เฮ้ย... มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ (ตอนที่ 1)

Last updated: 15 มิ.ย. 2564  |  3451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เฮ้ย... มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ  (ตอนที่ 1)

เคยไหมที่เมื่อได้เห็นหนังสือสักเล่มแล้วเกิดคำถามทำนองว่า "มันมีหนังสือเล่มนี้ด้วยหรอวะ" ทำไมเราไม่เคยอ่าน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ทำไมไม่เคยเห็น!!!

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที่ทำให้นักอ่านหลายคน 'ไม่รู้จัก' 'ไม่เคยเห็น' ยิ่งกว่านั้นคือไม่เคยรู้ว่า 'มีหนังเหล่านี้อยู่ในสารบบ' ทั้งจากการแนะนำของสำนักพิมพ์ หน้าร้าน บนชั้นหนังสือทั้งอิสระและไม่อิสระ ออนไลน์หรือออฟไลน์

ก่อนปี 2562 จะหมดลง สำนักพิมพ์สมมติจึงขอชวนผู้อ่านมารู้จักหนังสือเหล่านี้กันอีกสักครั้ง นี่คือการให้โอกาส 'หนังสือ' และ 'การอ่าน'

เราเชื่อเสมอว่า หนังสือเล่มใดก็ตามที่เรายังไม่เคยเปิดอ่าน หนังสือเล่มนั้นยังเป็นหนังสือใหม่เสมอ ซึ่งจะมีเล่มไหนบ้าง เราไปดูพร้อมๆ กันเลย


1.คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 ไม่แปลกหรอกถ้าคุณจะมองข้ามหรือหลงลืมไปแล้ว




นี่คือหนังสือที่พาเราไปทำความเข้าใจ 'สถาปัตยกรรม' อันเกี่ยวร้อยสัมพันธ์กับ 'คน' นอกเหนือไปจากความงดงาม

กล่าวได้ว่า ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมไม่ใช่เรื่องความงดงามเพียงมิติเดียว แต่ยังรวมถึงเป้าประสงค์ของตัวมันเองด้วย คนและสถาปัตยกรรมล้วนมีความสัมพันธ์ที่โยงไปมาระหว่างกัน เมื่อไขข้อสงสัยในสถาปัตยกรรมมได้ ความคิดของผู้ออกแบบย่อมกระจ่างชัด Space รับใช้สิ่งใดกันแน่ Type ของอาคารแยกแยะออกได้ด้วยสิ่งใด Context ในเชิงสถาปัตยกรรมสำคัญแค่ไหน ร่วมทำความรู้จักกับ 'สถาปัตยกรรม' ผ่านบทความทั้ง 6 ชิ้นนี้ เขียนโดย ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

2. ปรากฏการณ์นิทรรศการ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 แตะๆ 10 ปีพอดิบพอดี



หนังสือที่ตั้งคำถามอันแหลมคมต่อศิลปะร่วมสมัยเพื่อจุดประกายความคิดแก่ผู้สนใจด้านศิลปะ นี่คือข้อเขียนจากประสบการณ์ของผู้ที่เป็นทั้ง ภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์ ผู้ช่วยศิลปิน คนเขียนสูจิบัตร ซึ่งอาชีพเหล่านี้ทำให้ ธนาวิ โชติประดิษฐ คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะทั้งสิ้น มุมมองต่อศิลปะร่วมสมัยของเธอจึงน่าสนใจ ทั้งนี้ พื้นฐานการทำงานไม่ใช่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่น อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือคำถามที่เธอมีต่อศิลปะนั้นๆ ล้วนแหลมคมเหมาะแก่การเป็นเชื้อไฟสำหรับจุดประกายความคิดแก่ผู้สนใจด้านศิลปะเป็นอย่างยิ่ง

 

3. เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ผ่านมา 5 ปีกับอีกเล่มสุดมันส์ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา



ธเนศ วงศ์ยานนาวา ตีแผ่เส้นทางประวัติศาสตร์ของศิลปะ เส้นบางๆ ระหว่าง 'ศิลปะ' กับ 'อนาจาร' โดยเฉพาะภาพนู้ด รวมถึงเชื่อมโยงกับค่านิยมปัจจุบัน ทำให้เข้าใจพัฒนาการของการตีค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในแง่ศิลปะ จะเป็นอย่างไรเมื่อคำว่า 'ปกปิด' กับ 'เปิดเผย' ไม่ได้ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ประเมินความเป็นศิลปะอีกต่อไป แล้วอะไรเล่าที่เป็นมาตรวัดนามธรรมของสิ่งนี้ได้ เมื่อเส้นเรื่องร้อยเรียงถักทอขึ้นมา เราจะได้ทราบกันว่า แม้แต่ 'ขนอวัยวะเพศ' ก็ถูกควบคุมได้ ด้วยวาทกรรมที่แตกต่างกันไป

 

4. เสียงของความเปลี่ยนแปลง
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555



หากคุณหาหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรีคลาสสิคเเละดนตรีป๊อป ที่เขียนโดยนักแต่งเพลง เสียงของความเปลี่ยนแปลง คือหนังสือที่คุณต้องมีไว้ครอบครอง เพราะหนังสือเล่มนี้เรียบเรียงขึ้นจากมุมมองต่อเสียงเพลงของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล ที่เขากลั่นออกมา เพื่อให้เกิดคำถามต่อ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ระหว่างโน้ตเพลง

 

5. คู่มือรัฐประหาร

หนังสือเล่มนี้นำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งมื่อปี พ.ศ. 2556



เหตุใดหนังสือเล่มนี้จึงเคยเป็น 'หนังสือต้องห้าม' เพราะมันบอก วิธีทำรัฐประหาร หรือ เพราะมันบอก วิธี 'ป้องกัน' รัฐประหาร หรือ หรือเพียงเพราะชื่อของมันที่ทำให้ใครบางคน 'ระคายเคือง' โดยที่ยังไม่ต้องเปิดอ่าน หาคำตอบได้ใน คู่มือรัฐประหาร เล่มนี้เท่านั้น!

 

6. แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ

หนังสือเล่มนี้รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556



นี่คือหนังสือรวม 7 บทความสำคัญอันเป็นความคิดทางการเมืองของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ทางการเมืองและประชาธิปไตยสยามไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ด้วยการนำเสนอมุมมองทางการเมือง ซึ่งเป็นความพยายามส่วนหนึ่งที่ต้องการเปิดพื้นที่และวิธีการมองพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด การศึกษาและค้นคว้าทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยนี้ต่อไป

 

7. 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ

ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2557 หลังจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกขายหมดไปอย่างรวดเร็ว (ตามกรอบเวลาแบบเราๆ)



1968: เชิงอรรถการปฏิวัติ อาจนับเป็นงานเขียนเล่มแรกๆ ในโลกภาษาไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 'May 1968' หนึ่งในหลักเขตสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สื่อตะวันตกขนานนามว่า 'The Year That Rocked the World' ท่ามกลางวัฒนธรรมบุปผาชนแห่งทศวรรษ 1960 ปี 1968 เกิดการประท้วงที่สำคัญเกิดขึ้นแทบทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงสงครามเวียดนาม การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรในฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรปและลาตินอเมริกา

สำหรับสภาวะใหม่ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ผู้คนที่มีสำนึกแบบใหม่ต้องการ การห้ามปรามสิ่งใดจึงมักถูกหลักเรื่องเสรีภาพคัดค้านเอาไว้ เสรีภาพจึงแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านไปในตัว ในแง่นี้ เสรีภาพจึงไปด้วยกันกับการปฏิวัติ เสรีภาพจึงกลายเป็นสิ่งอันตรายสำหรับพวกอนุรักษนิยม...

 

8. เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน (Erewhon)
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560



นวนิยายที่เสียดสีสังคมวิคตอเรียนได้อย่างมี 'สีสัน' และ 'แสบทรวง'

Erewhon คือเรื่องราวการผจญภัยอันเข้มข้นในดินแดนใหม่แปลกตา ผู้อ่านจะได้พบกับความวิปริตผิดเพี้ยน // ความเคราะห์ร้าย // และความไร้เหตุผลนานา ที่ปรากฏในดินแดนเอเรวอน อันนำพาไปสู่เรื่องราวต่างๆ ที่แน่นอนว่า 'เราอาจคาดไม่ถึง'

 

9. บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener)

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์กับสนพ.สมมติเมื่อปี พ.ศ. 2551 และอีกครั้ง 2561



งานเขียนของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ นอกจาก Moby - Dick วาฬยักษ์อันโด่งดังแล้ว เรื่องสั้น Bartleby the Scrivener นับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ กล่าวได้ว่า สรรนิพนธ์รวมเรื่องสั้นอเมริกันจำเป็นต้องรวมเรื่องนี้ไว้เสมอ

วาทะอุโฆษของบาร์เทิลบี ที่ว่า I would prefer not to, ถูกถ่ายทอดผ่าน 'ข้าพเจ้า' ที่เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่แรกเห็นบาร์เทิลบี

"ผมไม่ประสงค์จะทำ" -- "ผมไม่ประสงค์จะบอก" -- และ "ผมไม่ประสงค์จะไป" คือวลีที่บาร์เทิลบีพูดเสมอกับตัวละครที่แทนตัวเองว่าข้าพเจ้า การปฏิเสธของบาร์เทิลบีสร้างความงุงงงต่อผู้คนที่อยู่รอบ มันเป็นการยืนกรานปฏิเสธอย่างไร้เยื้อใย ทว่านิ่มนวล ในสิ่งที่ตนเองยึดถือ

พฤติกรรมอันน่าพิศวงของบาร์เทิลบี หากดูผิวเผิน อาจเป็นเรื่องไร้สาระหาเหตุผลไม่เจอในแก่นสาร ทว่าความแปลกประหลาดชวนตั้งคำถามเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังคงต้องการผู้อ่านมาตลอดระยะเวลาที่มันปรากฏตัวขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1853


10. เด็กสาวและชายยิปซี (The Virgin and the Gipsy)

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์กับสนพ.สมมติเมื่อปี พ.ศ. 2561



นวนิยายขนาดสั้นที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่าง 'สัญชาตญาณของมนุษย์' และ 'ข้อกำหนดทางสังคม' โดยนักเขียนผู้สร้างความแตกตื่นต่อสังคมขณะนั้นเป็นอย่างมาก เขาคือนักประพันธ์ที่เขียนถึงความปรารถนาอันซับซ้อนซึ่งซ่อนเร้นอยู่เบื้องลึกของจิตใจได้อย่างยอดเยี่ยม!

ในทุกยุคทุกสมัย ผู้คนต่างแสวงหาตัวตนและพยายามหนีห่างจากกรอบสังคมอันแข็งกระด้าง โดยที่บรรทัดฐานของแต่ละสังคมต่างยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ และฝังรากลึกอยู่ในสำนึกของผู้คนในสังคม จนบางครั้งความเป็นมนุษย์ก็ถูก 'กลืนหาย'

จริงอยู่...สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า 'มนุษย์' นั้นแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นก็ตรงที่ สามารถคิดวิเคราะห์และมีเหตุมีผล ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ย่อมต้องกดทับสิ่งที่เรียกว่า 'สัญชาตญาณ'


ยังมีต่อ ตอนที่ 2

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้