ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์ | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 4

Last updated: 25 ก.ย. 2563  |  5567 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทีปกร | จิตร ภูมิศักดิ์ | บริบทของอิสรภาพ บทที่ 4

บริบทของอิสรภาพ บทที่ 4 : ทีปกร
โดย นิธิ นิธิวีรกุล

.

ถ้าคุณเสิร์ช google ด้วยคำค้นว่า 'จิตร ภูมิศักดิ์' คุณจะพบผลของการค้นหาประมาณ 960,000 รายการในเวลา 0.58 นาที หรืออาจเร็วกว่านั้น (กระทั่งอาจมากหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าจุดที่คุณพิมพ์คำว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ลงไปนั้น อยู่บนพื้นที่หรือเครือข่ายการติดต่อสื่อสารใด) มากกว่านั้น ผลลัพธ์ที่คล้ายกันของการค้นหายังเชื่อมโยงไปคำค้นเช่น

  • จิตร ภูมิศักดิ์ โยนบก       จิตร ภูมิศักดิ์ PDF
  • วลีเด็ดจิตร ภูมิศักดิ์         จิตร ภูมิศักดิ์ บทความ
  • จิตร ภูมิศักดิ์ กลอน         โฉมหน้าศักดินาไทย จิตร ภูมิศักดิ์
  • จิตร ภูมิศักดิ์ เพลง          จิตร ภูมิศักดิ์ คอร์ด


จากผลการค้นหาเหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่า ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักดิ์ น่าจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างพอสมควร และด้วยชื่อเสียงนี้เอง จึงเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วยังมีเรื่องราวใดของจิตรที่ยังเขียนถึงได้อีก?

ยังมีบริบทใดที่เราไม่รับรู้เกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกหรือ?


พูดก็พูดเถอะ สารภาพว่าในขอบเขตความรู้อันน้อยนิด ไม่อาจตอบได้ว่ายังมีเรื่องใดสำหรับผู้สนใจในประวัติศาสตร์ของนักคิด นักเขียน คนสำคัญผู้นี้ที่สาธารณะชนยังไม่รับรู้อีก เพราะชีวิตก็เหมือนหลักฐานทางโบราณคดีที่รอวันขุดค้นไม่จบสิ้น วันนี้เราอาจคิดว่าเรารู้เกี่ยวกับโบราณคดีชิ้นนี้มากพอแล้ว แต่ในวันข้างหน้าเราอาจค้นพบหลักฐานโบราณคดีชิ้นใหม่ที่ขยายพรมแดนความรู้เดิมให้มากขึ้น หรือแม้แต่หักล้างความรู้เดิมที่มีมา

 

2473

ในช่วงเวลาที่ 'ศรีบูรพา' กำลังขะมักเขม้นกับ นิตยสารสุภาพบุรุษ และก่อร่างความคิดเชิงสังคมที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในคณะปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สองปีก่อนวันอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ.2475 เด็กชาย สมจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นภายในห้องเช่าบริเวณตลาดเก่า หรือที่รู้จักในสมัยก่อนในชื่อ ตลาดจันท่าข้าม และตลาดจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี อันเป็นห้องเช่าของครอบครัวข้าราชการสรรพสามิตที่ชื่อ สิริ ภูมิศักดิ์ กับภรรยา แสงเงิน ภูมิศักดิ์ (ฉายาวงศ์) มีลูกสาวคนโตอยู่ก่อนแล้วชื่อ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์


ด้วยความที่ประจันตคามเป็นอำเภอที่ทางการสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 อนุญาตให้ท้าวอุเทนนำชาวเวียงจันทน์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านใหม่ของตนเอง ณ บริเวณที่เคยถูกเรียกว่า จันท่าข้าม ซึ่งกลายเป็นชื่ออำเภออยู่ชั่วระยะหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นประจันตคาม อันมีความหมายว่า 'ที่สุดท้าย' [1] เด็กชายสมจิตรเติบโตขึ้นท่ามกลางสรรพสำเนียงอีสาน กลิ่นปลาร้ากรุ่นทั้งตลาด

ซึ่ง คำให้การของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ วาระสุดท้ายแห่งชีวิต โดย แคน สาริกา ระบุไว้ว่า "...ขณะนี้ข้าฯ ใช้ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่อเดียว แต่เดิมนั้นตั้งแต่ข้าฯ ใช้ชื่อ สมจิตร เป็นชื่อที่บิดามารดาข้าฯ ตั้งให้ ต่อมาเมื่อประมาณปี 2484 ข้าฯ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจิตร และใช้ชื่อนี้จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ส่วนชื่อนามแฝงหรือชื่ออย่างอื่นไม่มี นามสกุลของข้าฯ ใช้นามสกุลภูมิศักดิ์มาตั้งแต่ต้น และใช้นามสกุลนี้มาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ นอกจากชื่อและนามสกุล ดังที่ได้ให้การไว้ในตอนต้นนี้แล้ว ในการประพันธ์หนังสือและแต่งบทความ ข้าฯ ใช้นามปากกาว่า 'ทีปกร'..."

ชั่วระยะเวลา 11 ปี เด็กชายสมจิตรโยกย้ายไปตามภูมิลำเนาต่างๆ ตามการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้เป็นพ่อ ในชั่วระยะเวลา 11 ปีนี้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองสยามตั้งแต่ก่อนอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง กบฏบวรเดช จนมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีมติในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ภาษา การสะกดชื่อต่างๆ ดังที่ปรากฏในการเปลี่ยนชื่อนามสกุล 'เศรษฐบุตร' ของ สอ มาเป็น 'เสถบุตร'


เด็กชายสมจิตร จึงกลายมาเป็น จิตร แม้ว่าคำให้การของจิตรจะบอกอีกอย่างว่าตัวจิตรเอง เลือกที่จะตัดคำว่า 'สม' ออกไปด้วยตัวของตัวเอง ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้

คำถามนี้อาจจะสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้เช่นกัน หากเมื่อมองว่า 'ชื่อและนามสกุล' นั้นคือการระบุตำแหน่งตัวตนของบุคคลบนโลก จิตร ภูมิศักดิ์ จะยังเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ไหม หากถูกจดจำในชื่ออื่น?

นั่นเป็นคำถามหนึ่งในหลายคำถามที่คิดขึ้นมาระหว่างศึกษาเรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งทำให้รับรู้ว่ากรอบความคิดในเรื่องการเมืองของเขาเริ่มต้นในช่วงระยะเวลานี้เอง กล่าวคือเมื่อพ่อของจิตรโยกย้ายไปยังจังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ.2483 ก่อนจิตรจะเปลี่ยนชื่อจากสมจิตรมาเป็นจิตรในปีต่อมา ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2483 ถึง 2484 พ่อของจิตรโยกย้ายอีกครั้งไปยังจังหวัดพระตะบอง ที่ยังคงอยู่ในการปกครองของรัฐไทย และเป็นที่พระตะบองนี้เองที่จิตรได้รู้จักกับกลุ่ม 'เอ็ยสะระ' กับบทบาทต่อต้านฝรั่งเศสของชาวกัมพูชาที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2483

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เขียนถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ของจิตร ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 231 พฤษภาคม 2547 ไว้ว่า นั่นเป็นความประทับใจทางการเมืองครั้งแรก ไม่แต่เพียงนั้น ในช่วงที่อยู่พระตะบอง จิตรยังได้พบกับหญิงสาวที่เขาชอบพอ จนถึงขนาดไปเขียนไว้ในบันทึกประจำวัน แม้เมื่อย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2490 เอาไว้อีกด้วยว่า


2 พฤษภาคม 2490

คุยกับคุณเวียนได้ประเดี๋ยวหนึ่ง สังเกตได้ว่าท่าทางสาวจะมีใจให้อยู่เหมือนกัน "วันนี้คุยกันมากที่สุดตั้งแต่รู้จักกันมา พอลาแม่เขาแล้ว เขายกมือไหว้ มองเราจนลับตา..." [2]

 

2490-2496
โยนบก


...ระหว่างที่ข้าฯ พูดชี้แจงอยู่นี้มีเสียงนิสิตกลุ่มหนึ่งตะโกนแทรกแสดงความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลาและที่ข้าฯ กำลังพูดอยู่ ได้มีเสียงตะโกนขึ้นในหมู่นักศึกษาว่า "โยกบกเลย" ทันใดนั้นเอง นายสีหเดช บุนนาค กับ นายศักดิ์ สุทธิพิศาล และ นายชวลิต พรหมานพ ได้วิ่งกรูกันขึ้นมาจับข้าฯ และมีเสียงหนึ่งตะโกนว่า "ความผิดอย่างนี้ต้องโยนบก" เป็นเสียงตะโกนมาจากคนหนึ่งคนใด ข้าฯ ไม่ทราบ ใน 3 คนที่วิ่งกรูกันมาขับข้าฯ และทันใดนั้นเอง ข้าฯ ก็ถูกจับหัวและเท้าโยนลงมาจากเวทีซึ่งสูงประมาณ 7-8 ฟุต ข้าฯ หมดสติทันที.../ คำให้การจิตร ภูมิศักดิ์

ในช่วงระยะเวลาที่อยู่พระตะบองต่อเนื่องมาจนถึงเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ พ่อและแม่ของจิตรได้แยกทางกันภายหลังประเทศไทยตกลงคืนจังหวัดพระตะบองให้ฝรั่งเศส แม่และพี่สาวได้มาเป็นผู้ส่งเสียจิตรให้เล่าเรียนจนจบชั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความโด่งดังอันนำซึ่งชื่อเสียงของจิตรในฐานะนักศึกษาหัวก้าวหน้า และนักศึกษาผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์จนนำไปสู่การถูกจับกุมในปี พ.ศ.2501 โดยมีสาเหตุมาจากการจัดทำหนังสือประจำมหาวิทยาลัยในฐานะสารานียกรฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2496 ผลจากการนี้ จิตรถูกพักการเรียนไปหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาเรียนต่อและสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2499

ข้อที่น่าสังเกตและน่าสนใจจนนำไปสู่คำถามเสมอๆ คือ เหตุการณ์ใดหรือสิ่งใดที่ทำให้คนคนหนึ่งเลือกหรือไม่เลือกทำซึ่งสิ่งที่ต่อมาจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา สำหรับจิตร อาจถือตามที่วีระศักดิ์เขียนไว้ได้ว่าจิตรประทับใจในขบวนการชาตินิยมกัมพูชาที่ต่อต้านฝรั่งเศสสมัยไปเรียนอยู่พระตะบองอยู่ 1 ปี ซึ่งนั่นควรจะถูกทำความเข้าใจ หรืออย่างน้อยควรจะตีกรอบให้จิตรกลายเป็นผู้รักชาติ มากกว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายตามนิยามของสันติกาล ของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย กระทั่งนำไปสู่การถูกจับกุม ใช่หรือไม่?

เช่นนั้นแล้ว ไฉน จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายผู้ยากไร้ หรืออย่างน้อยๆ ในตอนยังเป็นนิสิต ทำไมถึงไม่เลือกทำหนังสือตามแบบอย่างที่ 'สืบทอดกันมา อันเป็นประเพณีอันดีงาม' ตามที่ควรเป็น และควรเข้าใจต่อทรรศนะของผู้มีความเป็นชาตินิยม

คำตอบแบบเท่าที่พอนึกออก คือ จิตรมีความรักชาติไทย รักแผ่นดินไทยในฐานอันเป็นสถานที่สำหรับผู้คนที่มีชีวิต เลือดเนื้อ มากกว่าสถาบันที่วางตัวอยู่ลอยๆ เหนือผู้คนในฐานะชาติที่จับต้องไม่ได้ และบวกรวมเข้ากับความปัญญาชนก้าวหน้าที่มักนำเสนอสิ่งที่พ้นไปจากกรอบเดิมๆ ที่เป็นมา พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นรูปพระเกี้ยวและลายเซ็นพระราชหัตถเลขา จนนำไปสู่การตัดสินบทลงโทษด้วยการโยนบกในที่สุด

แต่ถ้าแรกความประทับใจต่อการต่อสู้ทางการเมืองปรากฏขึ้น ณ พระตะบอง และความเป็นปัญญาชน นักเขียนหัวก้าวหน้าจนนำไปสู่การสร้างสรรค์งานที่ท้าทายขนบธรรมเนียมประเพณีตั้งแต่ยังสวมเสื้อในฐานะนิสิต จนมาถึงตอนเป็นนักเขียนเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย บางที ความรักในคนยากคนจนจนเอาชีวิตเข้าแลก และจบชีวิตอย่างที่ถูกเรียกได้ว่าไร้ค่าริมชายป่าในจังหวัดสกลนคร อาจมีจุดเริ่มจากกลิ่นปลาร้ากรุ่นทั้งตลาดตั้งแต่สมัยยังอยู่กันพร้อมหน้าในฐานะเด็กชายสมจิตรที่อำเภอประจันตคาม


แน่นอน นี่เป็นเพียงการอนุมาน

เป็นได้อย่างมากคือการวิเคราะห์ผ่านบริบทโดยรอบตัว จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนเขาจะถูกจับกุมตัวในข้อหา 'สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์'

 

2501-2509

นับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 ระยะเวลา 7 ปีที่จิตรถูกคุมขัง และนำมาสู่ คำให้การของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ แคน สาริกา นำมารวบรวมให้ได้อ่านกัน 'บริบท' ที่น่าสนใจและถูกเล่าผ่านคำให้การจนน่าจะมองเห็นภาพลักษณ์ของจิตรในอีกแบบ คือ คำให้การที่บอกเล่าถึงสภาพห้องรับแขกของจิตร ที่ได้บอกเล่าว่า

...สภาพในห้องรับแขกของบ้านข้าฯ นอกจากรูปหลู่ซึนซึ่งติดไว้บนกรอบบนประตูดังได้ให้การไว้แล้วในตอนต้น และมีรูปปฏิทินเป็นภาษาจีน ข้าฯ ได้มาจากร้านขายหนังสืออักษรวัฒนา แถมให้เมื่อข้าฯ ซื้อหนังสือในวันปีใหม่ เป็นปฏิทินซึ่งพิมพ์จากประเทศจีน แถมให้กับข้าฯ ที่ซื้อหนังสือไชน่า ริคอนสตรัค เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือนพิมพ์โรงพิมพ์ในแผ่นดินจีนใหญ่ ซึ่งคอมมิวนิสต์ยึดครองอยู่เดี๋ยวนี้ หนังสือนี้ถูกส่งมาจำหน่ายเป็นครั้งคราว นอกจากภาพหลู่ซึน และปฏิทินดังกล่าวแล้ว ในห้องรับแขกมีรูปปฏิทินของบริษัทบินเมล์อากาศต่างประเทศ ไม่มีรูปข้าฯ ไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถฯ ของประเทศไทยก็ไม่มี.../ คำให้การจิตร ภูมิศักดิ์

ข้อน่าสนใจนี้นำไปสู่คำถามในแง่ที่ว่า เราจะสามารถระบุหรือชี้ชัดลงไปถึงระดับอุดมการณ์ทางความคิดจากรูปประดับฝาผนังบ้านได้หรือไม่? แน่นอนว่าหากเป็นในปัจจุบันย่อมได้อย่างไม่มีข้อสงสัยด้วยธรรมเนียมอันแทบถือเป็นการปฏิบัติของทุกบริษัทห้างร้านไปจนถึงหน่วยงานราชการที่นิยมการแจกจ่ายปฏิทินที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลปัจจุบัน แต่ย้อนกลับไปในยุคของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือเมื่อ 62 ปีก่อนในวันที่จิตรถูกจับ ธรรมเนียมนี้น่าจะยังไม่แพร่หลาย อย่างน้อยก็สังเกตได้จากคำให้การจิตรที่บอกว่าตนได้รับปฏิทินซึ่งเป็นรูปภาพภาษาจีนมาจากร้านอักษรวัฒนา และธรรมเนียมการประดับรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ไทยก็น่าจะยังไม่แพร่หลายด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดความเข้าใจของคนไทยในยุคนั้น น่าจะยังมองกษัตริย์ในลักษณะของสถาบันที่อยู่สูงเกินเอื้อม ไม่ใช่สถาบันที่ใครใคร่จะสถาปนาตัวเองเป็นลูกพ่อของแผ่นดินแล้วเที่ยวไล่คนนู้นคนนี้ออกจากประเทศได้โดยง่าย

ซึ่งทัศนะตรงนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนถึง (โดยอิงจากนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช) ไว้อย่างน่าสนใจว่า


...คงไม่ต้องพูดถึงมากนักว่า สี่แผ่นดินมีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนไทยเพียงไร ภาพยนตร์, ละครเวที, จนถึงละครเพลงช่วยเผยแพร่และสืบทอดนวนิยายเรื่องนี้ไปอย่างกว้างขวางกว่าครึ่งศตวรรษ และให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ในอุดมคติแก่สังคมไทยสืบมา เช่น แม้ไม่กัมมันตะหรือ inactive ในทางการเมือง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระบรมโพธิสมภารสูงส่ง อย่างที่ปรากฏในนวนิยาย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแกนกลางของศีลธรรมทางสังคม เข้าถึงจุดอ่อน (weakness) ของมนุษย์ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากทุกกลุ่ม พระบรมฉายาลักษณ์ที่แสดงพระเมตตาและการอุทิศพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน เช่น ภาพที่ยื่นพระหัตถ์สัมผัสกระพุ่มไหว้ของยายแก่, พระพระเสโทไหลย้อย ฯลฯ เป็น "ภาพที่มีอยู่ทุกบ้าน"...[3]


กระนั้น แม้จะไม่สามารถระบุลงไปได้อย่างชี้ชัดถึงธรรมเนียมในเรื่อง 'ภาพที่มีอยู่ทุกบ้าน' ในยุคสมัยของจิตร แต่ก็ด้วยตัวคำให้การของจิตรเองที่ระบุว่า ไม่มีรูปข้าฯ ไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถฯ ของประเทศไทยก็ไม่มี... จึงอาจอนุมานได้อีกเช่นกันว่าการมีพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และพระราชินีในบ้านนั้นเท่ากับเป็นการแสดงความจงรักภักดี และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันความมั่นคงในกรณีหากคุณเป็นนักเขียนที่เห็นต่างจากสภาพแวดล้อมของสังคม และรัฐบาลในขณะนั้น-เช่นกัน

ข้อที่น่าสนใจต่อไป ทั้งต่อกรณีความเป็นชาตินิยมของจิตรเอง และทั้งต่อข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทองใบ ทองเปาต์ ผู้เป็นเพื่อนร่วมคุกลาดยาวของจิตรได้เขียนไว้ใน "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" ว่าจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ไม่เป็นที่ชอบใจมากนักของเพื่อนร่วมคุกที่เป็น 'สหาย' จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลายต่อหลายคน ซึ่งเท่ากับว่าตัวจิตรเองแทบจะเป็นพวกที่ไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ (และยิ่งน่าสนใจหากจิตรยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน จิตรจะมีแนวคิดทางการเมืองเอียงไปทางด้านใดแน่)

ไม่นับบทบาทนักรบประชาชนที่นำ จิตร ภูมิศักดิ์ ไปสู่การสิ้นชีวิต "เขาตายในชายป่าเลือดแดงทาดินอีสาน" แล้ว อีกบทบาทที่ทำให้คนรุ่นหลังสนใจ และน่าจะเป็นบทบาทที่ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์เกิดใหม่อีกครั้ง คือ บทบาทในฐานะนักเขียน/นักประพันธ์ ซึ่งนอกจาก 'ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน' ในนามปากกา 'ทีปกร' ที่รู้จักกันดีแล้ว งานชิ้นสำคัญอีกชิ้น และอาจเป็นงานที่บ่งบอกความเป็นตัวตน จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะเด็กจากประจันตคาม เติบโตที่พระตะบอง เข้าสู่วัยหนุ่มที่กรุงเทพฯ ในรั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นมรดกสืบต่อจากวงศ์ชั้นสูงของบ้านเมือง คือ 'ความเป็นมาของคำสยาม,ไทย, ลาว และขอม และลักษณ์ทางสังคมของชื่อชนชาติ' ผลงานอันเลื่องลือที่ใช้เวลาเก็บฝังอยู่ใต้ดินถึงสิบปี หลังการเสียชีวิตของจิตร จึงถูกตีพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ในปี พ.ศ.2519

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวถึงงานชิ้นนี้ของจิตรไว้ว่า "...งานเขียนชิ้นนี้ของจิตรที่เริ่ม คือ ต่อต้านความคิดความรู้ในมหาอาณาจักรไทย อุปทานของความคลั่งชาติ..."

การเกิดใหม่ขึ้นอีกครั้งของจิตรในฐานะนักเขียนจึงกลายเป็นเหมือนภาพลักษณ์ประหนึ่งตัวแทนเชิงอุดมคติของหนุ่มสาวยุคหลัง 14 ตุลาฯ ที่มอง จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะปัญญาชนที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนคนยากคนจนในชนบทอีสาน แม้ว่าเมื่อหลังการตาย จิตรจะมีสถานะเป็นเพียงผีใบ้หวยอยู่ชั่วระยะหนึ่งสั้นๆ ตามความเชื่อของชาวบ้าน กระทั่งแม้เมื่อตอนยังมีชีวิตก่อนจะถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ตามที่ แคน สาริกา เขียนไว้ จิตร ภูมิศักดิ์ จะมีสถานะของบทบาทในสายตาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพียงแค่ 'เหยื่อล่อ' ทหารฝ่ายรัฐบาลให้หันเหความสนใจไปจากยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสายตาของพรรค เปรียบประหนึ่งเบี้ยบนกระดานที่ถูกเขี่ยทิ้งได้ในฐานะทหารธรรมดาคนหนึ่ง

หากแต่ในฐานะนักเขียน ในฐานะลูกของแม่ น้องชายของพี่สาว จิตร ภูมิศักดิ์ คือ ปัญญาชนที่ตั้งธงอยู่บนความใฝ่รู้ในขอบเขตเรื่องภาษาศาสตร์เพื่อถากทางอคติของลัทธิคลั่งชาติให้เห็นถึงรากเหง้าของภาษาแต่ละภาษาที่ลึกลงไปนั้น ไม่ใช่เพียงกษัตริย์ที่สถิตตั้งอยู่ในฐานะผู้ประดิษฐ์คิดค้น หรือวางภาษาในฐานะสิ่งแสดงเกียรติภูมิของชาติอันไม่แตะต้อง แต่เป็นภาษาที่มีสังคม ผู้คน ชีวิตของมนุษย์ในฐานะประชาชนที่มีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน

มีศักดิ์และศรีเฉกเช่นมนุษย์ที่ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์.

========================

[ ข้อมูลอ้างอิง ]

[1] อ้างอิงจาก “วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ แคน สาริกา สำนักพิมพ์ สาริกา

[2] จากบทความ ชายคนนี้ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง สารคดี ฉบับที่ 231 พฤษภาคม 2547

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สถาบันกษัตริย์ใน “สี่แผ่นดิน” ประขาไท 14 ธันวาคม พ.ศ.2562

==================

สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา

ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ

// Set เรียนรู้การเมืองไทย
 //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด
 // 
// Set บทสรุปทางความคิดของนักคิดระดับโลก
 //
// Set เข้าใจการเมือง เข้าถึงประชาชน // 
=====

อย่าลืมใช้ Code ส่วนลด 100 บาท ใช้ได้ทั้ง Website (ชุดหนังสือราคาพิเศษ และ vintage print ไม่ร่วมรายการ)

ใส่ EYEOPEN100 ที่หน้าสรุปรายการสั่งซื้อ กรอกช่อง 'ใส่รหัสคูปอง' (เมื่อสั่งซื้อครบ 1,200 บาท)
==============================

บทความที่คุณน่าจะชอบ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ / 
ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
==================

เสื้อยืดแนะนำสำหรับราษฎรทั้งหลาย ราคาเดียวกัน

1. เสื้อศรัทธา




2. เสื้อคณะราษฎร





3. เสื้อยืด 2475  | 
สกรีนลาย 2475 : Democracy Dies [?] 




4. เสื้อยืด The Code 

= = รุ่นนี้มีตำหนิ บางตัวเลขหาย?! = =




5. เสื้อยืดไม่ไว้วางใจ



========================


อ่านบริบทของอิสรภาพ ของนักคิด นักเขียนไทย คนอื่นๆ

บทที่ 1 : บทที่ 1 : ศรีบูรพา | กุหลาบ สายประดิษฐ์


บทที่ 2 : นายผี | อัศนี พลจันทร

 
บทที่ 3 : สอ เสถบุตร


บทที่ 5 : เทียนวรรณ




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้