Last updated: 27 มี.ค. 2564 | 1952 จำนวนผู้เข้าชม |
On This Day : Virginia Woolf
28 มีนาคม ค.ศ.1941 | เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้เขียน ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse) เสียชีวิตที่ Sussex
เธอเกิดมาด้วยชื่อเต็มว่า อเดไลน์ เวอร์จิเนีย สตีเฟน เมื่อปี 1882 เป็นเด็กผู้หญิงซึ่งอยู่ในชนชั้นกลางค่อนข้างสูงในสมัยวิคตอเรียนที่ค่อนข้างหัวโบราณไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว และเช่นเดียวกับนักประพันธ์ยุคสมัยใหม่ส่วนใหญ่ วูล์ฟมักต้องถกเถียงกับอดีตของตนเอง นำมันมาใช้เป็นแหล่งที่มาของเนื้อหาที่เขียน แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามปลุกปั้นสรรค์สร้างสิ่งใหม่จากอดีต
เซอร์เลสลีย์ สตีเฟน บิดาของเธอนั้นเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมและบรรณาธิการของ Dictionary of National Biography จูเลีย แจ็คสัน ดั๊กเวิร์ธ สตีเฟน มารดาของวูล์ฟ เป็นสาวงามซึ่งมีญาติมิตรอยู่ในวงการศิลปะและวรรณกรรมมากมาย ทั้งสองมีลูกชายหญิงรวมกันทั้งหมดแปดคนซึ่งทุกคนได้ไปตากอากาศ
ฤดูร้อนแสนสุขด้วยกันที่เมืองเซนต์ไอฟส์ในแคว้นคอร์นวอลล์ ซึ่งก็เป็นต้นแบบบ้านพักตากอากาศของครอบครัวแรมเซย์ (ครอบครัวของเหล่าตัวละครในหนังสือ ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse)
แต่ทว่าจูเลียกลับมาเสียชีวิตอย่างกะทันหันตอนที่วูล์ฟอายุ 13 ปี วูล์ฟกล่าวต่อเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิต”
ตามมาด้วยสเตลล่า พี่สาวต่างบิดา ซึ่งเสียชีวิตกะทันหันหลังแต่งงานได้ไม่นาน เมื่อปี 1897 คุณพ่อของเธอเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตเมื่อปี 1904 และโธบี้ พี่ชายแท้ๆ ของเธอก็เสียชีวิตด้วยไข้ไทฟอยด์ไปอีกคนเมื่อปี 1906
ความตายของบุคคลใกล้ชิดส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพจิตและงานเขียนของวูล์ฟ การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยิ่งตอกย้ำถึงพลังแห่งความตาย จนทำให้เธอต้องดิ้นรนหารูปแบบการเขียนเรื่องแบบใหม่ยิ่งขึ้น เพราะการวางโครงเรื่องที่เป็นระเบียบแบบแผนดูจะใช้ไม่ได้เสียแล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์ซึ่งมีอำนาจการทำลายล้างเป็นวงกว้างถึงเพียงนั้น
ในขณะเดียวกัน เธอยังเขียน To the Lighthouse เพื่อเป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแด่บิดาและมารดาของเธอ และไว้อาลัยอดีตยุคสมัยวิคตอเรียนไปพร้อมๆ กัน
งานของวูล์ฟมักจะเต็มไปด้วยความพยายามหาระบบระเบียบเมื่อต้องเผชิญกับความสับสนอลหม่านอย่างน่าตกใจเสมอ เช่นเดียวกับที่ตัวละครในเรื่องต่างพยายามหาจุดเชื่อมโยงและช่วงเวลานาทีที่น่าจดจำใน To the Lighthouse และเหมือนกับมิตรสหายในกลุ่มบลูมสเบอร์รีของเธอ กลุ่มศิลปินและนักเขียนในลอนดอนที่มารวมตัวกัน
เธอมองว่า ศิลปะนั้นมีประโยชน์และจุดประสงค์หลักเพื่อค้นหาการสื่อสารที่แท้จริง แม้จะเป็นการสื่อสารอันไร้คำพูดก็ตาม ซึ่งในที่สุดแล้วอาจทำให้ชีวิตของคนเรามีอะไรขาดหายไปเสมอ
การพยายามที่จะ “ทำให้นาทีนี้กลายเป็นอะไรที่คงทนถาวร” แบบเดียวกับที่ลิลลี่และนางแรมเซย์ทำเป็นสิ่งเดียวที่คนเราสามารถทำได้
-- บางส่วนจาก บทนำ ในเล่ม ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ โดย อลิกซ์ ฮอว์ลีย์ (Alix Hawley) --
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set ครบชุดวรรณกรรมในวงเล็บ
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน