Last updated: 24 มิ.ย. 2565 | 9281 จำนวนผู้เข้าชม |
มีผู้กล่าวไว้ว่า เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เราจะตัดสินให้ถูกต้องเสียทีเดียวก็คงไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว มุมมองของหลายฝ่ายก็แตกต่างกัน
เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ก็เช่นกัน ที่มีหลากหลายข้อมูล ซึ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ก็เป็นข้อมูลชุดหนึ่ง เป็นบางช่วงบางตอนที่สรุปมาให้อ่านอย่างสนุกและเพลิดเพลิน จากวารสารหนังสือใต้ดิน หรือ Underground Buleteen เล่มที่ 9 ซึ่งมี ศรีดาวเรือง เป็นผู้เล่า จากการอ่านหนังสือชื่อ 'บันทึกพระยาทรงสุรเดช' ชำระต้นฉบับโดย นรนิติ เศรษฐบุตร และมี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำหน้าที่เชิงอรรถ
บทสรุปนี้คล้ายเป็นลำดับความคิดของทางฝ่ายทหารและลำดับเหตุการณ์ที่ย่นย่อ กินเวลาน้อย แต่ได้บรรยากาศของวันนั้นครบถ้วน วันซึ่งเรา 'ประชาชน' ควรได้ระลึกถึงในทุกปี เพื่อสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน
- -
>> ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ พระยาทรงสุรเดช ใช้คำว่า 'กู้ชาติ' โดยมองว่า สถานะของกษัตริย์อ่อนด้อยลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว ครั้นถึงรัชกาลที่ 7 จึงมุ่งแต่จะฟื้นฐานะของระบอบกษัตริย์ให้รุ่งโรจน์ แทนที่จะแก้ไขให้ประเทศชาติรุ่งเรือง มีการแต่งตั้งบุคคลในราชวงศ์กันมาก ตำแหน่งใหญ่ๆ ตกอยู่ในมือคนที่ไม่มีความสามารถ
>> ในบันทึกของพระยาทรงสุรเดช การปฏิวัติ 2475 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความยากจนของราษฎรหรือเรื่องภาษีอากร เพราะในช่วงเวลานั้น ราษฎรนั้น 'กลัวเจ้า' ราวกับ 'หนูที่กลัวแมว' อยู่แล้ว ดังนั้นลำพังราษฎรจะไม่กล้าคิดปลกแอกได้เลย ราษฎรไม่มีความพร้อมที่จะปฏิวัติ
>> ในขณะนั้นข้าราชการก็มีจำนวนน้อยมากที่จะเข้าใจวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย พวกเขาเข้ารับราชการด้วยความคิดว่าได้ถูกแต่งตั้งมาให้เป็นเจ้านายของราษฎร และคอยหาแต่โอกาสที่จะฝากเนื้อฝากตัวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของตน
>> พระยาทรงสุรเดชฟันธงว่า การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นจริงขึ้นมาได้ก็เพราะทหารบกมีหัวหน้าที่เข้มแข็ง และมีความตั้งใจทำเพื่อชาติจริงๆ
>> การปฏิวัติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้เข้าสู่เดือนมิถุนายน 2475 แล้ว แต่แผนการต่างก็ยังไม่ชัดเจน ด้วยทหารแต่ละคนที่คิดการดังกล่าวยังไม่ได้มีอำนาจมากพอ ทุกคนจึงมุ่งรออยู่ที่ว่ากำลังทหารจะเขยิบขึ้นมากเพียงพอต่อการปฏิวัติหรือยัง
>> หัวหน้าสายทหารที่จะร่วมลงมือด้วยแน่นอนในตอนนั้น รวมพระยาทรงสุรเดช มีเพียง 9 คน!
>> แม้จะเข้าใกล้วันทำการ พระยาทรงสุรเดชซึ่งถูกทางคณะทำการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ก็ยังไม่ทราบชื่อของพวกที่จะเข้าร่วมด้วย หัวหน้ากลุ่มต่าง ยังไม่ยอมเปิดเผยว่ามีใครบ้าง
>> เมื่อเข้าใกล้วันมากขึ้น มีบางคนถอนตัวเพราะไม่เชื่อว่าจะทำได้ ดังนั้นการปิดเป็นความลับอยู่จนถึงชั่วโมงสุดท้ายจึงนับว่าสำคัญมาก เพราะหากเปิดเผยจำนวนผู้เข้าร่วมก่อการที่มีจำนวนน้อย ก็จะยิ่งทำให้คนอื่นๆ พากันถอนตัวอย่างแน่นอน
>> แผนการชัดๆ มีเพียงว่า จะต้องรวบกำลังทหารไปรวมไว้ที่พระที่นั่งอนันต์ฯ ให้ได้มากที่สุด และเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไปคุมตัวไว้ในพระที่นั่งอนันต์ฯ ในฐานะตัวประกัน ผู้บังคับการกรมต่างๆ ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพในกรุงเทพฯ ตลอดจนเสนาธิการทหารบกของฝ่ายกษัตริย์จะต้องถูกนำตัวไปคุมไว้ก่อน กลอุบายต่างๆ ถูกนำมาใช้ เช่น การติดต่อไปที่ผู้บังคับการโรงเรียนทหาร โดยขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดไปที่ลานพระรูปทรงม้า โดยบอกนักเรียนทุกคนว่าจะได้ดูการฝึกหัดต่อสู่รถรบ นอกจากนี้ยังติดต่อไปหาผู้บังคับกองพันทหารราบ เพื่อขอให้นำกำลังทหารไปฝึกหัดทางทหารที่ลานพระรูปทรงม้าเช่นกันในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลา 06.00 น. การนัดหมายเช่นนั้นก็เพื่อจะได้กำลังทหารออกมารวมกันมากๆ และง่ายต่อการรวบรวม
>> ทหารหัวเมืองไม่อยู่ในความสนใจ เพราะต้องใช้เวลามาก
>> ก่อนเริ่มการปฏิวัติ มีตำรวจนำชื่อบุคคลของคณะทำการไปถวายกรมพระนครสวรรค์ เท่ากับว่า ตำรวจของทางฝ่ายเจ้าทราบเค้าลางเรื่องปฏิวัติอยู่เหมือนกัน และเมื่อถึงวันทำการปฏิวัติจึงมาทราบภายหลังว่า พวกในวังก็รู้ตัวอยู่ก่อนแล้ว เพราะมีนายตำรวจหลายคนเข้าไปประจำการอยู่ในวังก่อนหน้านั้น
>> ในข้อตกลงของการปฏิวัติ ฝ่ายทหารจะยึดอำนาจไว้เท่านั้น ส่วนการขอรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาฯ และจัดตั้งคณะรัฐบาลนั้น ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน
>> เมื่อวันนั้นมาถึง เมื่อพระยาพหลฯ ลงมืออ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายทหารส่วนมากที่ได้ฟังคำประกาศก็ยังไม่รู้เรื่องอะไร แต่ทั้งนี้ ฝ่ายเตรียมการได้สั่งทหารทั้งหมดที่มาเข้าร่วมให้เข้าแถวคละกันหมดทุกเหล่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งสั่งการทหารของตนได้
>> การกระทำสำเร็จมาถึงขั้นนี้ พระยาทรงสุรเดช ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายทหาร วินิจฉัยว่า หาใช่เพราะทหารเหล่านั้นเห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่เพราะตั้งแต่เกิดมา พวกเขาไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นการปฏิวัติมาก่อนว่าทำกันอย่างไร เพื่ออะไร พวกเขาจึงเต็มไปด้วยความงงงวย ความไม่รู้ และประการสำคัญ ทหารถูกฝึกมาเพื่อให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ไม่มีใครคิดต่อต้าน เพราะจะกระทบกระเทือนถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว
>> ในวันยึดอำนาจจากระบอบกษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเสียเลือดขึ้นเพียงรายเดียว คือ พลตรีพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ที่ทำท่าขัดขืนจากการควมคุมโดย ร.ท.ขุนศรีศรากร หัวหน้าสันติบาล ทำให้ ร.ท.ขุนศรีศรากร ยิงพระยาเสนาสงครามบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล
>> หลังจากเหตุการณ์เริ่มเข้าที่เข้าทาง พระที่นั่งอนันต์ฯ กลายเป็นที่ทำงานของฝ่ายพลเรือน ที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า และได้ส่งหลวงศุภชลาศัยนำหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญที่หัวหิน และขอให้ในหลวงเสด็จกลับพระนครด้วย