ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี จาก รัฐ / มวลชน / สื่อมวลชน ถึงโฆษณาชวนเชื่อ

Last updated: 7 ส.ค. 2567  |  17160 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธงชัย  วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี จาก รัฐ / มวลชน / สื่อมวลชน ถึงโฆษณาชวนเชื่อ

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี



ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก

=====

‘รัฐ’ คืออะไรกันแน่


ประเด็นเกี่ยวกับรัฐที่ขออภิปรายในที่นี้ก็คือ ปัญหาว่า ‘รัฐ’ คืออะไรกันแน่? หมายถึงรัฐบาลอย่างที่มักเข้าใจกันทั่วไปหรือ? หมายถึงอำนาจหลักที่ค้ำจุนสถาบันและกลไกต่างๆ ของทางการหรือ? ดูเหมือนว่าคำตอบคือถูกทุกข้อ รัฐบาลเป็นเพียงแค่อำนาจหนึ่งของ ‘รัฐ’ ทั้งหมดก็ได้ อำนาจที่มากกว่าเพื่อค้ำจุน ‘รัฐ’ อยู่นอกรัฐบาลบ่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีมวลชนอยู่กับอำนาจนั้น บ่อยครั้ง ‘ทหาร’ ‘ตุลาการ’ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ไม่เดินร่วมทางกับรัฐบาลก็สามารถล้มรัฐบาลได้ (ไม่ต้องยกตัวอย่างก็คงพอจะรู้กันอยู่) ดังนั้น รัฐหมายถึงอะไรบ้างกลับกลายเป็นคำถามที่ตอบยากขึ้นทุกที ความแปรผันยอกย้อนของการเมืองของสาธารณชนและขบวนการมวลชนเช่นนี้ ไม่อยู่ในจินตภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนของ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เลยแม้แต่น้อย

เราคงตั้งคำถามชุดเดียวกันได้ต่อการควบคุมความรู้ประวัติศาสตร์และข่าวสารใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ นั่นคือ แม้ออร์เวลล์ทำให้ดูทื่อ แต่ในความเป็นจริงซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร? รัฐเป็นผู้ควบคุมไปหมดจริงหรือ? หรือประชาชนและประชาสังคมด้วยกันเองเป็นผู้ทำ?

เรามีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับรัฐที่พยายามบงการความรู้ ข่าวสาร จนทุกวันนี้ก็ยังคงทำอยู่ ความสัมพันธ์และความสำคัญของรัฐในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่พ้นกรอบเดิมๆ ว่า ปัญหาเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สิ่งที่น่าจะขบคิดเลยออกไปจากเดิมมีมาก เช่น ‘รัฐ’ ที่ควบคุมนั้นหมายถึงอะไรบ้าง ควบคุมอย่างไร? มีแต่การใช้อำนาจก่อความกลัวเท่านั้นหรือ? การกล่อมประสาทด้วยอุดมการณ์ความเชื่อจนยินยอมทำตามอย่างว่านอนสอนง่ายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือไม่? หมายถึงใครบ้าง? และนอกเหนือจากรัฐแล้ว การควบคุมบงการและจำกัดเสรีภาพโดยสาธารณชนเป็นอย่างไร? สาธารณชนและตลาดช่วยให้มีอิสระจากรัฐบ้างไหม และกลับกลายเป็นปัจจัยควบคุมบงการสื่อมวลชนยิ่งกว่ารัฐบาลหรือไม่?

เราคงกล่าวง่ายๆ ไม่ได้อีกแล้วว่าการควบคุมของรัฐบาลเป็นต้นเหตุหรือเป็นปัจจัยเดียวของความด้อยคุณภาพของวงวิชาการและสื่อมวลชนไทย ดังที่บ่นกันทุกวี่ทุกวันในทั้งสองวงการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหลักวิชาชีพปวกเปียก ขาดแคลนคุณภาพ ขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ แม้แต่การกำราบปราบปรามเล่นงานกันเองทางการเมือง บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาล บางทีการโยนบาปให้รัฐบาลเป็นแค่การหาแพะที่สะดวกที่สุดเพื่อยืดเวลาที่ตนเองต้องรับผิดชอบสะสางยกระดับวิชาชีพของตน

การถกเถียงสาธารณะตลอดจนความขัดแย้งกระทำผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก โดยที่รัฐบาลหรือกลไกรัฐอื่นๆ ไม่สามารถควบคุมชี้นำได้ สื่อมวลชนของเอกชนและสื่ออินเตอร์เน็ตจำนวนมากกลับมีความเห็นคลั่งชาติ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเสียอีกที่พยายามบรรเทากระแสชาตินิยมหน้ามืด กลายเป็นว่านักวิชาการ สื่อมวลชน และขบวนการมวลชนเอง  (พันธมิตรฯ)  ต่างหากที่ช่วยกันสุมไฟชาตินิยม


แม้ในปัจจุบัน การถกเถียงใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์มีอยู่ตลอดเวลาโดยที่รัฐควบคุมไม่ได้ แต่กลับมีผลเปลี่ยนความรู้ความคิดของสาธารณชนน้อยมาก
บางครั้งการเสนอความรู้ ความคิดใหม่ๆ ก็กลับถูกสาธารณชนลากกลับไปอยู่ในกรอบความรู้เดิมๆ จนได้ จนป่านนี้จึงยังคลั่งชาติเกลียดพม่า ดูถูกลาว ไม่ไว้ใจเขมร เหยียดหยามมลายู และยังคงคิดว่าคนไทยมาจากภูเขาอัลไตอยู่เช่นเดิม

มีเสียงบ่นกังวลถึงภาวะขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์อยู่ในทุกวงการทางปัญญา ทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง วิชาการ และวงการศิลปะวรรณคดี เคยคิดไหมว่า การครอบงำทางปัญญาของยุคเผด็จการ ไม่ใช่การลงมือกำจัดทำลายคนที่ริเริ่มสร้างสรรค์และขบถทางปัญญา มากเท่ากับการรักษาความเรียบร้อยทางปัญญาของทุกวงการ ซึ่งทำลายความริเริ่มสร้างสรรค์ภายในวงการนั้นๆ กันเองอยู่แล้ว ครั้นอำนาจเผด็จการเจือจางลง อำนาจรัฐเข้ามายุ่มย่ามน้อยลง ทุกวงการทางปัญญาจึงยังคงขาดความริเริ่มสร้างสรรค์เช่นเดิม เพียงแต่มีระเบียบเรียบร้อยน้อยลงกว่าเดิมแค่นั้นเอง

คุณภาพของสื่อมวลชนไทยหลังยุคเผด็จการดีขึ้นสักเท่าไรกัน? ปัจจัยใหญ่ๆ ของความด้อยคุณภาพมีทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการควบคุมบงการโดยรัฐ เช่น ลักษณะตลาดหรือผู้บริโภคสินค้าอื่น ขนาดของตลาดทางปัญญาซึ่งเล็กนิดเดียว (เล็กเสียจนวารสารทางวิชาการเอาตัวไม่รอด) เพราะแม้กระทั่งนักวิชาการก็อ่านแต่หนังสือพิมพ์เป็นหลัก ปัญหาขาดหลักการทางวิชาชีพจนแยกไม่ออกระหว่างข่าวสารกับข่าวไม่เป็นสาร ระหว่างสื่อมวลชนกับโฆษณาชวนเชื่อ เสรีภาพของสื่อกับการโกหกโฆษณาใส่ร้ายผู้อื่น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มิใช่ปัญหาอันเกิดจากการควบคุมของรัฐจนไร้เสรีภาพ

แม้กระทั่งปรากฏการณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สื่อมวลชนแข่งกันผลิตรายการเฉลิมฉลองเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งๆ ที่ไม่มีใครควบคุมบงการ ‘อุตสาหกรรมความจงรักภักดี’ ชนิดที่รัฐไม่ได้สั่ง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเองก็คงนึกไม่ถึง เช่น เปลี่ยนทีวีสีเป็นขาวดำ เหล่านี้เป็นผลงานของประชาสังคมเองทั้งสิ้น ออร์เวลล์คงนึกไม่ถึงว่าประชาชนและประชาสังคมเองจะมีความสามารถในการรักษาสถานภาพเดิมได้ถึงขนาดนี้ โดยที่รัฐไม่ต้องทำอะไรสักเท่าไร Minitrue  เป็นผลผลิตของประชาสังคมกันเอง


ออร์เวลล์คงรำคาญเต็มทีกับโฆษณาชวนเชื่อ ‘เว่อร์ๆ’ ของสื่อมวลชนเผด็จการที่สามารถผลิตศัพท์แสงได้คมคาย แต่มักให้ความหมายตรงข้ามกับความเป็นจริง ‘Newspeak’ หมายถึงศัพท์แสงที่สื่อความกลับขาวเป็นดำ การโฆษณาชวนเชื่อมีอยู่มากน้อยในทุกสังคมไม่เฉพาะเผด็จการ ภาษากลับตาลปัตรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่อยู่ได้ด้วยความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง โดยมากเป็นสังคมหลงตัวเองและต้องการอยู่ในโลกแคบๆ ของตัวเอง คิดว่าตนเองวิเศษที่สุดในโลก

Newspeak มักเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมที่ภาษาเป็นกำแพงขวางการเรียนรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโลกภายนอก และเป็นอุปสรรคต่อโลกภายนอกจะมีปฏิสัมพันธ์ทางปัญญากับสังคมนั้นๆ เพราะ Newspeak กล่อมเกลาประชาชนของตนได้ดี ปกปิดประวัติศาสตร์ได้ดี และอาจเป็นปราการป้องกันความคิดพวกขบถได้ด้วย


Newspeak ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมปกติของรัฐพรรค์นั้น แต่เป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย ย่อมหมายความว่าเป็นวิถีชีวิตที่คนทั่วไปไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐร่วมผลิตด้วย
จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา (หรือที่เรียกว่าเป็น ‘ธรรมเนียม’)  มีหลายคำในสังคมไทย ทั้งที่มีมานานแล้ว และที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่มีลักษณะเป็น Newspeak ตัวอย่างเช่น ‘การเมืองใหม่’ หมายถึง การเมืองเก่าล้าหลังปัจจุบันหลายสิบปี ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ หมายถึง ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบต่างๆ ‘สันติวิธี’ หมายถึง พกอาวุธ สะสมอาวุธได้ รุมตีคนอื่นได้ ฆ่าคู่ต่อสู้ได้ ‘กู้ชาติ’ หมายถึงทำให้ชาติพินาศล่มจม

..,

บางส่วนจาก: 
อำนาจกับการขบถ โดย ธงชัย  วินิจจะกูล | บทกล่าวตามในเล่ม 1984 
..,

อ่าน 'บทความ - อำนาจกับการขบถ' อย่างเต็มอิ่ม สามารถคลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984)

----------------------------------------------------------------

หนังสืออื่นๆ ครบทุกอรรถรส ทั้ง วรรณกรรมแปล / วรรณกรรมไทย / งานวิชาการ / บทกวี
เรามีจัดเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย คลิก SPECIAL SET

สมัครสมาชิกตลอดชีพ สนพ.สมมติ รับหนังสือทุกเล่มในคลัง และที่จะออกใหม่จากนี้ตลอดไป คลิกสมัครสมาชิก

..,


คลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี


ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้