Last updated: 17 ธ.ค. 2567 | 3236 จำนวนผู้เข้าชม |
FLATLAND ปรากฏการณ์สำคัญในวรรณกรรมยุควิกตอเรียน
ในโลกนี้มีนักคณิตศาสตร์เพียงไม่กี่คนที่ได้รับการเชิดชูในแง่วรรณกรรม แต่ เอ็ดวิน แอ็บบ็อตต์ แอ็บบ็อตต์ (Edwin Abbott Abbott) ผู้เขียน “โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ” หรือ “Flatland: A Romance of Many Dimensions” เป็นหนึ่งในคนจำนวนไม่มากนั้น
เขาเขียนเรื่องนี้ในปี 1884 ในฐานะเรื่องราวการผจญภัยเชิงคณิตศาสตร์ในโลกสองมิติที่ทุกอย่างราบเรียบไปหมด ผ่านตัวละครรูปทรงสี่เหลี่ยมผู้เป็นนักคิดที่เล่าเรื่องในโลกของตนในแบบมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง
เรื่องราวสุดประหลาดนี้มิใช่แค่นิทานการผจญภัยหรือโลกสมมติที่อ่านเอาความแปลกใหม่สนุกสนาน แต่ โลกแบนฯ คืองานเขียนแนววิทยาศาสตร์ฟิสิกส์-คณิตศาสตร์เสียดสีชนชั้นที่มาก่อนกาล ก่อนจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเมื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity)
มนุษย์ในโลกหลายมิติอย่างเราๆ ย่อมนึกภาพสิ่งมีชีวิตใน โลกแบนฯ ที่มีเพียงสองมิติได้ลำบาก แต่ผู้เล่าเรื่องก็ไม่ลืมอธิบายความเป็นไปในโลกของตนทีละขั้น นับตั้งแต่ 'วิธีการมองมิติ' ของคนใน 'โลกแบนฯ' ไปจนถึงจำแนกประเภทประชากรและเล่าถึงวิถีชีวิตของคนแต่ละชนชั้น
'วิธีการมองมิติ' ที่ว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนในโลกแบนคือแผ่นกระดาษ การมองจากด้านบนจะทำให้เห็นรูปทรง เมื่อการลดระดับสายตาลงมาจะทำให้เห็นมิติความสูงของรูปทรงทั้งที่ไม่มีอยู่จริง และการมองจากระดับสายตาจะทำให้เห็นว่าวัตถุทุกชนิดในโลกนี้มีลักษณะ ‘แบน’ เหมือนกันหมด
แนวคิดเรื่องมิติสัมพันธ์และมิติในการมองเห็นในเชิงคณิตศาสตร์นับเป็นพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีทางมิติเวลาแบบไอน์สไตน์ ทำให้งานของแอ็บบ็อตต์ที่ออกมาก่อนเป็นที่จดจำและพูดถึงอย่างมากในหมู่นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และจนถึงทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือนักออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์ก็ยังต้องสนใจศึกษามุมมองด้านมิติของแอ็บบ็อตต์
'ASquare' ตัวละครหลักในเรื่องได้ค้นพบ 'โลกสามมิติ' ซึ่งอยู่นอกเหนือธรรมชาติของคนใน 'โลกแบนฯ' โดยสิ้นเชิง
นอกจากเรื่องมิติที่สี่ 'โลกแบนฯ' ยังวิพากษ์ปัญหาและค่านิยมของสังคมวิกตอเรียนเอาไว้เช่นกัน โดยสะท้อนถึงการแบ่งแยกชนชั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การกดขี่ทางเพศ และการคุมขังตนเองทางความคิด (self-limitation) ที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมวิกตอเรียน เพียงแต่แอ็บบอตต์อำพรางประเด็นเหล่านี้ไว้ภายใต้ขนบของการเสียดสีผ่านโลกสมมติอย่างแยบคาย
ผู้คนใน 'โลกแบนฯ' ถูกกำหนดชะตากรรมตั้งแต่เกิดตามลักษณะรูปทรงของตนและพ่อแม่ ซึ่งรูปทรงนั้นเป็นทั้งแนวทางการใช้ชีวิต วิธีคิด หรือแม้กระทั่งขอบเขตการแสดงออก
ในจำนวนงานเขียนทั้งหมดของยุควิกตอเรียน 'โลกแบนฯ' จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญและพิเศษอย่างยิ่ง และ ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาพสังคม ชนชั้น ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังครอบคลุมถึงความรู้ด้านเทววิทยา และวิทยาศาสตร์เท่าที่คนในยุคนั้นพอจะรู้
พลังในการเล่าเรื่องของแอ็บบ็อตต์ทำให้นวนิยายที่มีแก่นสำคัญเป็นพื้นฐานทฤษฎีทางฟิสิกส์นี้เข้าถึงคนได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะต้องรอจนเข้าศตวรรษที่ 20 ก็ตาม ขณะเดียวกัน 'โลกแบนฯ' ยังให้มุมมองที่น่าสนใจทางมานุษยวิทยา และแสดงถึงความสนใจของคนยุคนั้นต่อการติดตามทฤษฎีความอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ส่วนผสมของศาสตร์แต่ละแขนงนี้ ทำให้ผู้อ่านที่ค้นพบนวนิยายเรื่องนี้ต้องทึ่ง กระทั่งไอแซค แอซิมอฟ (Isaac Asimov: 1920 - 1992) ศาตราจารย์ด้านชีวเคมีและนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ยังเคยกล่าวชม 'โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ' ไว้ว่าเป็น “บทนำที่ดีที่สุดที่เคยมีคนเขียนถึงการมองเห็นมิติต่างๆ”
'โลกแบนฯ' เป็นวรรณกรรมที่อยู่ในขอบเขตความสนใจและศึกษาของผู้คนแบบข้ามศตวรรษได้ ก็ด้วยความสามารถในการเข้าถึงนักอ่านหลากหลายกลุ่ม และอ่านได้ในหลายมิติเช่นนี้นั่นเอง
==============================
บทความเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
คลิกทำความรู้จักเพิ่มเติมและสั่งซื้อวรรณกรรมโลกสมมติ ลำดับที่ 8
โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ (Flatland: A Romance of Many Dimensions)
โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ (Flatland: A Romance of Many Dimensions)
(วรรณกรรมโลกสมมติ ลำดับที่ 8)
เขียนโดย เอ็ดวิน แอ็บบ็อตต์ แอ็บบ็อตต์ (Edwin Abbott Abbott)
แปลโดย อิศรา โฉมนิทัศน์
บทกล่าวตามโดย เฟย์
บรรณาธิการโดย ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
ออกแบบปกโดย จิรวัฒน์ รอดอิ่ม
180 หน้า ราคา 200 บาท
6 ส.ค. 2564
7 มี.ค. 2566
30 พ.ค. 2567