Last updated: 26 ต.ค. 2566 | 2144 จำนวนผู้เข้าชม |
ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อันใกล้ของวงการนักอ่าน โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมิเดีย ได้เกิดศัพท์ประดิษฐ์ขึ้นมาหนึ่งคำ ที่ดูเหมือนจะมีทั้งอิทธิพลและนัยแสดงถึงความสำคัญของการอ่านอยู่ไม่น้อย และนั่นก็นำมาซึ่งข้อถกเถียงถึงเรื่องสารัตถะ ความหมาย หรือคุณค่าในมิติต่างๆ
คำที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ ‘กองดอง’ ซึ่งหมายความถึงทั้ง ‘องค์ประธาน’ คือ 'ชาวกองดอง' และ 'อาการกริยา' ที่หมายถึง 'การดองหนังสือ'
‘กองดอง’ ในความหมายข้างต้น พอจะสรุปสาระสำคัญว่าหมายถึง “ลักษณะนิสัยของคนที่ชื่นชอบในหนังสือ เมื่อเห็นว่าหนังสือเล่มไหนน่าสนใจก็มักซื้อมาเก็บไว้ และไม่ว่าด้วยเหตุผลข้อใดก็ตาม สิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มเข้าด้วยกันนั่นก็คือ การที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือที่ซื้อมา”
ซึ่งคุณลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความนิยมต่อตัวนักเขียน ต่อสำนักพิมพ์ หน้าปก จากคำแนะนำ หรือจากเหตุผลอื่น ทำให้หนังสือที่มีอยู่เปลี่ยนสถานะเป็น ‘กองดอง’
ถ้าซื้อมาแต่ไม่อ่าน แล้วซื้อมาทำไม? ดูจะเป็นคำถามที่น่าสนใจในการพิจารณาถึงคุณค่าในตัวของกองดองเอง ซึ่งหากมองแบบผิวเผินอาจมองว่าสิ่งที่กองดองทำอยู่นี้ขัดต่อสำนึกบางอย่าง เพราะหากว่าเราไม่อาจหยิบจับประโยชน์อะไรได้จากสิ่งที่เราลงทุน ย่อมถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันอย่างแท้จริงแล้ว เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้ ดูจะมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
หากจะพูดกองดองตัวพ่อ นักเขียนชื่อดังอย่าง อัมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) คงต้องมีชื่อติดอยู่ในท็อปลิสต์ในด้านนี้ นั่นก็เพราะเอโคมีหนังสืออยู่ในครอบครองมากถึง 30,000 กว่าเล่ม และเขาเองก็สารภาพว่าไม่ได้อ่านมันครบทุกเล่ม และในชีวิตนี้ก็แทบจะไม่มีทางเลยที่เขาจะอ่านมันได้ครบทุกเล่ม
แล้วอะไรคือเหตุผลที่เอโคต้องมีหนังสือมากมายขนาดนั้น เอโคได้ให้เหตุผลว่า การที่ได้เห็นบรรดาหนังสือที่เขายังไม่ได้อ่าน มันได้ช่วยให้เขาสำนึกกับตนเองเสมอว่า ‘มีสิ่งที่ตนยังไม่รู้อีกมาก’ มันช่วยเตือนสติไม่ให้เขายึดถือในความรู้ที่ตนนั้นมี
กระบวนคิดเช่นนี้ นักปรัชญาในยุคกรีกโบราณ โสเครติส (Socrates) เองก็มีมุมมองต่ออาณาเขตความรู้เช่นนี้ โสคราติสเป็นนักปรัญชาที่ถูกยกย่องด้านสติปัญญาเป็นอย่างมาก จนมีคนสงสัยในสิ่งที่โสคราติสรู้นั้นมีอะไรบ้าง เขาจึงตอบไปว่า “สิ่งที่เขารู้อย่างเดียว นั่นคือ เขารู้ว่าเขาไม่รู้อะไรเลย”
ขณะที่นักเขียนนักวิจารณ์ชาวอเมริกันอย่าง โจนาธาน รัสเซล คลาร์ก (Jonathan Russell Clark) ก็ยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็นกองดองตัวยง แต่สิ่งที่เขามองนั้นกลับต่างไปจากเอโค
คลาร์กนั่นเชื่อว่าการที่เขาชอบซื้อหนังสืออยู่จำนวนมาก (ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้อ่าน) นั่นเปรียบเสมือนการหาวัตถุดิบมาตุนไว้ใช้ เพราะหากเขายิ่งมีหนังสือมากเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เขารู้สึกเตรียมพร้อมและสร้างตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหนังสือที่มีอยู่นี้อาจจำเป็นต้องพึ่งพามันในช่วงเวลานั้นก็ได้ และจะเป็นเรื่องน่าเสียใจ หาก ณ ตอนนั้นเขาไม่ได้เลือกเก็บมันไว้ และนั่นอาจทำให้หนังสือเล่มนั้นหายจากเขาไปตลอดกาล
จากตัวอย่างข้างต้น เราพอจะเห็นประโยชน์จากกองดองในแง่มุมอื่น และแน่นอนว่ายังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้ชาวกองดองยังคงอยู่และเพิ่มมากยิ่งขึ้นในสังคมการอ่าน ชาวกองดองนั้นรู้ดีว่าโลกนี้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดอยู่มหาศาล
แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต่างมีเสรีภาพในการเลือกและตัดสินใจ!?! และโลกของหนังสือยังเป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้าไปแอบเร้นอิงอาศัย
ท้ายที่สุด การกระทำการกองดองยังคงเป็นกริยาสากลของ นักอ่าน เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นผ่านสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เราเรียกกันว่า ‘หนังสือ’
เลือกซื้อหนังสือเข้ากองดอง คลิก https://www.sm-thaipublishing.com/category/3755/special-set
งานหนังสือยังไม่จบ | วันนี้ - 31 ต.ค.
สั่งซื้อทาง Website รับส่วนลด 100.- บาท คลิกรับโค้ดที่หน้าแรก Website