Last updated: 3 พ.ย. 2563 | 9208 จำนวนผู้เข้าชม |
บางส่วนจากบทความชื่อ
"อะไรนะ? วรรณกรรมล้อ"
จาก วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 13
==========
ช่วงไม่กี่วันมานี้ อาจจะพอเห็นการจับเอาประเด็นต่างๆ ของการแสดงออกทางการเมืองมาใส่ในความหมายของการ 'bully' ซึ่งนับว่าเป็นอาการผิดฝาผิดตัวไม่น้อยที่เกิดการแปะป้ายในท่วงทำนองแบบนั้น เพราะการแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวไม่ใช่ 'พฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น' แต่อย่างใด ซึ่งหากหยิบจับสักคำมาใช้ก็เห็นจะเป็นการ 'ล้อเลียน' หรือ 'parody' ซึ่งน่าจะเหมาะควรกว่า
ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวถึง 'parody' หรือการ 'ล้อเลียน' ไว้ในบทสัมภาษณ์บทหนึ่งว่า
"...parody มันมีเป้าหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อคุณต้องการล้อเลียนอะไร นั่นก็หมายความว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เป็นเป้าที่คุณจะเข้าไปล้อมัน ไปกวนประสาทมัน [...] การ parody จำเป็นต้องมีเป้า และพอมีเป้าแล้วคนที่มันรู้ว่าเป็นเป้า มันก็ไม่มีความสุข..."
จะเห็นได้ชัดเจนว่า parody คืออีกหนึ่ง 'ปฏิกิริยา' ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้ใครก็ตามได้รับรู้ถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของผู้ล้อเลียน และแน่นอนว่า ผู้ถูกล้อเลียนก็ย่อมรู้สึก!!!
อย่างไรก็ตาม หากมองอย่างผิวเผิน การ parody อาจถูกป้ายให้ไปตกอยู่ในด้านลบมากกว่าด้านบวก แต่เมื่อลองพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว จะพบว่าการ parody เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากในงานสร้างสรรค์และงานศิลปะ โดยเฉพาะกับ 'โลกศิลปะ' จนถึงขั้นกล่าวกันว่า วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี หรืองานศิลปะชิ้นใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขอให้ดูจากงานที่สร้างขึ้นมาล้อเลียนผลงานเหล่านั้น หากงานชิ้นใดมีงานล้อเลียนมากกว่าหนึ่งชื่อขึ้นไปก็ขอให้เชื่อได้เลยว่า งานชิ้นนี้ได้เข้าไปอยู่ในใจของมหาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทีนี้เราจะมาดูกันว่า งานล้อเลียน (parody) คืออะไร? -- งานล้อเลียนหมายความถึงงานที่หยิบยืมเค้าโครง แนวคิด หรือเอกลักษณ์บางอย่างของงานสร้างสรรค์ชิ้นต้นแบบมาดัดแปลง ทำซ้ำในเชิงเสียดสี ยียวน หรือทำให้เป็นเรื่องน่าขบขัน
ในโลกภาษาอังกฤษ คำว่า parody ปรากฏขึ้นครั้งแรกๆ ในบทละคร Every Man in His Humour (1598) ของ เบน จอห์นสัน (Ben Johnson) ในประโยคที่ว่า "A Parodie, a parodie! to make it absurder than it was."
สำหรับงานล้อเลียนทางวรรณกรรม จะถูกเรียกว่า 'วรรณกรรมล้อ' ศัพท์นี้บัญญัติขึ้นโดยราชบัณฑิตยสถาน เพื่อใช้แทนคำว่า parody ในความหมายของงานล้อเลียนบทละคร กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น และข้อเขียนประเภทต่างๆ
นักคิด-นักวิจารณ์บางคนถือว่า วรรณกรรมล้อเลียนจัดเป็นแนววรรณกรรมประเภทหนึ่ง (literary genre) ที่เมื่อมันล้อเลียนวรรณกรรมแนวใด (หรือหนังสือเล่มใดแล้ว) ก็จะถือว่างานล้อเลียนชิ้นนั้นจะไม่เป็นวรรณกรรมแนวนั้น (ที่มันทำการล้อ) นอกเสียจากเป็น 'แนววรรณกรรมล้อ'
ตัวอย่างของวรรณกรรมล้อที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกก็เช่น Don Quixote de la Mancha (1605) ของ มิเกล เด เซรบันเตส หรือสำหรับในบ้านเราเอง ก็เช่น ระเด่นลันได ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งประพันธ์ขึ้นเพื่อล้อเลียนบทละครร้อง เรื่อง อิเหนา ฉบับพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352 - 2367)
อย่างไรก็ตาม นอกจาก parody แล้วยังมีคำอื่นๆ อีกมากมายที่จัดอยู่ในระนาบของ 'วรรณกรรมล้อ' ยกตัวอย่างเช่น
irony เป็นคำนาม หมายถึงความเสียดเย้ย-ยอกย้อนในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศ ก เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญของประเทศ ก ไม่มีบทบัญญัติข้อใดที่บ่งบอกถึงความมีสิทธิเสรีภาพ นอกเสียจากข้อห้ามต่างๆ นานา
satire หรือ 'เสียดสี' ซึ่งถูกจัดให้เป็นการเสียดสีล้อเลียนสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในเวลานั้นนั่นเอง
หากผู้อ่านสนใจในประเด็น 'การล้อเลียน' ในทางศิลปะ วรรณกรรม และสังคม แบบจัดเต็ม เราขอแนะนำอ่านเพิ่มเติมใน วารสารหนังสือใต้ดิน หรือ Underground Buleteen เล่ม 13
เพื่อที่เราจะกล้าที่จะรู้ และแน่นอน กล้าที่จะล้อ (เลียน)!!
อ่านฉบับเต็ม เพียงคลิกสั่งซื้อ วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 13
==================
สนพ.สมมติ ผลิตงานวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง หากสนใจเรามีจัดชุดหนังสือราคาพิเศษ
คัดเน้นๆ มาให้ผู้อ่านเลือกสรรกันอย่างครบรส
คลิกเลือกซื้อได้ที่ https://www.sm-thaipublishing.com/category/3755/special-set
รวมทั้งหนังสือแปล / วรรณกรรมคลาสสิค / วรรณกรรมไทย
โปรดอย่ารอช้า หนังสือบางเล่มเหลือจำนวนจำกัด
หนังสือดี! ราคาโดน! ที่ผู้อ่านไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!!!
==================
วารสารหนังสือใต้ดินเล่มอื่นๆ ที่มีจำหน่าย
บางเล่มเหลือในคลังไม่มาก --- หมดแล้วหมดเลย...และอาจต้องรออีกนาน
คลิก
https://www.sm-thaipublishing.com/product/28266-25784/set-ub-11
https://www.sm-thaipublishing.com/product/23488-19278/set-ub-4