ภาณุพงศ์ เชยชื่น | จงเฉลิมฉลองให้กับยุคสมัยสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาช้านาน

Last updated: 20 ต.ค. 2563  |  2318 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาณุพงศ์ เชยชื่น | จงเฉลิมฉลองให้กับยุคสมัยสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาช้านาน

การชุมนุมในวันเสาร์กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ที่บริเวณท้องสนามหลวงเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่าย เมฆมัวสีเทาอุ้มน้ำลอยค้างอยู่บนฟ้ายาวนานเป็นวันเป็นคืน ฝนจึงโปรยปรายอยู่แบบนั้นตลอดทั้งบ่าย เป็นเวลากี่เดือนกี่ปีกันแล้วหลังจากสนามหลวงได้ทำการปรับปรุงแล้วตั้งแผงกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าออก มีก็แต่พระโคและราชวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้งานสถานที่แห่งนี้

แม้จะครึ้มฟ้าครึ้มฝนเพราะร่องมรสุม แต่ผู้คนก็ทยอยกันออกไปอยู่ดี เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งการบริหารและการใช้อำนาจ ฝังรัฐบาลประเมินจำนวนผู้ชุมนุมไว้ที่หลักหมื่น แต่ยอดก็แตะที่หลักแสน ภาพบรรยากาศของการชุมนุมประท้วงแพร่กระจายไปตามสื่อออนไลน์ ทั้งจากส่วนตัวหรือสื่อมวลชน ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือเห็นต่าง แต่ข่าวสารนี้มันก็เดินทางมาหาเราตรงหน้าอยู่ดี เพราะนี่เป็นอีกยุคสมัยหนึ่งไปแล้ว เราไม่ต้องตื่นแต่เช้า ปั่นจักรยานไปตลาด สั่งกาแฟไข่ลวก นั่งเปิดหนังสือพิมพ์ประจำวัน ดูข่าวสารบ้านเมือง ซึ่งข่าวสารที่ได้อ่านของวันนี้มันก็คือข่าวสารจากอดีตของเมื่อวาน

บ่ายวันเสาร์เดียวกันนั้นเอง ไกลออกไปจากท้องสนามหลวง ห่างออกมาจากม็อบของผู้ชุมนุม จนมาถึงอำเภอเล็กๆ ของต่างจังหวัด ผมกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติก ภายในหอประชุมประจำอำเภอ นั่งรอคิวสัมภาษณ์งานที่จัดจ้างโดยหน่วยงานราชการ แบ่งแถวนั่งตามตำบลของผู้เข้ารับสมัคร จำนวนผู้สมัครทั้งหมดน่าจะราวๆ หนึ่งร้อยสิบถึงหนึ่งร้อยยี่สิบคน ตำบลของผมมีคนสมัครจำนวนสิบสองคน ไม่มาเสียหนึ่งคน ผมได้คิวสัมภาษณ์คนที่สิบเอ็ด เป็นคิวสุดท้ายของการสัมภาษณ์ และนั่นคือความผิดพลาดทางเวลาที่ผมไม่รู้ตัว และผมจะเริ่มรู้ตัวเมื่อผ่านการรอไปราวสิบห้านาที ว่าวันที่ยาวนานกำลังรออยู่ตรงหน้า

ผมคาดการณ์ผิด หลังสอบข้อเขียนช่วงเช้า กฎระเบียบในการสมัครบอกคร่าวๆ ไว้ว่าจะมีการสัมภาษณ์ในช่วงบ่ายโมงตรง แต่ไม่ได้ระบุว่าลำดับการสัมภาษณ์คือแบบไหน เจ้าหน้าที่คุมสอบช่วงเช้าไม่มีใครบอกอะไรไว้ ผมก็นึกเอาเองว่าคงเรียกสัมภาษณ์ตามลำดับคิวที่มายื่นใบสมัคร ซึ่งผมได้คิวคนที่แปดสิบสี่ นั่นคือความผิดพลาดที่มาจากการนึกเอาเอง เมื่อผมไปถึงหอประชุมอำเภอในเวลาเที่ยงสี่สิบห้า พวกเขาได้รับบัตรคิวกันไปหมดแล้ว โดยแบ่งตามตำบล จากนั้นจะทยอยเรียกผู้สมัครไปทีละตำบล โดยแบ่งเป็นสามห้องสัมภาษณ์ ตำบลจะถูกควบรวมเป็นโซนๆ ไป ถ้าตำบลไหนมีคนสมัครน้อย ก็จะเสร็จเร็ว แต่ตำบลที่มีคนสมัครระดับสิบคนขึ้นไปกว่าคนที่มีคิวลำดับห้าจะถูกเรียกสัมภาษณ์เวลาก็ล่วงไปบ่ายสามโมงเสียแล้ว

วันนั้นผมรอจนถึงเกือบๆ ห้าโมงเย็น ผมถึงได้เข้าห้องสัมภาษณ์

ตลอดบ่ายนั้น ผมไม่ได้ลุกไปไหน ได้แต่นั่งบิดตัวไปมาอยู่บนเก้าอี้ ก็เหมือนเช่นที่ท้องสนามหลวง มีฝนตกปรอยๆ แล้วก็หยุด เมฆมัวยังอยู่เต็มฟ้าจนถึงเย็น บางช่วงฝนก็ตกลงมาหนัก จนเจ้าหน้าที่ต้องเดินมาปิดประตูบานเฟี้ยมเพื่อไม่ให้ฝนสาดเข้า ถึงอากาศจะเย็นจากกลุ่มเมฆฝน แต่ว่าไอน้ำฝนมันก็ก่อให้เกิดความอบอ้าวภายในหอประชุมเช่นกัน ผู้สมัครหลายคนดูเหมือนจะเป็นเพื่อนที่ชักชวนกันมาสมัคร หรือไม่เพราะเขาเป็นหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาจึงจับกลุ่มคุยกันขณะรอ การรอนี่สำคัญ คำนี้มีความหมายว่า เป็นเวลานาน ดังนั้นพอถึงบ่ายสองโมง ผมจึงตั้งใจนั่งหลับเพื่อรอ เพราะดูแล้วไม่มีทีท่าว่าผมจะถึงคิวสัมภาษณ์ได้ง่ายๆ ทีแรกนั้นตามความเคยชินผมก็ได้หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมานั่งเล่นฆ่าเวลา แต่ว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งสวมเครื่องแบบทหารมาบอกว่าให้งดใช้เครื่องมือสื่อสาร ห้ามเล่นขณะรอ แต่เวลาไม่นาน ผู้สมัครหลายคนก็ไม่มีใครสนใจคำสั่งห้ามนั้น เขาก็ได้แอบนั่งเล่นโทรศัพท์ของตนเองกันไป หลังจากผลัดกันเข้าห้องน้ำห้องท่าแล้ว เมื่อต้องรอเฉยๆ จึงไม่มีใครทนได้นัก ผมเองก็หยิบขึ้นมาเปิดดูภาพข่าวการชุมนุมอยู่เนืองๆ ในขณะที่น้องผู้หญิงคนที่นั่งแถวหน้า เธอก็ได้โพสต์ท่าถ่ายรูป ส่งไปให้แฟนดูขณะแชทข้อความกัน

พอสี่โมงเย็น เจ้าหน้าที่ก็บอกให้ทุกคนออกจากหอประชุม ตอนนั้นผมนึกว่าเขาคงจะเปลี่ยนวิธีการสัมภาษณ์เพื่อความรวดเร็วกว่าเดิม ก็สี่โมงเย็นมันใกล้เวลาเลิกงานของราชการเข้าไปเต็มทีแล้ว ผมนั่งดูหน้าปัดนาฬิกาที่ติดอยู่ภายในหอประชุมอยู่เนืองๆ แล้วผู้สมัครที่เหลือก็พากันลุกเดินไปพร้อมๆ กัน

แล้วผมก็คิดผิด เขายังคงวิธีการสัมภาษณ์ไว้แบบเดิม แค่เปลี่ยนที่นั่งรอมาเป็นหน้าอำเภอ ห้องสัมภาษณ์อยู่บนชั้นสอง เราก็ยังคงต้องมานั่งรอ แล้วเมื่อถึงคิวเรียกให้ลุกขึ้น เราก็เดินขึ้นบันไดไปชั้นสอง เจ้าหน้าที่ก็จะชี้ไปที่เก้าอี้นั่งรอหน้าห้องสัมภาษณ์ที่ว่างอยู่ โดยมีผู้สัมภาษณ์นั่งรอคิวอยู่สามคน ซึ่งเราก็ต้องรอต่อไปจนกว่าจะถึงคิวตัวเอง น้องผู้หญิงผมสั้นคิวก่อนผมนั้น เธอกลับไปก่อนแล้วหลังสี่โมงเย็นไม่นาน ขณะเปลี่ยนที่นั่งรอมาเป็นหน้าอำเภอ เธอก็ลุกออกไปคุยโทรศัพท์แล้วก็ไม่ได้กลับมานั่งรอสัมภาษณ์อีก เมื่อเห็นดังนั้น ในตอนที่ผมนั่งรออยู่หน้าห้องสัมภาษณ์ ผมเริ่มคิดว่า ‘จะหนีกลับบ้านไปตอนนี้เลยดีไหม’ แต่ก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วรอต่อไปเถิด เข้าไปสัมภาษณ์เสียแล้วรับรู้ถึงระบบราชการตรงนี้ แม้ว่ามันจะเป็นเพียงปากทางเข้าก็ตาม ตอนนั้นผมคิดว่าคนที่ทำงานในระบบราชการได้นี่ช่างเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่งอะไรเยี่ยงนี้

อีกห้านาทีก็ครบสี่ชั่วโมงเต็มแห่งการรอ ผมก็ได้เข้าไปสัมภาษณ์เสียที แต่ผมไม่เหลือพลังใดๆ อีกแล้ว ผู้สมัครก่อนหน้าผมคือน้องกะเทยผมยาวร่างใหญ่ มาในเชิ้ตขาวกับกางเกงสแล็คสีดำ ขณะผมนั่งรอหน้าประตูห้อง ผมได้ยินเสียงหัวเราะครืนๆ ดังเป็นระยะออกมาจากภายในห้อง น้องกะเทยแกคงมีลีลาการพูดคุยที่สนุกสนาน จึงทำให้บรรยากาศภายในครื้นเครง เมื่อผมเข้าไปเป็นลำดับถัดไป บรรยากาศก็พลิกกลับเป็นความนิ่งงัน อารมณ์สนุกสนานจางหางไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ลุงข้าราชการทั้งสามยังมีท่าทีกระตือรือร้นอยู่ นั่นมันสี่ชั่วโมงเต็มๆ เลยนะ พวกแกไปเอาเรี่ยวแรงกำลังวังชามาจากไหนกัน หรือเพราะนี่คือระบบที่แกคุ้นเคย แกอยู่กับมันมาค่อนชีวิต รับมือกับมันได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่รู้สึกถึงความผิดปรกติใดๆ เช่นคนนอกแบบผม ดูพวกแกสนใจทุกคำพูดของผมเสียด้วย แต่ว่าผมก็หมดพลังไปเสียแล้ว เมื่อกลับถึงบ้าน ผมเผลอหลับไปตามหัวค่ำ แล้วตื่นขึ้นมาตอนดึก กว่าจะนอนอีกรอบก็เข้าตีสองไปแล้ว พอถึงวันอาทิตย์ผมก็ยังคงหมดแรงตลอดทั้งวัน

สิ่งที่ดูดพลังงานผมไปจนหมดเกลี้ยงก็คือการจัดสรรเวลาของระบบราชการ

พวกเขาไม่แคร์เวลาในชีวิตของผู้คนเลย จนผมนึกสงสัยว่าพวกเขาได้ทำเวลาชีวิตในคนอื่นตกหล่นไปกี่มากน้อยแล้ว เมื่อรวมๆ กันเข้ามันน่าจะเป็นร้อยปีเลยหรือเปล่า

ผมคิดว่าพวกเขาไม่เสียดายเวลาของประชาชนคนทั่วไปเท่าไหร่

ในวันยื่นใบสมัครหลังจากวิ่งวุ่นเรื่องเอกสารทั้งหลาย เมื่อถึงตอนไปกรอกใบสมัคร ผมก็โดนเจ้าหน้าที่ไล่กลับบ้านเพราะว่าลืมพกปากกาไปด้วย พร้อมบอกว่าผมไม่มีความพร้อม จงนำใบสมัครกลับไปกรอกที่บ้านเสีย แล้วมายื่นใหม่ในวันจันทร์ ตอนนั้นคือวันศุกร์ ต้องรออีกสี่สิบแปดชั่วโมงต่อมา จึงกลับไปยื่นใหม่ได้

และก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีก่อน ผมเคยได้ไปติดต่อหน่วยงานราชการในตัวจังหวัด เป็นกิจธุระหลังเกษียณของแม่ ซึ่งได้ลืมนำสำเนาทะเบียนบ้านไปด้วย แต่ว่าเครื่องแฟกซ์ที่ส่งเอกสารตามมาตัวหนังสือมันไม่ชัด ในตอนนั้นผมคิดว่าถ้าถ่ายรูปแล้วส่งทางไลน์ล่ะ ค่อยปรินท์ออกมา น่าจะใช้ได้เหมือนกัน ขณะที่ให้น้องธุรการซึ่งเป็นลูกจ้างรัฐทำตามอยู่นั้น ป้าแก่ซึ่งมีตำแหน่งใหญ่สุดในห้องนั้นก็ได้เหลือบมอง แล้วบอกว่า ‘ยุ่งยากวุ่นวายแบบนี้ กลับไปบ้านแล้วค่อยมายื่นพรุ่งนี้เถิด’

นั่นคือช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีของประเทศคือนายทหารที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร แล้วแกชอบพูดติดปากเรื่อง ‘ไทยแลนด์4.0’ มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดูโก้หร่าน ให้ความรู้สึกถึงการพัฒนาเท่าทันโลก นัยว่าเราก็ทันเขานะ ไม่ได้ตกขบวนนะ แต่ในความเป็นจริงวันนั้น ป้าแก่ผู้มีตำแหน่งแกคงโหลดเวอร์ชั่นค้างคาที่ 2.5 หรือ 3.0 ยังไม่ถึง 4.0 กระมัง แต่ก็ผ่านพ้นด้วยดีจากความช่วยเหลือของลูกจ้างรัฐ มิใช่ผู้มีตำแหน่งในระบบ ซึ่งถ้าผมบ้าจี้กลับบ้านแล้วค่อยมาอีกวัน เวลาชีวิตก็จะหายไปยี่สิบสี่ชั่วโมง แล้วถ้ามานั่งนึกย้อนถึงยุคเก่าก่อนที่มีคำติดปากว่า ‘สมัยที่บ้านเมืองยังดีอยู่’ นั้น การเดินทางของผู้คนไม่ได้สะดวกเฉกเช่นทุกวันนี้ ถนนหนทาง รถรา การจะเข้ามาติดต่องานราชการแต่ละครั้ง เสียเวลาไปเป็นวันๆ

เหล่านี้จึงเป็นมูลเหตุในใจเรื่องการจัดสรรเวลาของระบบราชการ ซึ่งนับแต่จำความได้จนเกือบสี่สิบปีของชีวิต ผมไม่เคยเห็นใครกล่าวชื่นชมการทำงานของระบบราชการเลย แล้ววันหนึ่งระบบราชการและข้าราชการก็กลับมาเรืองอำนาจขึ้นอีกครั้งจากการรัฐประหารในปี 2557 แน่นอนว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งชื่นชมนายทหารหาญข้าราชการเหล่านี้ที่ได้กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง ในขณะที่เวลากำลังฟูมฟักคนอีกรุ่นให้เติบโตมากับสื่อใหม่ จนเกิดวิธีคิดและการตั้งคำถามต่อระบบระบอบเก่า การเชิดชูความดีงามของสิ่งเก่าๆ รวมถึงการเป็นตัวแทนของคนดี เป็นร่างสมมติของความดีงาม จึงถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน เมื่อประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในอดีตถูกนำกลับมาอ่านใหม่และตีความอีกครั้ง การจะบังคับให้เชื่อง่ายๆ จึงไม่ง่ายอีกต่อไป ภาพฝันสวยงามของชีวิตยุคเก่าจึงเป็นสิ่งที่มีแต่ในละครทีวี ความสุขจากละครย้อนยุคเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ไม่มีใครจะออกไปตากแดดใส่ชุดไทยถ่ายรูปในเมืองกรุงเก่าไปได้ตลอดกาลนานหรอก

ยุคสมัยแห่งความอลหม่านที่ได้เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา มันแบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝ่าย ความคิดความเชื่อต่างกัน และเกลียดชังกันจริงๆ ต่อให้ข่าวทีวีนำเสนอเรื่องคนรวันดาฆ่ากันเองออกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าแค่ไหน ผู้คนก็จ้องจะฆ่ากันจริงๆ นั่นแหละ และความตายที่เกิดก็ไม่ถูกแยแสแต่กลับถูกลบทิ้งไม่ให้อยู่ในการรับรู้ ถึงจะเบียดแทรกเข้าไปอยู่ในความจำ มันก็ต้องเป็นความจำที่เฉยชา

“คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ที่เอ่ยอ้างกันบ่อยในประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา ก็มีความหมายสองด้าน อย่างที่เหมือนๆ กับในประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป ปฏิวัติก็คือรัฐประหาร คือการต่อสู้โค่นล้มอำนาจในระหว่างคนต่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ ซึ่งได้ลามเลยไปถึงประชาชนธรรมดาในไร่นาในชนบท ตั้งแต่เกิดทุกคนก็ถูกจับแยกสีแยกพรรคกันแล้ว และบางครั้งก็ถูกสอนให้จับอาวุธเพื่อฆ่าฟันคนในหมู่บ้านเดียวกันเอง หรือคนท้องถิ่นเดียวกันเองที่เพียงแต่ถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพ ‘สถาบัน’ “

กรรณิกา จรรย์แสง  |  
สัญญาเลือด - รวมเรื่องสั้นลาตินอเมริกัน, 2523

ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น วิธีการหนึ่งที่คู่ขัดแย้งกระทำต่อกันนั่นคือ การลดทอนคุณค่าความคิดของฝ่ายตรงข้าม คำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อในระบอบเดิมถูกทำให้กลายเป็นสิ่งไร้สาระ เพราะว่าการรับฟังความเห็นต่างมันยาก การเหยียดหยามและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมันทำง่ายกว่า ในแง่หนึ่งคนที่ไม่เคารพผู้อื่นก็คือคนที่ไม่เคารพของมีอยู่ของตัวเองเช่นกัน การลดทอนคุณค่าของคนอื่นก็คือการวางตัวเป็นผู้ประเมินคุณค่า ไม่ว่าจะการเมืองหรือศิลปะก็มักจะมีผู้ประเมินเฉกเช่นกัน แม้ว่าการเมินคุณค่าของสิ่งต่างๆ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ว่ามันกลับกลายเป็นการผูกขาดแทนที่จะเป็นการยอมรับการมีอยู่ของความหลากหลาย ก็คงเพราะมันยาก ทั้งในทางความคิดหรือความรู้สึก

เนิ่นนานมาแล้ว วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ถือเป็นยอดปรารถนาของนักเขียนไทยมาช้านาน อาจจะเป็นเพราะความแปลกพิสดารของมัน ความหวือหวาพันลึกดูเป็นสิ่งน่าสนใจ งานเขียนรูปแบบนี้จึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจในหมู่นักเขียนและนักอ่าน บ้างก็ว่าสภาพสังคมบ้านเรามีความสอดคล้องต้องกันกับดินแดนลาตินอเมริกา แต่งานแนวหนึ่งๆ นั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มันถูกหล่อหลอมจากองค์ประกอบต่างๆ


“โดยทั่วๆ ไปแล้วผมคิดว่าวรรณกรรมดูจะเจริญงอกงามมาจากสภาพความเป็นจริงที่อยู่ห่างไกลออกไปหรือไม่ก็จากประสบการณ์ในอดีต มากกว่าที่จะมาจากเหตุการณ์ปัจจุบัน บางครั้งงานเขียนยังเป็นการกลบเกลื่อนความเข้าใจผิดบางประการที่มีต่ออดีตอีกด้วย ส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลับเป็นตัวกระตุ้นผลักดันน้อยและผันแปรไม่คงที่เกินกว่าที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนนวนิยายที่มีเนื้อหาของ ‘เหตุการณ์ปัจจุบัน’ นั้นมักจะอยู่ได้ไม่นาน”

บทสัมภาษณ์ มาริโอ วาร์กัส โยซา  |  สัญญาเลือด - รวมเรื่องสั้นลาตินอเมริกัน, 2523


จะมียุคสมัยไหนเล่าที่องค์ประกอบในงานแบบสัจนิยมมหัศจรรย์จะถึงพร้อมเท่ากับยุคนี้

จะผีสางเทวดา ไสยศาสตร์ ทุนนิยมผูกขาด บรรษัทใหญ่ ล้วนมีครบอยู่แล้ว ขาดก็แต่อำนาจเผด็จการทหารซึ่งช่วงทศวรรษ พ.ศ.2540 อาจจะดูเลือนๆ ไป โดยไปโฟกัสกับเผด็จการรัฐสภาแทน แต่เมื่ออยากได้สิ่งไหน กฎแห่งจักรวาลก็จัดให้ตามความเหมาะสม เผด็จการก็กลับมาอีกครั้งและได้การต้อนรับเป็นช่อดอกไม้ และกลับมาอีกครั้งจากเสียงเป่านกหวีด พร้อมคำรับรองว่าจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติชาติอย่างมีธรรมาภิบาล

ตัวละครสำคัญพร้อมแล้ว แต่ไม่ง่ายเลยที่จะเขียนเรื่องออกมาได้ ผมเชื่ออย่างที่บาร์กัสโยซาบอก การย่อยอดีตออกมาเป็นเรื่องเล่าทำได้ง่ายกว่าย่อยเหตุการณ์ปัจจุบันตรงหน้า ทั้งที่เวลาก็ผ่านมาหลายปีแล้ว โดยส่วนตัวความอยากอ่านนิยายของผมจะลดลงถ้าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ เข้มข้นสูง ความอยากอ่านประวัติศาสตร์หรือบทความวิชาการจะมีมากกว่า

อีกอย่างที่แม้ตัวละครสำคัญและฉากหลังของประเทศจะครบองค์ แต่การเขียนงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ออกมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเหตุการณ์จริงที่เห็นตรงหน้ามันเหนือจริงไปกว่าจินตนาการของนักเขียนไปแล้ว

เมื่อความเป็นจริงมันทำให้จินตนาการจืดชืด นักเขียนก็เบื้อใบ้ไปเท่านั้นเอง แบนเนอร์รูปเช เกวาร่าที่แปะไว้บนเฟซบุ๊กมาเนิ่นนานอาจจะปลุกพลังกบฏให้วูบขึ้นมาบ้าง แต่ชั่วเดี๋ยวเดียวภาพข่าวนายกรัฐมนตรีตรงหน้าก็คงสร้างความอึ้งจนลืมจิตวิญญาณเร่าร้อนที่มี เพราะกิริยาหลุดโลกต่างๆ มันเป็นสิ่งที่ถึงแม้จะคิดแต่คงไม่มีใครเขียนออกมาจริงๆ ถึงเขียนออกมาก็คงกลายเป็นแนวชวนหันกันไป ทั้งที่มันคือสัจนิยมมหัศจรรย์ของแท้ แปลกใหม่ และถูกผลิตขึ้นโดยปราศจากจริตเรื่องเล่าตามขนบวรรณกรรม เอาแค่ภาพข่าวการพบปะคนดังในสาขาต่างๆ ทั้งนักแสดง นักร้อง นักกีฬา หรือการหยอกเอินกับสื่อมวลชน นักเขียนก็สามารถนำไปบรรยายเป็นฉากตอนในนิยายได้หลายหน้าแล้ว แต่จะมีใครทำอย่างนั้นได้เล่า ก็ในเมื่อมันเป็นเหตุการณ์จริงที่เหนือจริงในตัวเองอยู่แล้ว จนกว่ามันผ่านไปนานพอนั่นแหละ เราถึงจะหยิบจับมาเล่าต่อได้

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นยุคสมัยที่เหตุการณ์จริงจะไม่มีความเกรงใจจินตนาการอีกต่อไป
น่าจะเป็นงานหนักของนักเขียน เมื่อผู้มีอำนาจยึดกุมความจริงเอาไว้กับตัวโดยไม่ต้องกริ่งเกรงอะไร เขาจะนำเสนอและบิดเบือนมันอย่างไรก็ได้ โดยความมุ่งหมายที่อาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นแต่เพียงการรักษาโลกเก่าที่มีความคิดความเชื่อเดิมว่ายวนอยู่ในนั้น ข้อสงสัยและการตั้งคำถามต่อผู้ที่ยึดกุมความเป็นจริง ของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่การล่วงละเมิด แต่เป็นเรื่องพื้นฐาน เมื่อเวลาเคลื่อนไปและยุคสมัยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เมื่อถึงเวลาหนึ่ง แนววรรณกรรมหนึ่งก็จะเกิดขึ้นจากสังคมที่มันสังกัด และทุกคนต่างก็มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง ผ่านมากี่ร้อยปีกัน หลังจากการเขียนแบบใหม่กำเนิดขึ้น เมื่อเราไม่ต้องเขียนรับใช้เทพเทวดา ขุนนาง พระมหากษัตริย์ ศาสนา ความเชื่อ ศีลธรรม ความดีงาม อีกต่อไป เราเพียงเขียนถึงความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เขียนอย่างเคารพการมีอยู่ของตัวเอง และเคารพในการมีอยู่ของผู้อื่น

============

สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา

ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ

// Set เรียนรู้การเมืองไทย //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด //
// Set บทสรุปทางความคิดของนักคิดระดับโลก //
// Set เข้าใจการเมือง เข้าถึงประชาชน // 

==============================

บทความที่คุณน่าจะชอบ

คณะราษฎร 2475 | โหลดฟรี 10 บทความ /

รัฐประหารไทย | รวม 10 บทความสุดเข้ม /
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ / 
ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984 /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /

==================

เสื้อยืดแนะนำสำหรับราษฎรทั้งหลาย ราคาเดียวกัน

1. เสื้อศรัทธา




2. เสื้อคณะราษฎร





3. เสื้อยืด 2475  | 
สกรีนลาย 2475 : Democracy Dies [?] 




4. เสื้อยืด The Code 

= = รุ่นนี้มีตำหนิ บางตัวเลขหาย?! = =




5. เสื้อยืดไม่ไว้วางใจ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้