Last updated: 4 เม.ย 2567 | 6707 จำนวนผู้เข้าชม |
หฤทัยแห่งอันธการ หรือที่รู้จักกันแพร่หลายกว่าในชื่อ Heart of Darkness โดย โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) ยังคงเป็นนวนิยายขนาดสั้นที่ได้รับการกล่าวขานถกเถียงกันจนทุกวันนี้ และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 100 นวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20
ความลับที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีชื่อยืนยงในโลกวรรณกรรม หากดูผิวเผินอาจตอบได้ยาก เพราะเนื้อเรื่องจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะเป็นเรื่องของกะลาสีและลูกเรือจำนวนหนึ่งที่ล่องเรือไปยังอาณานิคมรัฐอิสระคองโกซึ่งขณะนั้นเป็นของกษัตริย์เลียฟโพวด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป เรากลับพบความคลุมเครือทั้งในระดับไวยากรณ์ การแปลความ และลำดับวิธีการเล่าของคอนราด
เอกลักษณ์อันโดดเด่นเหล่านี้เองที่ทำให้หลายครั้ง หฤทัยแห่งอันธการ ถูกนำไปวิเคราะห์เทียบเคียงกับงานของ ฟรันซ์ คาฟคา ในฐานะที่เป็นงานอันเต็มไปด้วยเรื่องราวเบื้องหลังตัวอักษรและความคลุมเครือไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน
เรื่องเล่าที่ผสมผสานตำนานพื้นบ้านและการเกลื่อนรายละเอียดบางอย่างเพื่อปกปิดชื่อจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจาก มาร์โลว์ เล่าประสบการณ์ที่ตนเคยไปเผชิญในลำนำคดเคี้ยวและดินแดนลี้ลับของคองโกให้คนอื่นๆ บนเรือฟัง
เรื่องที่คอนราดให้มาร์โลว์เป็นผู้เล่านี้แม้จะมีบางส่วนไพล่เปรียบเทียบถึงตำนาน แต่จะกล่าวว่าเป็นนวนิยายก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะนี่คือประสบการณ์จริงของคอนราดเองที่ถูกนำมาแต่งเติมและเล่าผ่านปากของตัวละครอย่างมาร์โลว์จนดูเหมือนนวนิยาย
ตลอดระยะเวลานับร้อยปีที่ผ่านมานับตั้งแต่คอนราดเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ ประเด็นสองอย่างที่ถูกพูดถึงมาก ก็คือเรื่องที่ว่า 'คอนราดเป็นพวก racist (เหยียดชาติพันธุ์) หรือไม่?' และ 'คอนราดตั้งใจจะบอกอะไรกันแน่?'
ในประเด็นแรก มีหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากบันทึกของคอนราดเองและจากการวิเคราะห์ของนักวิจารณ์หลายแหล่งที่เชื่อตรงกันว่า แม้คอนราดอาจไม่ถึงขั้น racist แต่ก็ไม่ใช่นักเสรีนิยมในความหมายปัจจุบัน และแน่นอนว่าไม่คัดค้านวิถีแห่งการล่าอาณานิคม
เขาสนับสนุน 'ลัทธิอาณานิคมแบบก้าวหน้า' อันหมายถึงการนำความเจริญของคนขาวไปเผยแพร่ในดินแดนล้าหลัง และดูหมิ่น 'ลัทธิอาณานิคมแบบล้าหลัง' ที่มุ่งแต่จะกอบโกยขูดรีดทรัพยากรของประเทศที่ถูกปกครอง แต่กระนั้น หลายครั้งน้ำเสียงที่เขาให้มาร์โลว์เป็นผู้เล่าก็บ่งบอกความคลางแคลงใจอย่างเบาบางต่อระบบที่เจ้าอาณานิคมกระทำต่อคนพื้นเมือง และตัวมาร์โลว์ (คอนราด) ที่เคยก้าวเข้าไปในคองโกครั้งหนึ่ง ได้เห็น 'ใจกลางความมืดมน' ที่หมายความได้ทั้งความหยาบช้าที่มนุษย์กระทำต่อกัน ความละโมบ และความทารุณโหดร้าย หรืออาจหมายถึงความป่าเถื่อนในดินแดนลี้ลับใจกลางแอฟริกาอย่างคองโก ก็ไม่อาจกลับไปเป็นมาร์โลว์คนเดิมก่อนที่จะไปเยือนคองโกได้อีก
ในบางบทวิเคราะห์จึงมองว่า หฤทัยแห่งอันธการ มีความรู้สึกผิดบาปของคอนราดเจือปนกับความตระหนักที่ว่า 'ลัทธิอาณานิคมก้าวหน้า' ที่เขาเชื่อมั่นนั้นก็ขูดรีดกอบโกยไม่ต่างจากลัทธิอาณานิคมที่เขานึกดูหมิ่นเลย
Chinua Achebe นักเขียนสัญชาติไนจีเรียผู้ล่วงลับเคยกล่าวถึงงานของคอนราดในทำนองว่าเป็นงานที่แสดงความ racism ก็จริง แต่เขาก็เสริมว่า "งานของคอนราดยังดีกว่าอีกหลายๆ ชิ้นที่พูดถึงความต้องการของชาวยุโรปที่อยากเหยียบย่างมาปกครองแอฟริกา"
ส่วนอีกประเด็นคือ 'คอนราดตั้งใจจะบอกอะไร' กลับวิเคราะห์ได้ยากกว่ามาก
'หฤทัยแห่งอันธการ' มีชื่อเสียงอีกอย่างว่าเป็นเรื่องที่ 'ต้องอ่านมากกว่าหนึ่งรอบ'
แค่เฉพาะการแปลความหมายที่คอนราดนำเสนอก็ต้องอาศัยการถกเถียงไม่น้อยแล้ว ตัวอย่างหัวข้อถกเถียงที่แพร่หลายมากที่สุดก็คือ การตีความวลีสุดท้ายของเรื่องอย่าง "The horror! The horror!" (ในที่นี้ผู้แปลฉบับภาษาไทยเลือกแปลว่า "ทารุณ! ทารุณ!") แค่คำสั้นๆ เท่านี้ก็ตีความได้มากมายว่าคอนราดต้องการพูดถึงอะไร
The horror ที่ว่า คือความรู้สึกที่เขามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคองโก หรือว่าเป็นแค่คำอุทานผ่านปากตัวละครที่กำลังจะตายซึ่งสุดท้ายก็ตระหนักได้ว่าความมืดดำที่น่ากลัวที่สุดในจิตใจของมนุษย์คืออะไร
นอกจากนี้ คอนราดยังทิ้งสัญญะไว้ตลอดทั้งเรื่อง จากบทวิเคราะห์ในเล่มที่ผู้แปลสรรหารวบรวมมาให้อย่างละเอียดพูดถึงสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น อุโมงค์สีขาวโพลน (ความกลวง) หรือหญิงทอผ้า (เทพีชะตากรรมในตำนานกรีก) ซึ่งแม้ปรากฏเพียงวลีสั้นๆ แต่กลับกินความหมายกว้างขวาง และบางครั้งยังช่วยบอกเป็นนัยๆ ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือจุดจบที่มาร์โลว์ (คอนราด) ต้องเผชิญ
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เห็นจากฉบับแปลเล่มนี้คือความตั้งใจของผู้แปลที่รวบรวมทั้งคำอธิบาย เชิงอรรถ และบทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงบรรณานุกรมอ่านเพิ่มเติมซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อความสะดวกสำหรับผู้ที่อยากศึกษาและอ่านเทียบกับฉบับภาษาอังกฤษแบบประโยคต่อประโยค
มีคำกล่าวหนึ่งของ Thomas C. Foster ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งพูดถึงแม่แบบ (archetype) ทางงานวรรณกรรมที่มีความสำคัญยิ่งในจักรวาลงานวรรณกรรม เพราะสามารถตีความได้อย่างไม่สิ้นสุดบนพื้นฐานและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเอาไว้ว่า
ในส่วนสิ่งที่คอนราดต้องการจะบอก ผู้อ่านแต่ละคนจึงควรลองตีความในแบบของตัวเอง แล้วหาให้เจอว่า “หฤทัยแห่งอันธการ” ในแบบของตนนั้นหมายถึงอะไร
==============================
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
หฤทัยแห่งอันธการ หรือ Heart of Darkness ฉบับแปลเป็นภาษาไทยครบถ้วนทั้งคำอธิบาย เชิงอรรถ และบทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงบรรณานุกรมเพื่ออ่านเพิ่มเติม
ขอเชิญผู้อ่านชาวไทยทำความรู้จักกับวรรณกรรมเล่มสำคัญของโลกเล่มนี้
คลิกสั่งซื้อ หฤทัยแห่งอันธการ (Heart of Darkness)
หรือสนใจคลิกสั่งซื้อ วรรณกรรมในวงเล็บ ครบชุด