Last updated: 23 ธ.ค. 2567 | 200 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำความรู้จัก เอฟิล (EFIL) ผ่านบทเกริ่นนำในเล่ม
โดย วิภา วัฒนไพบูลย์
ณ วินาทีที่การเดินทางระหว่างข้าพเจ้ากับ EFIL (ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ในสถานะร่างต้นฉบับที่ยังรอการแก้ไขปรับปรุง) สิ้นสุดลง เสียงแรกที่ก้องกังวานขึ้นในโสตประสาทข้าพเจ้าก็ดังขึ้น “กลิ่น Lax อวลหายเป็นระยะ.. ลึก ตื้น ยาก ช้า ซ้ำ เวียนวน รูปเป็นนาม นามเป็นรูป สถิตใน สถิตนอก เงียบเป็นระยะ ดังบางจังหวะ คำสองสามสี่คำทว่าเดินทางไร้จุดสิ้นสุด ฯลฯ” ในขณะที่เสียงแรกอันยาวนานยังมิทันลาลับจางหาย เสียงที่สองก็ดังก้องรดต้นคอตามมาติดๆ “อืมม... แม้การเขียนคำในรูปลักษณ์นี้จะมิใช่ของใหม่... แต่ถึงที่สุดแล้วเนื้อหาในเล่มก็ส่งกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและน่าดึงดูดใจที่สำคัญหลายชิ้นในเล่มดูคล้ายจะส่งเสียงเพรียกเชื้อเชิญผู้อ่านให้มาลองประลองปัญญากันดูสักตั้งอะไรประมาณนั้น”
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณครึ่งปีที่แล้ว คุณรัฐพลได้ไหว้วานให้ข้าพเจ้าช่วยเขียนอารัมภบทสั้นๆ เกี่ยวกับ EFIL เพื่อจุดประสงค์คืออย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการแนะนำหรือปูทางให้ผู้อ่านได้สามารถจับคลำ (กล่าวคือให้สามารถเห็นภาพอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหนังสือ) ได้บ้างโดยไม่ไถลไปไกลจนเข้ารกเข้าพงหรือไม่ผิดฝาผิดตัวมากจนเกินไปนัก
แต่...ครั้นการจะบอกท่านผู้อ่านราวจะอบรมสั่งสอนว่าหนังสือเล่มนี้คืออะไรหรือมีธรรมชาติเป็นอย่างไรก็คงไม่เข้าท่าเข้าทีสักเท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ทั้งหมดล้วนเป็นความเข้าใจจากภาคประสบการณ์ของข้าพเจ้าเองที่มีต่อบทกวีสไตล์ (ประมาณ) นี้แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนตัวข้าพเจ้าขอนิยามหรือเรียกบทกวีชนิดนี้ (เช่น EFIL ที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือเล่มนี้) ว่า ‘สารัตถกวีนิพนธ์’ (minimal poetry) หรือถ้ากล่าวเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ กวีนิพนธ์ประเภทที่น้อยคำแต่มากความนั่นเอง
ว่ากันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม บทกวีของคุณรัฐพลพาให้ข้าพเจ้านึกไปถึงบทกวีของ Robert Lax (กวีชาวอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งอุทิศภาคใหญ่ของชีวิตให้กับการเนรเทศตนเองไปอยู่บนเกาะคาลิมนอส ประเทศกรีซ อย่างโดดเดี่ยว) จริงๆ (แม้ว่าถ้าเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์จะเห็นว่าแตกต่างกันโขก็เถอะ) กล่าวคือบทกวีของคุณรัฐพลมีองค์ประกอบบางประการที่ทำให้ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงห้วงภวังค์บางห้วงเมื่อครั้งอ่านบทกวีของ Lax ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้นที่ปรากฏขึ้นในงานเขียนของคุณรัฐพลก็เช่น ‘ความเรียบง่าย’ (simpleness) ‘ภาวะให้ไตร่ตรองใคร่ครวญ’ (contemplative) ‘ความเป็นเอกภาพระหว่างภาพและความคิด’ (unity between the image and idea) ‘ความเป็นหนึ่งเดียวของวัตถุประสงค์ (ในตัวบทกวีที่มีต่อความเป็นกวีนิพนธ์)’ (singleness of purpose) และ/หรือ ‘ความเป็นกลางหรือภาวะความไม่ฝักใฝ่น้อมรับความจริงใด’ (disinterestedness) [ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ Paul J. Spaeth (ผู้ดูแลหอจดหมายเหตุ Lax แห่งมหาวิทยาลัย St. Bonaventure) เคยกล่าวสอดแทรกไว้ใน A Thing That Is (งานเขียนของ Lax เมื่อปี 1997 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ The Overlook) ว่าถูกแฝงอยู่ระหว่างบรรทัดในงานเขียนต่างๆ ของ Lax เช่นเดียวกัน]
ในขณะที่ถ้ามองเฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวเรื่องราวของบทกวี -- EFIL นั้นดูจะรุ่มรวยไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมักแสดงตนอย่างชัดเจนว่ามีความเป็นปรัชญา มีความอารมณ์ขันทว่าเคร่งขรึม มีสายตาของความ innocent (หรือความเป็นเด็ก) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความตลกร้ายอ่อนๆ ซุกซ่อนอยู่ในคราบความรู้และความจริงที่ไม่เคยพยายามวางสถานะตนเองให้เป็นกลาง หากเป็นกลางโดยธรรมชาติของตัวมันเอง [เพิ่มเติมคือระหว่างบรรทัดของบทกวีมักมีสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ภาวนาคอยสอดแทรกสะท้อนก้องกังวานหนักเบาอยู่ตลอด]
ทีนี้คำถามต่อมา (ซึ่งจะว่าไปอาจสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้) คือผู้อ่านควรคาดหวังสิ่งใดจาก EFIL? คำตอบของข้าพเจ้าก็เช่นเดิม (กล่าวคือข้าพเจ้าคงไม่กล้าก้าวล่วงไปอบรมสั่งสอนอะไรท่าน) อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเพียงมองว่ากวีนิพนธ์หรืองานประเภทนี้เป็นงานที่เรียกว่าจะย่อยง่ายก็ใช่ หรือจะว่าย่อยยากก็ยิ่งใช่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้เสมอว่าผู้อ่านอาจ เห็น/ไม่เห็น เข้าใจ/ไม่เข้าใจ หรือ ตระหนักถึง/ไม่ตระหนักถึง สิ่งใดเลยก็ได้ (ต่อให้จะพลิกหน้ากระดาษอ่านสักกี่รอบกี่เรื่องแล้วก็ตาม) ซึ่งกุญแจสำหรับนัยตรงนี้คือต้องขึ้นอยู่กับขอบฟ้าประสบการณ์ว่าด้วยการอ่านของผู้อ่านเท่านั้นเป็นสำคัญ
สุดท้ายที่จะเล่าสู่กันฟังก็คือ งานกวีนิพนธ์ประเภทสารัตถศิลป์มักมาคู่กับความคิดเชิงนามธรรม (คู่กันประหนึ่งผีเน่ากับโลงผุอย่างไรอย่างนั้น) ซึ่งตัวคุณรัฐพลเอง ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าได้เดินอยู่บนหนทางแห่งความคิดสกุลนี้มาเป็นระยะทางประมาณหนึ่ง (และก็ยังคงย่ำเดินอยู่ต่อ) ดังนั้นความกังวลในเบื้องต้น (ถ้ามี) ที่ว่าบทกวีหรือข้อความต่างๆ ที่จัดเรียงอยู่ใน EFIL อาจจะมาจากความคิดที่ไม่คงรูป ย้อนแย้งสะเปะสะปะ จับแพะชนแกะ หรืออะไรก็ตามที่แสดงถึงความขาดไร้ซึ่งภาวะแห่งความเป็นเอกภาพและความสมดุล ข้าพเจ้าจะขอแนะว่าให้สลัดความกังวลนั้นทิ้งไปได้เลย และท้ายที่สุด (จริงๆ) ถ้าจะให้ข้าพเจ้าชี้แนะเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ EFIL อีกสักเรื่องสองเรื่อง ข้าพเจ้าคงขออนุญาตกล่าวว่า “พอ!” และไปเริ่มต้นอ่านกันได้แล้ว (ฮา)
วิภา วัฒนไพบูลย์
กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
จาก 'บทเกริ่นนำ' ในเล่ม
เอฟิล (EFIL)
สารัตถกวีนิพนธ์
รัฐพล เพชรบดี : เขียน
วิภา วัฒนไพบูลย์ : บทเกริ่นนำ
พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น : บทกล่าวตาม
เอกสิทธิ์ เทียมธรรม : บรรณาธิการเล่ม
DESIGN | สมมติ STUDIO | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2567
ความหนา 180 หน้า
ราคาปก 200 บาท
ISBN 978-616-562-073-4
สั่งซื้อหนังสือ คลิก
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563