Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 5724 จำนวนผู้เข้าชม |
เราจะอ่าน ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse: 1927) ไปทำไม? วรรณกรรมเล่มนี้คืออะไร? เป็นนวนิยายแน่หรือ?
จะว่าไป หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือซึ่งไร้โครงเรื่อง (without a plot) เนื้อเรื่องอาจสรุปได้คร่าวๆ ว่า นายแรมเซย์ซึ่งเป็นนักปรัชญาและภรรยาผู้เลอโฉมของเขาเป็นคู่แต่งงานวัยกลางคนซึ่งมาพักกับลูกทั้งแปดคนพร้อมด้วยบรรดาแขกของครอบครัว ณ บ้านพักตากอากาศบนเฮบริดีสซึ่งเป็นหมู่เกาะชายฝั่งสกอตแลนด์
ใน ภาคแรก : หน้าต่าง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นและคลี่คลายลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างนายแรมเซย์และนางแรมเซย์ และความขัดแย้งในใจของบุคคลทุกคนที่ปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย เราจะได้เห็นกระแสธารการลื่นไหลของความคิดและความสัมพันธ์ต่างๆ จากมุมมองอันหลากหลายของตัวละครมากมาย เวลาเพียงในหนึ่งวันนั้นจบลงด้วยมื้ออาหารค่ำซึ่งเป็นจุดที่ตัวละครทุกตัวกลับมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างน้อยก็ในชั่วขณะหนึ่ง(ก่อนที่จะแยกย้ายกันคิดไปคนละทิศละทางอีก – ผู้แปล)
ใน ภาคที่สอง : กาลผ่าน ทุกอย่างแตกสลาย กาลเวลาเขมือบกินบ้านจนผุผัง และเราจะได้ข้อมูลเพียงผ่านๆ ว่า
นางแรมเซย์เสียชีวิตไปแล้วอย่างกะทันหันจนน่าตกใจ หลังจากนั้น พรู ลูกสาวของครอบครัวแรมเซย์ก็มาเสียชีวิตจากการคลอดบุตร แอนดรูว์ ลูกชายของพวกเขาก็เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปอีกคน และในที่สุดความมืดมนและความสับสนนั้นคลี่คลายลงเมื่อแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านที่สึกหรอทรุดโทรมและคุยถึงการกลับมาของครอบครัวนี้
ภาคที่สาม : ประภาคาร เป็นการมองกลับไปยังภาคที่หนึ่ง เมื่อนายแรมเซย์กลับมายังบ้านพักตากอากาศแห่งนั้นอีกครั้งกับลูกๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่พร้อมกับแขกบางคนที่มาด้วยกันในครั้งแรก รวมถึงศิลปินสาวที่ชื่อ ลิลลี่ บริสโค เราจะพบว่าการหายไปของนางแรมเซย์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด สำคัญพอกับคำถามซึ่งเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรพวกเขาจึงสามารถกลับมารวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อีก เราจะได้เห็นว่าตัวละครซึ่งยังมีชีวิตอยู่นั้นต้องพยายามคิดทบทวนและทำใจยอมรับทั้งสองเรื่อง ในที่สุด เราจะพบว่ามีผูกพันเชื่อมโยงเปราะบางเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งระหว่างตัวละครและระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
แม้จะสรุปเนื้อเรื่องได้สั้นเพียงนั้น To the Lighthouse กลับไม่ใช่หนังสือที่จะรีบอ่านแบบรวดเดียวจบได้ จุดสำคัญๆ ของเรื่องมักจะเกิดขึ้นในฉากหลังเสมอ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการพูดถึงการตายของนางแรมเซย์เพียงแค่ผ่าน แต่หนังสือกลับพาผู้อ่านเดินทางต่อไปตามจังหวะและรูปแบบของมันเอง ในจำนวนหนังสือทั้งหมดของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นวนิยายนี้อาจนับว่าเป็นหนังสือที่อ่านได้ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนังสือซึ่งถือเป็นการรื้อขนบธรรมเนียมการเขียนที่สุดเช่นกัน หนังสือเล่มนี้มีการหยิบยืมจากวรรณกรรมทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้า หากแต่ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่มีมาก่อนแม้แต่น้อย
หนังสือเล่มนี้นับได้ว่าเป็นทุกประเภท (genre) ดังที่เขียนเปิดบทนำนี้ไว้ เพราะ
สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งหนังสือเล่มนี้ฝากเอาไว้คือการที่ตัวบทสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่และคงทนถาวรขึ้นมาจากช่วงเวลานาทีและความรู้สึกที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นในยามที่ ลิลลี่ บริสโค ตัวละครศิลปินหญิงของวูล์ฟคิดถึงภาพเขียนของตัวเองที่ว่าเป็นดั่ง “ปีกผีเสื้อ” แต่ “อยู่บนกรอบรูปเหล็กกล้า” ซึ่ง To the Lighthouse ทำสิ่งนี้ได้ด้วยวิธีการสองวิธี คือผ่านโครงสร้างของเรื่อง และผ่านความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในนั้น
โครงสร้างของเรื่องนี้คือปฏิกิริยาของวูล์ฟซึ่งมีต่ออดีตของตนเองในช่วงยุควิคตอเรียน เพราะกว่าจะถึงช่วงเวลาที่วูล์ฟตีพิมพ์ To the Lighthouse ในปี 1927 เธอเคยพูดเอาไว้แล้วว่า “ในเดือนธันวาคม ปี 1910 หรือประมาณนั้น ความเป็นมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล”
เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นสิ่งที่มนุษยชาติตอบสนองต่องานของจิตรกรยุคหลังอิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionist) เช่น เซซานน์ (Cezanne) หรือโกแกง (Gauguin) ซึ่งตั้งใจทิ้งการเขียนภาพให้ตรงกับความเป็นจริงจนก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านโดยทั่วไป ในหนังสือเล่มนี้ ลิลลี่ บริสโค ก็สร้างความผันผวนปั่นป่วนแบบเดียวกัน ในขณะที่เธอพยายามถ่ายทอดภาพในภาพนิมิตของเธอออกมาเป็นภาพเขียน วาดภาพนางแรมเซย์กับลูกชายออกมาเป็นเพียงเงาสีม่วง วูล์ฟเองก็ต้องการแสดงให้เห็นวิธีการมองโลกที่เปลี่ยนไปเมื่อสิ้นสุดยุควิคตอเรียนและยุคเอ็ดวาร์เดียน และโครงสร้างที่แปลกใหม่นี้ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงนั้นออกมา
นวนิยายในสมัยวิคตอเรียนส่วนใหญ่จะเขียนเป็นสามภาคสามตอนเช่นเดียวกับ To the Lighthouse แต่วูล์ฟอ้างว่าเหล่านักประพันธ์ยุคเก่านั้นอาจสร้างบ้านได้ แต่สร้างคนที่อยู่ในบ้านหลังนั้นไม่ได้ และเพื่อจะเสนอสิ่งที่แตกต่างไปจากขนบเก่า โครงสร้างเรื่องของเธอจึงเน้นไปยังเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านและทำรูปทรงของบ้านให้เกิดขึ้นมาจากเนื้อเรื่องนั้นเอง - “ตึกสองหลังซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน” อย่างที่เธอวางแผนให้ภาคที่หนึ่งและภาคที่สามมาเชื่อมต่อกันผ่านภาคที่สองอันแสนสั้น – แต่บ้านหลังนี้เป็นบ้านของคนยุคสมัยใหม่ (Modernist) ซึ่งระเบียงมีไฟส่องสว่างเพียงบางช่วงและทำให้เราไม่สามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงแค่รับรู้สัมผัสรูปทรงซึ่งแสงตกกระทบผ่านไปในความมืด ไม่ต่างกับแสงจากประภาคาร และเมื่อเราไปถึงภาคที่สาม เราก็ไม่อาจหันหลังกลับได้อีกแล้ว แม้นั่นจะเป็นตึกซึ่งสร้างไว้คู่ขนานกับภาคที่หนึ่ง แต่เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงแสนชัดเจน เห็นความแตกต่างและการแตกสลายอันใหญ่หลวง
หนังสือเล่มนี้สอนเราว่า แม้เราอาจหวนคิดถึงอดีตได้ แต่ “ชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง”
ดูเหมือนวูล์ฟจะอยากบอกว่าชีวิตของคนเรานั้นไม่สามารถเอากลบทการเขียนวรรณกรรมรูปแบบใดมาครอบได้ และถ้าเช่นนั้นจะต้องทำอย่างไรนักประพันธ์จึงจะสามารถฉายภาพชีวิตมนุษย์ลงมาในนวนิยายหนึ่งเล่มได้? คำตอบของเธอคือการเลิกใช้กลบทการเขียนตามขนบเดิมไปเสีย หรือไม่อย่างนั้นก็นำมาใช้ในแบบที่ผิดแผกไปจากเดิม และในหนังสือเล่มนี้วูล์ฟยังใช้วิธีเดียวกันในการบิดเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของตนเองด้วย
บางส่วนจาก บทนำ โดย อลิกซ์ ฮอว์ลีย์ (Alix Hawley)
ในเล่ม ทู เดอะ ไลท์เฮาส์ (To the Lighthouse) ของสนพ.สมมติ -- สนใจสั่งจองคลิกที่รูปภาพ
==================
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน
==================
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set 16 เล่ม ครบชุดวรรณกรรมในวงเล็บ
ราคาสุดพิเศษ!!