาติมาเกิด น้ำตาปารวตี พูดถึงความพยายามของคนคนหนึ่งที่อยากจะตามหาน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าทำให้ตัวเองมีชีวิตยืนยาวได้ แล้วเขาเชื่อว่าถ้าเขามีชีวิตยืนยาวได้ เขาจะบำพ็ญเพียรให้บรรลุธรรมได้แบบนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในความเป็นจริง ฉะนั้นมันก็เลยเหมือนเป็นการเก็บยอดความคิดนั้นกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วคนเราสุดท้ายเราก็ไม่สามารถไปฝืนขีดจำกัดธรรมชาติชีวิตคนเราได้ เราไม่อาจเกิดมาหรือเลือกเกิดได้ว่า อยากเกิดในครอบครัวที่รวยกว่านี้ เกิดในสถานะทางสังคมที่ดีกว่านี้ ฉะนั้นร่างกายคนเรามันจึงเป็นคุกอย่างหนึ่ง”
จิราภรณ์ : “ค่ะ น่าสนใจ จริงๆ แล้วก็คือประเด็นในเรื่องของตัวตน ซึ่งถึงแม้อาจจะมีการเล่นประเด็นนี้มาแล้ว แต่มันก็ยังไม่ถือว่าตกยุคกันไป คนก็ยังต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเป็น ตัวตนของตัวเองอยู่ตลอด เพราะมันมีสิ่งนู้นสิ่งนี้เข้ามาปะทะอยู่ตลอด ก็เกิดคำถามว่าเราคือใคร นิยามตัวเราเป็นอย่างไร อันนี้ก็ถือว่าร่วมสมัยมาก ขอบพระคุณคุณนิธิที่มาให้ความหมาย ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมมันกว้างขวางขนาดนี้ ขอบพระคุณค่ะ”
ฟังแบบเต็มๆ ได้ที่ https://fb.watch/9oSbYXYjR-/
-- คำประกาศจากคณะกรรมการซีไรต์ --
==================
คลิกสั่งซื้อ อาณาเขต
============
บทความที่คุณน่าจะชอบ
นวนิยายซีไรต์ เข้ารอบสุดท้าย | หลงลบลืมสูญ
รวมเรื่องสั้นซีไรต์ เข้ารอบสุดท้าย | รยางค์และเงื้อมเงา
หนังสือกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ | ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้
============
ชุดหนังสือแนะนำ ราคาพิเศษ
Set S.E.A. Write หนังสือรางวัล
Set รวมงานเขียนของ นิธิ นิธิวีรกุล
==================
17 ก.ค. 2563
14 เม.ย 2564