Last updated: 26 มิ.ย. 2567 | 10600 จำนวนผู้เข้าชม |
// มนุษย์จะก้าวสู่จุดสูงสุดได้อย่างไร เมื่อปลายทางข้างหน้าเป็นความตายที่ไม่อาจก้าวข้าม //
// เทคโนโลยีกับมนุษย์ ใครคือผู้ชนะ | จริงหรือไม่?! ชีวิตที่สมบูรณ์แบบคือชัยชนะเหนือความตาย //
// ความหมายของชีวิต กับ แนวคิดข้ามมนุษยนิยม //
รากฐานสำคัญของแนวคิดข้ามมนุษยนิยมคือการทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปได้ตามความเชื่อในหลักการวิวัฒนาการ โดยอาศัยวิธีการและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ฐานความคิดที่ว่าการยกระดับประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งดีงามพึงกระทำ เป็นแนวคิดหลักที่แพร่หลายในกระแสคิดแบบข้ามมนุษยนิยม ข้อเสนอว่าด้วยการก้าวพ้นขีดจำกัดของมนุษย์ นับได้ว่ามีอิทธิพลทางความคิดสูงมากในยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นมาจากนักปรัชญาผู้บุกเบิกสายธารแนวคิดหลังมนุษยนิยม (posthumanism) ที่ชื่อว่า แม็กซ์ มอร์ (Max More)
แม็กซ์ มอร์ (Max More)
เขาได้ให้ความหมายของแนวคิดข้ามมนุษยนิยมเอาไว้ว่า รากฐานสำคัญของแนวคิดข้ามมนุษยนิยมคือการทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปได้ตามความเชื่อในหลักการวิวัฒนาการ โดยอาศัยวิธีการและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ว่าเขาจะมีความเห็นว่ากระบวนการวิวัฒนาการโดยตัวมันเองเป็นสิ่งดี แต่ในขณะเดียวกัน มอร์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติผู้ให้กำเนิด (mother nature) ไว้ว่า
You have made us vulnerable to disease and damage. You compel us to age and die … What you have made us is glorious, yet deeply flawed.
สรุปใจความได้ว่ามนุษยชาติรู้สึกตื้นตันใจอย่างมากต่อการสร้างสรรค์ให้พวกเราได้ถือกำเนิดขึ้นมา และดำรงอยู่มาได้ถึงปัจจุบันผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ อย่างไรก็ดี มันยังไม่ดีพอ มนุษย์ยังคงมีขีดจำกัดภายใต้เงื่อนไขทางกายภาพ หรือก็คือมีขีดจำกัดโดยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติด้วยตัวของมันเอง ความหมายของชีวิตในที่นี้ควรจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ มีชัยชนะเหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก แม้กระทั่งความตาย
การมุ่งเอาชนะข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรบนโลก เพื่อตอบสนองเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนา นำมาซึ่งการมองสรรพสิ่งที่นอกเหนือตัวมนุษย์ว่าเป็นทรัพยากรที่จัดสรรได้เบ็ดเสร็จผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ความหมายของชีวิตในที่นี้ควรจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ มีชัยชนะเหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก แม้กระทั่งความตาย
มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (existentialism) คนสำคัญได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่เอาไว้ว่า มนุษย์พิจารณาตัวเองเป็นองค์ประธานของการรับรู้ ขณะเดียวกันย่อมส่งผลให้สิ่งรอบตัวประธานเป็นเพียงวัตถุของการถูกรับรู้ ทรรศนะแบบนี้ไฮเดกเกอร์เรียกว่าการปิดล้อม (enframing)
มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger)
อธิบายให้ชัดเจนขึ้นก็คือ เป็นการนำกรอบที่มนุษย์นิยามไปยื่นให้สรรพสิ่งรอบตัว ซึ่งหมายความว่าสารัตถะของสรรพสิ่งถูกอ้างอิงอยู่กับความสัมพันธ์กับมนุษย์เท่านั้น สารัตถะของเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงไม่ใช่เพียงวิทยาการที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่เป็นวิทยาการที่จำเป็นต้องถูกบังคับให้เปิดออกหรือเผยให้เห็น (revealing) ต่อมนุษย์ในฐานะทรัพยากรพร้อมใช้ (standing-reserve)
Everywhere everything is ordered to stand by, to be immediately on hand, indeed to stand there just so that it may be on call for a further ordering. Whatever is ordered about in this way has its own standing. We shall call it the standing-reserve
ไฮเดกเกอร์ยังชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการปิดล้อมหรือ enframing ที่ปิดกั้นมนุษย์ไม่ให้สามารถเข้าถึงความจริงหรือความสัมพันธ์อื่นบนโลกได้ เขายังเสนอต่ออีกว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตรายโดยตัวของมันเอง แต่สิ่งที่นำไปสู่อันตรายคือ enframing หรือการใส่กรอบความเข้าใจว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงหรือควบคุมสรรพสิ่งบนโลกผ่านเทคโนโลยีได้เบ็ดเสร็จ
เพราะมันทำให้มนุษย์คิดว่าตนเองเป็นเป็นองค์ประธาน แต่แท้จริงแล้วกำลังอยู่ภายใต้กรอบของการปิดล้อมอีกชั้นหนึ่ง เป็นวัตถุที่เข้าถึงตนเองในฐานะประธานของการรับรู้ และยังหนีไม่พ้นการมองมนุษย์อื่นเป็น standing-reserve หรือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ (human resource) ไปด้วย
เทคโนโลยีไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตรายโดยตัวของมันเอง แต่สิ่งที่นำไปสู่อันตรายคือ enframing หรือการใส่กรอบความเข้าใจว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงหรือควบคุมสรรพสิ่งบนโลกผ่านเทคโนโลยีได้เบ็ดเสร็จ
ภาพของการทำให้สรรพสิ่งกลายเป็นทรัพยากรพร้อมใช้ (standing-reserve) ในภาพยนตร์ชุด Altered Carbon ถูกนำเสนอค่อนข้างชัดเจน หากเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นทรัพยากรพร้อมใช้ (standing-reserve of information) สภาวะบุคคลก็ถูกยึดโยงอยู่ที่จิตหรือการตระหนักรับรู้ โดยไม่ยึดโยงอยู่กับร่างกาย ข้อมูลที่ได้จากการแปลงสภาพจากสมองจะถูกเก็บไว้ แม้ร่างกายจะย่อยสลายและสิ้นสภาพการทำงานไปเเล้วก็ยังสามารถนำสภาวะบุคคลไปสวมใส่ในร่างใหม่ได้อย่างเป็นอิสระ (หากมีเงินจ่ายเพียงพอ)
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สำหรับกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวก ‘เมธ’ แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดบางอย่างทำให้สแต็คเสียหายหรือบุบสลายลงไป นั่นก็ไม่ส่งผลอะไรต่อชีวิตของพวกเขา เนื่องจากข้อมูลดิจิทัลที่บรรจุอยู่ในสแต็คได้ถูกอัปโหลดไปเก็บไว้บนดาวเทียม (needlecast) ทุกๆ 48 ชั่วโมง เปรียบเสมือนการสำรองข้อมูลที่สามารถกู้คืนได้ทันใดและทุกเวลา หัวใจสำคัญของชีวิตในที่นี้ก็คือข้อมูลที่เป็นองค์ประธานและไม่พึ่งพิงอยู่กับร่างกาย ร่างกายเป็นสิ่งที่ชดเชยได้เสมอด้วยวิธีการจัดสรรสรรพสิ่งบนโลกให้เป็นทรัพยากรพร้อมใช้ นอกจากนี้จิตยังสามารถนำไปสวมกับร่างใหม่ของตนที่ถูกโคลนเหมือนกับร่างเดิมทุกประการ
ภาพยนตร์ชุด Altered Carbon นำเสนอภาพโลกในอนาคต ที่ซึ่งเจตจำนงที่จะมีอำนาจเหนือเงื่อนไขทางธรรมชาติและการโกงความตายทำงานสำเร็จได้อย่างแท้จริง
==============================
บางส่วนจาก ความหมายของการมีชีวิต : แนวคิดข้ามมนุษยนิยมและศาสนาในภาพยนตร์ชุด Altered Carbon โดย ภูมินทร์ สมัครพันธ์
อ่านเพิ่มเติมได้ใน วาระสมมติ หมายเลข 01 ว่าด้วยวรรณกรรม
(HIDDEN AGENDA - On Literature)
วริศ ลิขิตอนุสรณ์ : บรรณาธิการ
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการสำนักพิมพ์
หลายคนเขียน
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2562
ความหนา : 248 หน้า
ISBN 978-616-7196-90-9
==========
บทความที่คุณน่าจะชอบ
// เราทุกคนต่างมีวาระซ่อนเร้น //
// เทนนิสซี วิลเลียมส์ | ความเหงาและการเป็นผู้หลีกหนี อัตลักษณ์สำคัญในงานเขียน //
// WRITER ถึง Underground Buleteen และ 'วาระสมมติ' พื้นที่แห่งการวิจารณ์ //
==========
สนใจหนังสือชุดหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ สถาปัตยกรรม, นิทรรศการ ไปจนถึงท่วงทำนองของดนตรีและสังคม
คลิกสั่งซื้อเป็น SET ราคาพิเศษ
Set วาระสมมติ
Set หนังสือเด็กอาร์ตต้องอ่าน