Last updated: 28 ก.ค. 2563 | 4092 จำนวนผู้เข้าชม |
บางส่วนจากบทกล่าวตาม ‘ก้าวข้าม’ เพื่อ ‘ก้าวผ่าน’ ห้วงเวลา ผลพวงจากการอ่าน เดอะ ไทม์ แมชชีน โดย วิษณุ โชลิตกุล
ในเล่ม เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine)
==========
สูตรสำเร็จเชิงจารีตของนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าใครตั้งไว้ ถือว่านวนิยายวิทยาศาสตร์ที่แท้ นอกจากแกนหลักของเรื่องจะต้องเป็นการนำเสนอบททดลองทางจินตนาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ที่ขัดแย้งกับความรู้ทางจารีตเดิม เพื่อสร้างประเด็นขัดแย้งหรือชวนตั้งคำถามในความเป็นไปได้แล้ว จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่างพร้อมกัน ได้แก่
มุมมองดังกล่าวเน้นความสำคัญของจินตนาการต่ออนาคตเป็นสำคัญ เพื่อที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา สถานที่ หรือกายภาพใดๆ เพื่อเข้าสู่โลกที่ไร้ข้อจำกัดและหลากหลาย ไม่ถูกผูกมัดด้วยตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งมากจนเกินขนาด สร้างมุมมองใหม่ที่นอกเหนือจากปัจจุบันหรือเหตุผลที่ซ้ำซาก
แหล่งกำเนิดของมุมมองนี้มาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการค้นคว้าหาความรู้ของบรรดานักคิดนักเขียนยุโรป ตั้งแต่ปลายยุคกลางมาจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งต้องถูกรบกวนหรือไล่ล่าโดยกลุ่มนักบวชและคนเคร่งศาสนาในคริสตจักร ซึ่งเคยถือว่า วิทยาการทุกชนิดที่เป็นศาสตร์คือความรู้แบบ ‘เดียรถีย์’ ที่ต่อต้านพระคริสต์ (anti-Christ knowledge) ทั้งสิ้น
ความจำเป็นต้อง ‘อำพราง’ เหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นอดีตไปแล้วหลังจากผ่านพ้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ตราบใดที่การนำเสนอแนวคิดใหม่ซึ่งอาจจะสร้างศัตรูทางความเชื่อได้ง่าย ก็ยังคงเป็นแรงขับให้นักคิดนักเขียนเลือกใช้แนวทางนวนิยายวิทยาศาสตร์ตามรอยจารีตเก่าที่มีคนถากถางเอาไว้ตามสมควร นวนิยายวิทยาศาสตร์ทุกเรื่องจึงหนีไม่พ้นที่จะมีแกนหลักบนพื้นฐานของมุมมองแบบยูโทเปียหรือดิสโทเปียเป็นส่วนผสมหลักเสมอไม่ว่าจะพยายามเพียงใด นอกเหนือจากสูตรสำเร็จเชิงจารีต 4 ประการอันเป็นประเด็นเชิงเทคนิคสำคัญ
ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า อะไรคือระดับของความพอเหมาะพอดีที่จะทำให้นวนิยายวิทยาศาสตร์ไม่กลายเป็นการคาดเดาหรือคุณไสย เพื่อสื่อความถึงทัศนคติต่ออนาคตอย่างเลื่อนลอย โดยไม่ต้องรอให้พิสูจน์ความถูกต้องของการคาดเดา ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจน และมีส่วนทำให้สลัดไม่พ้นจากปรัมปราคติแบบยุคโบราณต่อไป ไม่ว่าจะพยายามใช้ศัพท์แสงที่เป็นเทคโนโลยีหรือหลักวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เข้ามาขัดเกลาอย่างมากเพียงใด
บางทีจุดอ่อนเช่นนี้ก็อาจจะเป็นจุดแข็งได้ เพราะการที่นวนิยายวิทยาศาสตร์ยังมีส่วนผสมของมุมมองยูโทเปียหรือดิสโทเปีย ก็ทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของสังคมมนุษย์รอบตัวที่จับต้องได้ เข้ากับจินตนาการที่ผู้เขียนนำพาหรือโลดแล่นไปในระหว่างบรรทัดโดยไม่หลุดโลกไปอย่างสิ้นเชิง
ตรงนี้เองอาจจะเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ เดอะ ไทม์ แมชชีน ของ เอช.จี. เวลส์ ยังคงดึงดูดผู้อ่านเอาไว้ให้ไม่เสื่อมคลายไปกับยุคสมัยหรือสถานการณ์ของจิตสำนึกผู้คนที่เปลี่ยนรุ่นในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
โดยเนื้อหาแล้ว เดอะ ไทม์ แมชชีน จัดว่าเป็นนิยายวิทยาศาตร์สังคม (Social science fiction) ซึ่งสามารถตีความได้สองทางพร้อมกันคือ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษยชาติกับวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี กับเป็นเรื่องส่งสาส์นทางการเมือง โดยใช้เครื่องมือนำเสนอในรูปวรรณกรรมวิทยาศาสตร์
แต่ผู้อ่านก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดของภูมิปัญญาแห่งยุคสมัยไว้ว่า เวลส์เขียนเรื่องนี้ก่อนที่ สุพรามันยัน จันทรเสกขาร์ (Subrahmanyan Chandrasekhar: 1910 - 1995) จะค้นพบทฤษฎีหลุมดำ และ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking: 1942 -2018) จะค้นพบทฤษฎีบิ๊กแบงก์
โดยธาตุแท้ เวลส์เป็นคนที่มีแนวคิดทางการเมืองสังคมนิยมเฟเบียนแบบอังกฤษอย่างเปิดเผย แนวคิดทางการเมืองนี้สะท้อนเข้ามาในนวนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สังคมในรูปของการแบ่งชนชั้น หรือการต่อต้านเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และการกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
แกนหลักของเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ การต่อสู้ทางชนชั้นเนื่องจากข้อบกพร่องของเศรษฐกิจทุนนิยม และ จุดบอดของความคิดว่าด้วยความก้าวหน้า
ประเด็นแรกสุด เวลส์มีความคิดในการวิเคราะห์สังคมแบบนักสังคมนิยมทั้งหลายในคริสต์ศตวรรษที่ 18 - 19 นั่นคือเริ่มต้นมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ที่ทำให้คนแบ่งออกเป็นชนชั้นที่แตกต่างกันชัดเจน โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจทุนนิยมที่ทำให้คนร่ำรวยจากการสะสมทุนทั้งที่ไม่ได้ทำการผลิตด้วยตัวเอง แต่อาศัยแรงงานของคนงานที่ต้องแบกรับแอกของสังคมอย่างเต็มที่เป็นช่องทางของการกดขี่แรงงาน
การขูดรีดแรงงานโดยกลุ่มนายทุนผู้ครอบครองกลไกรัฐไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ แต่ยืดเยื้อยาวนานข้ามเวลาไปจนกระทั่งถึงยุคที่นักเดินทางข้ามเวลา (ตัวเอกของเรื่อง) เดินทางไปถึงคือแปดแสนปีข้างหน้า (เวลาในเรื่องคือ ค.ศ. 802701) จนกระทั่งเหลือเพียงแค่ 2 ชนชั้นที่เป็นศัตรูกันโดยเปิดเผย คือ พวกอีลอย (ชนชั้นนำ) กับพวกมอร์ล็อค (ชนชั้นล่าง)
เวลส์มองเห็นว่า ตราบใดที่ทุนนิยมยังทำหน้าที่กดขี่ขูดรีดไปไม่สิ้นสุด ชนชั้นแรงงานจะหลบหนีลงใต้ดินไปทำการต่อสู้จนกระทั่งพวกเขากลายเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ ส่วนชนชั้นนำที่อยู่บนดินพร้อมกับอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ จะกลายเป็นกลุ่มคนที่เปราะบาง ขี้เกียจ และขึ้นต่อผู้อื่นตลอดเวลา ไร้ทางป้องกันตัวเอง
ประเด็นปัญหาก็คือ อุดมคติแบบสังคมนิยมเฟเบียนของอังกฤษที่เวลส์เข้าร่วมกลุ่มด้วย ทำให้เขามีมุมมองการเปลี่ยนแปลงต่างกับพวกนักเปลี่ยนแปลงสังคมแบบมาร์กซ - เองเกลส์ซึ่งร่วมสมัยเดียวกัน ที่มักชื่นชมการปฏิวัติว่าเป็นทางเลือก
เวลส์ย้ำว่าอันตรายของการปฏิวัติจะทำให้คนชั้นล่างสะสมความเกลียดชังขึ้นมาในกระบวนการสร้าง ‘จิตสำนึกทางชนชั้น’ เป็นสรณะ จนกลายพันธุ์เป็นมนุษย์กินเนื้อคนแบบพวกมอร์ล็อคที่ขาดวินัย และพร้อมทำลายล้างใดๆ ก็ตามที่ขวางหน้า พวกเขายอมให้พวกอีลอยถูกเลี้ยงดูจนอิ่มหมีพีมันในเวลากลางวัน เพื่อที่จะไล่ล่าพวกนี้มากินเป็นอาหารในยามราตรี
ผู้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้จะต้องตระหนักถึงสาระที่เวลส์ต้องการสื่ออย่างรอบคอบ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยแนวคิดเบื้องหลังงานนี้แจ่มชัดขึ้น โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจเป็นปฐมกับแนวคิดของขบวนการสังคมนิยมเฟเบียนของอังกฤษ ซึ่งมุ่งขจัดความเลื่อมล้ำทางสังคมยุโรปยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สังคมชนบทถูกทำให้ล่มสลายด้วยเศรษฐกิจเงินตรา เพื่อให้คนในชนบทที่ล้มเหลวในการดูดรับความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป็นนายทุนชั้นนำ ต้องกลายสภาพมาเป็นแรงงานรับจ้างในเขตเมือง
นอกจากนี้ยังทำให้ตัวเมืองใหญ่โตครอบงำวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ แปรเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงเครือญาติมาเป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายและผลประโยชน์เฉพาะหน้า ที่ก่อให้เกิดปัญหาจิตแปลกสภาวะ (Alienation) อย่างกว้างขวาง และแปลงสภาพเป็นในสิ่งที่ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce: 1882 - 1941) เรียกในเวลาต่อมาว่า ‘อัมพฤกษ์ทางศีลธรรม’ (ถอยหลังก็ไร้พื้นที่ หนีก็ไม่ได้ ก้าวข้ามก็ไม่พ้น) แต่ไม่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างกะทันหันแบบการปฏิวัติล้มล้างระบบเดิม หากต้องการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องบนพื้นฐานของการสั่งสมทางปัญญาจากเบาสู่หนัก
ผู้อ่านที่อ่านนวนิยายของเวลส์เรื่องนี้จบแล้ว และหวังว่าจะได้จินตนาการในเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ก็นับว่าคงจะไม่เพียงพอ เพราะการคลี่คลายของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบัน มาไกลเกินกว่าที่งานเขียนเก่าแก่ของเวลส์จะสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้ได้! แต่ในมุมมองทางสังคม เรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น การหาทางออกจากข้อบกพร่องของเศรษฐกิจทุนนิยม และความวาดหวังในโลกที่ดีกว่า มีความสุขมากกว่า ก็ยังคงเป็นวาทกรรมที่อมตะไปไม่จบสิ้น!
==========
คลิกอ่านและสั่งซื้อ เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine)
หนึ่งในชุดงานโลกสมมติ วรรณกรรมแปลคลาสสิคที่ให้ภาพของโลกในอุดมคติและโลกในขั้วตรงข้าม เป็นวรรณกรรมคัดสรรของนักคิดและนักเขียนของโลกที่เสนอมุมมองต่อการจัดระเบียบ ควบคุมสังคม
สนใจสั่งซื้อยกชุดราคาพิเศษ