Last updated: 24 ธ.ค. 2563 | 23411 จำนวนผู้เข้าชม |
นวนิยายดิสโทเปียช่วยให้เราเข้าใจโลกในทุกวันนี้ได้อย่างไร? บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดการก่อร่างสร้างตัวของนวนิยายแนวนี้ รวมถึงถกเถียงว่า นวนิยายที่จินตนาการถึงโลกที่เลวร้ายนี้มีพลังแค่ไหน
นวนิยายแนวดิสโทเปียมักสื่อถึงโลกที่วุ่นวายโกลาหล เป็นอนาคตที่แย่กว่าในปัจจุบัน (ไม่ว่าจะในความหมายหรือรูปแบบใด) ซึ่งทำให้ผู้อ่านติดอยู่ระหว่างความรู้สึกสองอย่าง คือ อยากรู้อยากเห็น เป็นการหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงชั่วขณะ (เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องมัก 'ยัง' ไม่เกิดขึ้นจริง) กระหายที่จะเรียนรู้บางอย่างจากมัน แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องราวในนวนิยายก็สร้างความรู้สึกรบกวนจิตใจ (เพราะลึกๆ แล้วเราก็ทราบว่าเรื่องเหล่านี้ ‘มีโอกาส’ เกิดขึ้น)
ความน่าสนใจของงานแนวนี้ก็คือ 'จะเป็นอย่างไรถ้า...' (What if) และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
สำหรับบางคน นวนิยายแนวดิสโทเปียจึงเป็นเสมือนคู่มือ เป็นบทเรียนแห่งอนาคตจากโลกแห่งอดีต
บางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจถูกตีความในความหมายอื่นที่ต่างออกไป เมื่อเรามองสิ่งนั้นผ่านแว่นของ 'โลกดิสโทเปีย' หรือบางสถานการณ์ที่เราไม่คิดว่าอาจเกิดขึ้นได้ ก็อาจเป็นจริงหากพิจารณาแนวโน้มที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
ตัวอย่างของนวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดในแนวนี้ก็คือ '1984' โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)
ในอดีต เมื่อออร์เวลล์เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในปี 1948 แทบไม่มีใครนึกออกเลยว่าโลกอย่างใน '1984' จะมีอยู่จริง หรือมองว่า กว่าจะเป็นแบบนี้ก็คงอีกสิบยี่สิบปี แต่แล้วสถานการณ์ในรัสเซียก็ทวีความรุนแรงขึ้น 'ม่านเหล็ก' ในสมัยสหภาพโซเวียตกลายเป็นแนวรั้วกั้นตัดขาดโลกภายนอก และมีทางการคอยสอดส่องตรวจตราประชาชนไม่ผิดจากในเรื่อง
แค่เป็นนวนิยายก็น่าขนลุกพอแล้ว แต่เรื่องนี้กลับน่ากลัวมากขึ้นอีกเมื่อมันกลายเป็นความจริง!!
ทว่าหลังผ่านหลักไมล์ปี 1984 ตามท้องเรื่องมาแล้ว สภาวะ '...is watching you' ก็ยังคงไม่หายไปไหน ประชาชนทุกคนยังคงถูกตรวจสอบและเฝ้ามองในทางใดทางหนึ่งโดยรัฐบาลเสมอ ไม่มีความเป็นส่วนตัวหรืออิสระที่แท้จริงโดยปราศจากการเฝ้าระวังของรัฐ
นี่อาจเป็นตัวอย่างคนละลักษณะจากในนวนิยาย แต่แม้กระทั่งเดินเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต คุณก็ถูกบันทึกภาพการเข้าออกไว้หมดแล้ว
ยังไม่นับรวมความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ อีเมล การเข้ารหัสต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคุณได้ทุกเมื่อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอีกมุมหนึ่ง โลกปัจจุบันหมุนไปไกล และน่ากลัวยิ่งกว่าใน '1984' แล้ว บางทีถ้าหากออร์เวลล์มีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ นวนิยายเรื่องนี้ก็อาจน่าขนลุกกว่าเดิม
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ 'The Handmaid’s Tale' โดย มาร์กาเร็ต แอตวู้ด (Margaret Atwood) ซึ่งแอตวู้ดเองเคยกล่าวไว้ว่า
เช่นเดียวกับ '1984' ความน่ากลัวของนวนิยายแนวดิสโทเปียชั้นเยี่ยมคือ สิ่งที่ดูเหมือนไม่ได้เกิดขึ้นจริง อยู่ไกลตัวเรา อาจเกิดขึ้นใกล้กว่าที่เราคิด
ตัวอย่างเช่น กรณีการแยกเด็กๆ ผู้อพยพออกจากพ่อแม่ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนสหรัฐอเมริกา ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่แอตวู้ดกล่าวว่า "นี่ก็คือสาเหตุที่ฉันไม่เคยบอกว่าไม่มีเหตุการณ์ใน 'The Handmaid’s Tale' เกิดขึ้นจริง ดูอย่างเด็กๆ ที่ถูกพรากไปจากพ่อแม่ของพวกเขาสิ"
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในนวนิยายก็ทำให้เข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่มากกว่าเดิม ไม่ว่าเรื่องราวจะดีร้าย น่าขนลุก หรืออะไรก็ตาม
และในนวนิยายแนวดิสโทเปียก็ยังคงบรรจุความหวังเอาไว้ เช่นที่ผู้ซึ่งศึกษาด้านนี้กล่าวว่า
“ถ้าฉันเข้าใจ [เหตุที่ทำให้เกิดโลกแบบนั้น] ฉันก็จะไม่เลือกสิ่งที่จะทำให้มันเป็นไปแบบในนวนิยาย”
==============================
บทความเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
โดยแปลและเรียบเรียงจากบทความ BBC Culture ในชื่อ "Why dystopian fiction is ‘an instruction manual for now'" ซึ่งมีทั้งวิดีโอสัมภาษณ์และ text สรุปความ
==============================
สำหรับผู้อ่านที่สนใจวรรณกรรมการเมืองคลาสสิคเล่มนี้
สามารถสั่งซื้อหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี
ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก
==============================
สนใจหนังสือเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้วในราคาสุดพิเศษ คลิก SPECIAL SET