Last updated: 20 ก.ค. 2563 | 3602 จำนวนผู้เข้าชม |
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เอ็ดเวิร์ด เบลลามี (Edward Bellamy) เขียนเรื่อง “มองกลับ” (Looking Backward) ในฐานะนวนิยายแฟนตาซีโรแมนติคที่อาจหาญพยากรณ์จุดสิ้นสุดของศตวรรษของตนว่าจะออกมาในรูปแบบใด และน่าแปลกที่เบลลามีซึ่งเป็นคนในศตวรรษที่ 19 คาดการณ์บางอย่างได้
หนังสือ มองกลับ หรือ Looking Backward เล่มนี้เคยได้ชื่อว่าเป็น '1 ใน 3 นวนิยายที่ขายดีที่สุด' ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ 'กระท่อมน้อยของลุงทอม' (Uncle Tom’s Cabin) และ 'เบนเฮอร์' (Ben Hur) ทั้งยังยืนหยัดอยู่ในตลาดหนังสือของอเมริกามานานนับร้อยปีแล้ว
ความน่าสนใจที่สุด ก็คือการที่ 'มองกลับ' พูดถึงโลกในปี ค.ศ.2000 ในช่วงเวลาที่ห่างไกลจากปัจจุบันขณะนั้นถึง 113 ปี!!
เรื่องราวของเบลลามีเกิดขึ้นในสภาวะที่อเมริกาอยู่ในช่วงที่เรียกว่า 'ยุคทองชุบ' (Gilded Age) อันหมายถึงยุคที่ผู้คนสรรเสริญความโอ่อ่าทางวัตถุและการประดับประดาเพื่อบ่งบอกฐานะของตน และความหวังสูงสุดของสตรีชาวอเมริกันก็คือการหาสามีผู้รากมากดีสักคนที่มาจากยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวใน 'มองกลับ' ที่พยากรณ์ความเป็นไปของสหรัฐอเมริกาในอนาคตว่า โลกนั้นสงบสุขเท่าเทียมกันแล้ว หลังจากที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นผู้ควบคุมทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยที่ชนชั้นแรงงานต้องต่อสู้กับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนไม่เป็นธรรมและได้รับค่าแรงอันน้อยนิดจนบนท้องถนนเกิดการปะทะกัน และเกิดการปฏิวัติปฏิรูปสังคมใหม่ทั้งหมด
'มองกลับ' คือนวนิยายยูโทเปียเชิงสังคมนิยมในรูปแบบแฟนตาซี เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งตื่นขึ้นมาในปี ค.ศ.2000 ฟังเท่านี้อาจไม่ชวนให้ตื่นเต้น แต่ถ้าบอกว่า เอ็ดเวิร์ด เบลลามี เขียนเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์ในปี 1887 ชาวศตวรรษที่ 21 อย่างเราคงได้แต่อึ้ง!
เบลลามีเชื่อว่าเขาค้นพบจุดสำคัญที่สุดของความป่วยไข้ทางสังคม ผ่านการมองการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของอุตสาหกรรมและชนชั้นที่นับวันจะยิ่งมีช่องว่าง งานของเขากระทบใจใครหลายๆ คนจนทะยานขึ้นสู่แท่นหนังสือขายดีที่สุดในยุคนั้น
เพียงสามปีหลังตีพิมพ์และวางตลาด 'มองกลับ' ขายได้มากถึง 500,000 เล่ม!! (ในปี 1891)
งานของเบลลามีกลายเป็นคัมภีร์ของขบวนการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่ความคิดแบบยูโทเปียของเขากลับไปไม่ถึงขั้นปฏิบัติจริง หรือท้ายที่สุดก็ไม่อาจปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริงเมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนความคิดเขาในนามองค์กรชาตินิยมทางสังคมนิยมและพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวคิดนี้พ่ายการเลือกตั้งในปลายศตวรรษที่ 19 ประกอบกับการเริ่มต้นของสัญญาณภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่จากสงครามการค้าที่กำลังเริ่มขึ้น ทำให้บทบาทการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ซบเซา
ตัวเบลลามีเองเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ และสุขภาพไม่แข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก และเขาก็เสียชีวิตในปี 1898 โดยไม่ทันเห็นแม้กระทั่งสังคมในศตวรรษที่ 20
ชายผู้ซึ่งกลายเป็นผู้นำทางความคิดเชิงสังคมนิยมนี้เริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะเริ่มเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายเพื่ออธิบาย 'แนวคิด' ในอุดมคติของเขาที่มีทั้งเรื่องทางสังคมและความดีงามที่เกิดจากการบ่มเพาะศีลธรรมผ่านศาสนา
กล่าวได้ว่า เรื่อง 'มองกลับ' บรรจุความเชื่อที่ผ่านการตกผลึกเรื่องทางสังคมมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ความเป็นยูโทเปียที่ชัดเจนมากก็คือ การมองว่าสังคมขับเคลื่อนไปได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจแบบสังคมนิยม ไม่มีสงคราม การโฆษณาสาดโคลนหรือปลุกระดม ไม่มีความรุนแรง อาชญากรรมและการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้ยากมาก และที่สำคัญคือเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เช่นแนวคิดหนึ่งที่พูดผ่านตัวละคร ดร.ลีท ว่า
"...สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้หญิงในยุคนี้มีความสุขมาก ในขณะที่ผู้หญิงในศตวรรษที่สิบเก้า หากข้อมูลที่เรามีอยู่ไม่ผิดพลาดนะครับ มีแต่ความทุกข์ เหตุปัจจัยที่ทำให้สตรียุคนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษและมีความสุขมากก็คือ เรามีความเท่าเทียมกันทางเพศในการเลือกงานเลือกอาชีพ เรายึดหลักการอันเดียวกันคือ สตรีก็สามารถเลือกอาชีพที่ตนถนัดและอยากทำได้...” (หน้า 300-301, มองกลับ, สำนักพิมพ์สมมติ, 2554)
ก่อนจะอธิบายต่ออีกว่า ข้อควรพิจารณาคือ ต้องให้งานที่เหมาะกับสภาพและแรงกายของผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย รวมถึงต้องมีวันหยุดมากกว่าและชั่วโมงทำงานน้อยกว่าผู้ชาย
หรือว่าที่จริงแล้วเบลลามีจะหัวก้าวหน้าและทันสมัยยิ่งกว่าคนในยุคศตวรรษที่ 21 !?
แม้โครงเรื่องและการบรรยายหลักเน้นแสดงแนวคิดทางสังคมในอนาคต แต่การผูกโยงแบบแฟนตาซีและซับพล็อตก็สร้างความสนุกสนานได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งเบลลามียังมองออกว่า ในอนาคตนอกจากเทคโนโลยีจะก้าวหน้าแล้ว ความเดือดร้อนของแรงงานที่อยู่ภายใต้การปกครองของนายทุนก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้น ดังนั้นการปฏิวัติปฏิรูปสังคมต้องเกิดขึ้น
และคนยุคหลังอย่างเราๆ ก็รู้จักชื่อของความเปลี่ยนแปลงนั้น ผ่านกระบวนการทางความคิดที่เรียกว่า 'ชาตินิยม' (Nationalism)
ถ้าอ่านเฉพาะแนวทางการเขียน 'มองกลับ' อาจมีรูปแบบที่ไม่ชวนตื่นเต้นระทึกใจเหมือนนวนิยายร่วมสมัยอื่นๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบความจริงในปัจจุบันกับข้อพยากรณ์ของเบลลามีแล้ว นับว่าการคาดการณ์ด้านความเจริญทางเทคโนโลยีหลายอย่างของเขามีส่วนถูกต้อง (ยกเว้น-แน่นอนที่สุด-สังคมไร้ชนชั้นและอาชญากรรมไม่ได้หายไป) ทว่านี่ก็คือหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่แสดงทัศนะอันน่าสนใจยิ่งของคนในศตวรรษที่ 19
หนังสือเล่มนี้ยังคงได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา ชื่อและความเชื่อของเขายังได้รับการอ้างถึงอยู่ประปราย กระทั่งประธานาธิบดีโรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกายังตั้งชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า 'Looking Backward' รวมถึงงานเขียนเชิงสังคมนิยมในยุคหลังของนักเขียนอย่าง อัพตัน ซินแคลร์ (Upton Sinclair) ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดของเบลลามีอย่างชัดเจน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือหนังสือที่ครอบครองตำแหน่งหนังสือเล่มสำคัญที่สุดของอเมริกามานานกว่าครึ่งศตวรรษ
ส่วนเหตุผลที่ไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่รู้จักในบ้านเรานัก คาดว่าเพราะยูโทเปียของเบลลามีออกจะไกลเกินความเป็นจริงในบ้านเรา และเพราะมีกลิ่นอายความเป็นสังคมอเมริกันสูง รวมถึงในช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เล่มที่ออกคู่กันคือ The Time Machine โดย H.G. Well ซึ่งคนรู้จักและเป็นที่นิยมมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม คงน่าเสียดายเกินไปถ้าเราไม่นำ 'มองกลับ' มาให้ผู้อ่านรู้จักและลิ้มลองดู
==============================
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
มองกลับ หรือ Looking Backward ฉบับแปลเป็นภาษาไทยนี้ก็เพื่อผู้อ่านชาวไทย
ขอเชิญผู้อ่านชาวไทยทำความรู้จักกับวรรณกรรมเล่มสำคัญของโลกเล่มนี้
คลิกสั่งซื้อ มองกลับ (Looking Backward) ในราคาพิเศษ
นอกจากนี้ สนพ.สมมติยังมุ่งมั่นจัดพิมพ์วรรณกรรมยูโทเปียและดิสโทเปียชั้นเลิศอีกมากมาย ในชื่อชุด 'วรรณกรรมโลกสมมติ' เพื่อเป็นการรวบรวมวรรณกรรมแปลชั้นนำของโลกเพื่อนักอ่านชาวไทย ลองทำความรู้จักและสั่งซื้อวรรณกรรมโลกสมมติได้แล้ววันนี้
คลิกสั่งซื้อ Set 8 เล่ม ครบชุดวรรณกรรมโลกสมมติ