Last updated: 26 ม.ค. 2565 | 6110 จำนวนผู้เข้าชม |
เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักชื่อ 'แฟรงเกนสไตน์' ในรูปแบบปีศาจร้ายที่ฟื้นคืนชีพจากความตาย เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่กล่าวขานทั้งในภาพยนตร์และสื่อบันเทิงอื่นๆ แต่ถ้าใครค้นหาที่มาของอมนุษย์ตนนี้อย่างลึกซึ้ง ย่อมพบทันทีว่า 'แฟรงเกนสไตน์' มิใช่ชื่อปีศาจร้าย แต่เป็นนามสกุลของบิดาผู้สร้างมันขึ้นมาต่างหาก
แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ (Frankenstein; or, The Modern Prometheus) เป็นผลงานการประพันธ์ของนักเขียนในศตวรรษที่ 19 นาม แมรี เชลลีย์ ซึ่งขณะเริ่มเขียนเรื่องราวของ ด็อกเตอร์วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ผู้หมกมุ่นในการค้นคว้าทดลองสิ่งต่างๆ แมรี เชลลีย์ มีอายุเพียงสิบแปดปี!
แฟรงเกนสไตน์ฯ ของเธอ เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับความตายและการกำเนิด ด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์ตัวเอกของเรื่องมุ่งค้นคว้าทดลองเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิต หลอมรวมแขนงวิชาการเล่นแร่แปรธาตุเข้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า ทว่าสิ่งที่เขาสร้างกลับกลายเป็นปีศาจที่มีความคิด ก่อนจะลงเอยด้วยการออกไล่ล่าสังหารคน จนสุดท้ายตัวด็อกเตอร์เองกลับหวาดหวั่นในผลงานที่เขาสร้างขึ้น
ผู้คนจึงจดจำว่า 'แฟรงเกนสไตน์' เป็นชื่ออมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นตนนั้น
แต่ก่อนจะเข้าใจว่าอมนุษย์ผู้เกิดมาโดยฝ่าฝืนกฎธรรมชาตินี้เกี่ยวพันกับความตายอย่างไร ซ้ำยังเป็นผลงานการประพันธ์ของหญิงสาวผู้หนึ่ง เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจชีวิตของ แมรี เชลลีย์ ผู้เปรียบเสมือน 'ด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์' ของเรื่อง
ทางด้านตัวผู้เขียนเอง แมรี เชลลีย์ สูญเสียมารดาตั้งแต่อายุเพียงเดือนเดียว เธอไม่ได้รับการศึกษาตามระบบโรงเรียน ไม่ได้รับการเหลียวแลจากแม่เลี้ยงและครอบครัวนัก แต่เธอสอนตัวเองให้อ่านเขียนขณะหลบคนอื่นๆ ในบ้านไปอ่านหนังสือข้างหลุมฝังศพของมารดา จนพบรักกับ เพอร์ซีย์ บิชช์ เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) กวีสกุลโรแมนติคในยุคนั้น แต่ติดที่เขาแต่งงานแล้ว ทั้งคู่จึงเลือกหนีตามกันไป
ไม่นานแมรีตั้งท้องลูกคนแรก แต่ชีวิตที่ควรจะมีความสุขกลับชะงักงันเพราะการสูญเสียลูกสาวแรกเกิด ไม่นานภรรยาของเพอร์ซีย์ก็ฆ่าตัวตาย แมรีจึงแต่งงานกับเขาในเวลาต่อมา และหลังสูญเสียลูกได้สองปี เธอก็เริ่มฝันประหลาด ความฝันนี้เองที่เปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิต ทำให้เธอเริ่มต้นถ่ายทอดเรื่องราวของ 'วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์' ขณะตั้งท้องลูกคนที่สอง และได้ตีพิมพ์เรื่องนี้ในฐานะนวนิยายเมื่อปี 1818 โดยไม่เปิดเผยชื่อ
แต่ความตายยังตามเกาะติดเธอ ไม่นานลูกชายคนที่สองก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กเช่นกัน
เท่านั้นไม่พอ สี่ปีถัดมา เพอร์ซีย์ บิชช์ เชลลีย์ ก็จากไป ทิ้งเธอไว้กับลูกชายคนที่สามที่ยังเล็กมาก
ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับและพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า เรื่องราวทั้งหมดในชีวิตทำให้เธอมีความปรารถนาลึกๆ ที่ต้องการนำคนที่ตนรักกลับคืนมาสู่โลก ทำให้พวกเขาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
และนี่ก็คือที่มาของปีศาจร้าย 'แฟรงเกนสไตน์' ที่เรารู้จักนั่นเอง
ในช่วงยังมีชีวิตอยู่ เพอร์ซีย์ บิชช์ เชลลีย์ เป็นทั้งสามีและผู้ออกหน้าแทนภรรยาในโลกของงานเขียน ผู้คนเชื่อกันว่าเขาช่วยแก้ไขถ้อยคำของเธอบางส่วน และหลายคนถึงขนาดเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือผู้เขียนเรื่อง 'แฟรงเกนสไตน์ฯ' เสียเอง แต่หลังจากเขาจมน้ำตายในปี 1822 ผู้เขียนเรื่อง 'แฟรงเกนสไตน์ฯ' ก็ยังคงออกผลงานต่อเนื่อง และนักวิจารณ์วรรณกรรมในยุคหลังยังออกปากว่าสำนวนการเขียนไม่ได้ดีขนาดนั้น จึงค่อนข้างเป็นที่น่าเชื่อถือว่า แมรี เชลลีย์ คือผู้เขียนที่แท้จริง
(แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพอร์ซีย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานเขียนของแมรี เพราะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าเขาสนใจวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านเคมี)
แต่นอกจากเรื่องนี้จะสร้างความพิศวงเพราะความประหลาดพิสดารและเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าที่เด็กสาวคนหนึ่งจะเป็นผู้ถ่ายทอด การโต้ตอบของสิ่งมีชีวิตที่ด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์สร้างขึ้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แมรี เชลลีย์ ให้มุมมองแก่อมนุษย์ตนนั้นเสมือนผู้เล่าเรื่องที่เป็นมนุษย์จริงๆ เราจะได้เห็นเขาหัดพูด หัดอ่านหนังสือ จนกระทั่งเดินทางไป 'ต่อรอง' กับ วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ว่าตนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตสืบต่อไปอย่างมีความสุข
(แน่นอน การเจรจาครั้งนั้นให้ผลไม่ดีนัก เราถึงจำภาพของ 'แฟรงเกนสไตน์' ว่าเป็นมอนสเตอร์บ้าคลั่งที่ไล่ฆ่าคนไงล่ะ!)
เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ จึงเป็นทั้งนวนิยายสกุล Horror ยุคแรกๆ หนึ่งในนวนิยายสายโกธิค (Gothic) และต้นธารของนวนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่มีตัวเอกเป็น 'นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง' (mad scientist) ทั้งที่ยุคนั้นยังไม่มีคำว่า 'นักวิทยาศาสตร์' (scientist) เลยด้วยซ้ำ!
ตามชื่อรองของเรื่อง ด็อกเตอร์วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ เปรียบเสมือน 'โพรมีธีอัส' เทพในตำนานกรีกผู้สร้างมนุษย์และนำไฟมาสู่โลก แต่ในเรื่องนี้เขากลับเป็นอีกแง่หนึ่งของโพรมีธีอัส คือด้านที่ถูกลงทัณฑ์จากสวรรค์เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของเทพซุส ด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์ในเรื่องก็ถูกลงทัณฑ์จากอมนุษย์ที่เขาสร้างขึ้นเอง
ร่องรอยของการใช้คำเปรียบเปรย การแสดงความเชื่อต่างๆ และประสบการณ์ที่ แมรี เชลลีย์ เรียนรู้และเผชิญ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หล่อหลอมให้ แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ เป็นนวนิยายที่แม้ไม่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็ยืนยงในโลกวรรณกรรมมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว
แม้จะผ่านมานานนับสองร้อยปี (ในปี 2018 ที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทย นับว่าครบ ‘สองร้อยปี’ จริงๆ) แต่นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็น ไอแซค อาสิมอฟ (ผู้เขียน สถาบันสถาปนา) หรือ อัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley, ผู้เขียน Brave New World) ล้วนเคยผ่านด่านการอ่าน แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ ของ แมรี เชลลีย์ ทั้งสิ้น
และต่อให้จะผ่านมากว่าสองร้อยปี โลกของนวนิยายวิทยาศาสตร์และมนตร์ขลังทางจินตนาการก็ยังเป็นโลกที่ไม่สิ้นสุด ยังรอคอยให้นักเขียนนักอ่านยุคใหม่ค้นพบสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
==============================
บทความเผยแพร่ครั้งแรกชื่อ กำเนิดจากความตาย : ตำนานอมนุษย์แห่งโลกวรรณกรรมใน "แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่" ในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
=============================
คลิกสั่งซื้อ แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ ฉบับสมบูรณ์พิมพ์ใหม่ล่าสุด
==================