ธเนศ วงศ์ยานนาวา | ประชาชนคืออะไร?

Last updated: 10 ส.ค. 2567  |  5006 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา | ประชาชนคืออะไร?

‘ประชาชนคืออะไร’ เป็นคำถามที่สร้างปัญหาอย่างมากในสังคมการเมืองที่มีความแตกต่างทางชนชั้น แต่ปัญหาที่ไม่รู้ว่า ‘ประชาชน’ คืออะไรนั้นจะหมดความสำคัญในทางการเมืองเมื่อผ่านกลไกของการเลือกตั้ง

สำหรับสภาวะสมัยใหม่ (modernity) สังคมที่คนยากจนยังไม่ได้มีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างสังคมยุโรปในต้นศตวรรษที่ 19 ก็ยังมีปัญหาว่าประชาชนนั้นคืออะไร เพราะในศตวรรษนั้น คนจนเองก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง กรอบความคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นก็ไม่ได้ถือว่าคนจนจะเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง นอกจากนั้น ผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรอบความคิดของ เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส นั้น ก็ไม่ได้รวมเอาขอทานและผู้หญิงเข้ามาไว้ในฐานะผู้มีบทบาทในทางการเมืองอย่างเป็นทางการ แน่นอน เด็กๆ ย่อมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางการเมืองแบบเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสังคมการเมืองสมัยใหม่แบบใด

แต่ในโลกของการเลือกตั้งในครั้งหลังของศตวรรษที่ 20 ที่เกือบจะทุกๆ คน ทุกๆ เพศ (แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกๆ วัย) นั้น คนแต่ละคนในวันเลือกตั้งมีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก วันที่มหาเศรษฐี ผู้ทรงอำนาจ ข้าราชการระดับสูง ไปจนถึงกรรมกรรายวันและยาจกต่างมีอำนาจเหมือนกัน

วันเลือกตั้งจึงเป็นวันที่มนุษย์ทางการเมืองจำนวนหนึ่งจะได้แสดงออกและเข้าถึงจุดสุดยอดทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะเป็นวันเดียวเท่านั้น แต่การออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่ได้มีการส่งเสียงออกจากลำคอของมนุษย์เลยก็ตามก็กลับทำให้ ‘เสียงที่ไร้เสียง’ นั้นแสดงออกมาเป็นจำนวนตัวเลขที่มีความหมายและทรงพลังทางการเมือง


เมื่อการปกครองเป็นไปตามหลักการของตัวเลขที่จำนวนมากกว่าเท่านั้นที่มีความสำคัญกว่า กล่าวได้ว่า จำนวนตัวเลขในธนาคารไปจนถึงจำนวนตัวเลขของการออกเสียงเลือกตั้งจึงเป็นอะไรที่ทรงพลังไม่แพ้กัน

ประชาชนที่มีคุณลักษณะทางตัวเลขในทางการเมืองจึงเป็นประชาชนที่ไร้ซึ่งคุณสมบัติ เพราะคุณลักษณะทางชนชั้น สถานภาพทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ ไปจนถึงคุณสมบัติทางเพศและรสนิยมทางเพศ ล้วนแล้วแต่ถูกย่อยสลายให้กลายเป็นประชาชนที่ไร้หน้าค่าตา ความหล่อความสวยจึงเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งความหมายในหลักการทางการเมืองทั้งๆ ที่ในชีวิตประจำวันคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอะไรที่ทรงพลังและมีความหมายอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวัน...

กรอบความคิดในเชิงบวก (positive thinking) ไปด้วยกันได้ดีกับวัฒนธรรมปัจเจกชนนิยม (individualism) ที่เสริมสร้างให้ปัจเจกชนมีความหวังในการดำเนินชีวิต เพราะปัจเจกชนเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตนเอง ‘ชีวิตอยู่ในกำมือของท่านแล้ว’ ไปจนถึง ‘ฟ้าลิขิตหรือจะสู้มานะตน’ เป็นการผลักภาระความรับผิดชอบให้ปัจเจกชนล้วนๆ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ละคนเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ปัจจัยและตัวแปรอื่นๆ เช่นโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าตัวเอง...

ดังนั้นการคิดว่า ‘ความหวังเป็นยาฝิ่น’ จึงเป็นความคิดที่ไม่เหมาะกับสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่มวลชนจำนวนมากต้องการความหวังและความคิดเชิงบวก แม้ว่าความคิด ‘ความหวังเป็นยาฝิ่น’ ที่ปลดปล่อยความทุกข์จะเป็นความคิดที่อุบัติขึ้นในโลกสมัยใหม่ก็ตาม 
ความหวังทำให้ชีวิตมีความสุขอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐในฐานะที่โฆษณาชวนเชื่อให้คนเข้ามาเป็นสมาชิกของรัฐมาอย่างน้อยๆ ก็นับตั้งแต่ อริสโตเติล ผู้นำเสนอความคิดเรื่องการที่รัฐสามารถมอบความสุขสุดยอดให้แก่มวลสมาชิก

การมองโลกเชิงบวกอันเป็นรากฐานสำคัญของการมีความหวัง ย่อมทำให้สิ่งเลวร้ายต่างๆ สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะความคิดเชิงบวก ย่อมทำให้ผู้คนคิดว่าอนาคตย่อมดีกว่านี้แน่...


ปัญหาโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวทางแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ขยายตัวไปตามดินแดนต่างๆ เกือบทั่วโลก เพราะแม้กระทั่งแดน ‘สวรรค์บนดินแดน’ ที่สังคมมีความเท่าเทียมกันมากกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ และผู้คนมีความสุขอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้น ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาการขยายตัวของช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย

ครั้นถ้าประชาชนในความหมายของ ‘populus’ ในฐานะคนจนก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นประชาชนมากยิ่งขึ้น ยิ่งยากจนมากขึ้นเท่าใด ก็หมายความว่ายิ่งเป็นประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่ความยากจนย่อมไม่ใช่เป้าหมายของการเมือง


เพราะความยากจนย่อมไม่ทำให้มวลสมาชิกของรัฐมีความสุข กรอบการเมืองแบบอริสโตเติล จึงไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ ความพยายามในการเพิ่มอำนาจของประชาชน (empower) ในฐานะคนยากจนก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความยากจนเป็นพลังที่สำคัญ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้อย่างน้อยความยากจนก็ปรากฏอยู่เคียงคู่กับรัฐมาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์...

ที่จะกล่าวต่อไปสำหรับผลงานชิ้นนี้ ไม่ได้กล่าวถึงสถานะของประชาชนในโลกปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 หรือโลกหลังระเบียบเวสฟาเลี่ยน (Post - Westphalian Order) ที่รัฐประชาชาติไม่ได้เป็นตัวปฏิบัติการทางการเมืองระหว่างประเทศหลักอีกต่อไป แต่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของความเข้าใจเรื่องประชาชนในกรอบคิดทางการเมืองตะวันตกตั้งแต่อาณาจักรโรมันไล่ขึ้นมาจนถึงการสถาปนารัฐสมัยใหม่ (modern state) ไม่ว่าจะเป็นกรอบความคิดของ โทมัส ฮอบส์ และ โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ โดยผลงานชิ้นนี้จะจบลงที่การสถาปนาอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอันเป็นโครงสร้างของรัฐประชาชาติ โดยพิจารณาความคิดของนักคิดคนสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส กับผลงาน “What is the Third Estate?”

ผลงานชิ้นนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า ‘ประชาชน’ ในยุคต่างๆ และพัฒนาการทางความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะเสนอประเด็นหรือมีข้อโต้แย้งอะไรใหม่แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าภายใต้เงื่อนไขของสภาวะสมัยใหม่ มนุษย์ถูกสาปให้ต้องมีอะไรใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา การปฏิวัติ (revolution) จึงเป็นเรื่องของการ ‘อภิวัฒน์’ มากกว่าการ ‘หมุนกลับไปที่เดิม’ (revolve)

ในแง่ดังกล่าว ผลงานชิ้นนี้พยายามที่จะหมุนกลับไปที่เดิมของความหลากหลายในความหมายของคำว่า ‘people’ ที่หมุนเปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์ ทั้งนี้สำหรับผลงานที่บรรยายและช่วยทำความเข้าใจว่า ‘ประชาชน’ คืออะไรนั้น เป็นที่ขาดแคลนมาก เพราะอะไรๆ ก็เป็น ‘ประชาชน’ ได้ไม่ว่ารวยหรือจน แต่ความยากจนและการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก ย่อมเป็นอุปสรรคต่อโครงสร้างทางการเมืองสังคมของระบอบเสรีประชาธิปไตย


-- บางส่วนจาก คำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา --

ในเล่ม ว่าด้วยประชาชน (On People) -- สนใจสั่งจองคลิกที่รูปภาพ

ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
DESIGN | ● สมมติ STUDIO ● | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม

ความหนา : 152 หน้า
ราคาปก 150 บาท
ISBN 978-616-719-653-4





***สนใจสั่งซื้อเป็นชุดหนังสือ ในราคาพิเศษ***

Set รวมงานธเนศ วงศ์ยานนาวา
Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด

==================

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้