Last updated: 9 ต.ค. 2567 | 8203 จำนวนผู้เข้าชม |
มีหลายครั้งที่คนเรานึกอยากจะต่อสู้กับโชคชะตาของตน
และการทำเช่นนี้อาจต้องท้าทายกฎแห่งธรรมชาติ
เรื่องราวของการท้าทายนี้จำนวนไม่น้อยถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษร...หนึ่งในนั้นคือ 'แฟรงเกนสไตน์ หรือโพรมีธีอัสยุคใหม่'
คลิกสั่งซื้อ แฟรงเกนสไตน์ หรือโพรมีธีอัสยุคใหม่' (Frankenstein; or, The Modern Prometheus)
====
“จงดูเถิด ข้าเสื่อมเสียเกียรติเท่าใดครั้นต้องทนรับการทรมานนี้ไปชั่วกัลป์!”
- โพรมีธีอัส -
โพรมีธีอัส (Prometheus) เทพเจ้าในปกรนัมกรีกกล่าวไว้เช่นนี้ หลังจากเขาถูกเหล่าทวยเทพลงทัณฑ์ เพราะลอบนำไฟไปมอบให้แก่เผ่าพันธุ์มนุษย์ จนมนุษย์เกิด 'ความรู้' และ 'อำนาจ' ในระดับทัดเทียมกับบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย เมื่อสถานะของเทพเจ้าสั่นคลอน โพรมีธีอัสจึงถูกลงโทษจากซุส (Zeus)
ไม่ต่างอะไรกับ วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ นักศึกษาปรัชญาธรรมชาติ ผู้สรรค์สร้างอสูรกายน่ารังเกียจที่ตราตรึงใจนักอ่านหลายคน ตัวละครจากปลายปากกาของนักเขียนหญิงวัยเพียงยี่สิบชื่อ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley: 1797-1851)
แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley: 1797-1851)
'โพรมีธีอัส' และ 'แฟรงเกนสไตน์' มีความคล้ายคลึงกันในฐานะของ ‘ผู้สร้าง’ ซึ่งถูกชะตากรรมลงโทษในข้อหา ‘ฝ่าฝืนกฎธรรมชาติ’ โดยเชลลีย์เองได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า 'แฟรงเกนสไตน์ หรือโพรมีธีอัสยุคใหม่' (Frankenstein; or, The Modern Prometheus)
สัตว์ประหลาด อสูรกาย ที่ตามหลอกหลอนมนุษย์ผู้สร้าง
แฟรงเกนสไตน์เกรงกลัว 'ความตาย' และแสวงหาความเป็นนิรันดร์ เขาปลุกชิ้นส่วนมนุษย์ขึ้นมาจากโลกหลังความตาย ทว่าเหล่าชิ้นส่วนที่แฟรงเกนสไตน์ได้มอบชีวิตที่สองให้ กลับกลายเป็น 'สัตว์ประหลาด' (คนที่เห็นนิยามไว้เช่นนี้) หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวชนิดที่เขาเองก็ไม่อาจทนรับภาพความสยดสยองนี้ได้
แฟรงเกนสไตน์ตัดสินใจหนี 'สิ่งมีชีวิต' นี้ไปเพียงเพื่อที่จะได้พบว่า อสูรกายตนนั้นกลับมาคร่าชีวิตคนรอบตัวเขาด้วยความเคียดแค้น มันแค้นที่ 'ผู้สร้าง' ไม่เพียงปล่อยปละละเลย แต่กลับรังเกียจเดียดฉันท์!
ความรับผิดชอบของมนุษย์ และการเห็นคุณค่าต่อสิ่งต่างๆ
ช่วงที่เชลลีย์เริ่มเขียน 'แฟรงเกนสไตน์' คือยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น นวนิยายนี้ได้ตั้งคำถามต่อ 'ความรับผิดชอบของมนุษย์' ที่มีต่อสิ่งประดิษฐ์ของตนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และเป็นคำถามสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่คิดค้นวิวัฒนาการใหม่ๆ อย่างมนุษย์ ให้ฉุกคิดว่าวิวัฒนาการ ‘เหนือธรรมชาติ’ อย่างการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตอื่น (ที่มีความคิดเทียบเท่ามนุษย์) อาจนำไปสู่หายนะได้ ถ้าผู้สร้างไม่มีจริยศาสตร์ต่อการกระทำดังกล่าว
เช่นที่ 'แฟรงเกนสไตน์' (ผู้สร้างสัตว์ประหลาด) ต้องเผชิญความสูญเสีย ไม่ใช่เพราะฝืนกฎแห่งความตายของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกระทำของเขาที่ไม่เคยเห็นคุณค่าและเข้าอกเข้าใจ 'สิ่งประดิษฐ์' ของตนเองเลยแม้แต่น้อย -- ในฐานะผู้สร้าง เขาไม่เคยปกป้องหรือเหลียวแลมันแม้แต่น้อย
จะว่าไป...ชะตากรรมของแฟรงเกนสไตน์คงไม่อาจเทียบเท่าความเจ็บปวดรวดร้าวของอสูรกายตนนั้นแม้เพียงเศษเสี้ยว ความเปล่าเปลี่ยวที่เหมือนมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวบนโลกใบนี้ นับเป็น 'ความหนาวเหน็บ' ที่คนคนหนึ่งจะแบกรับไว้ได้
มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่ถูกสาปให้ทนทุกข์ !?
นอกจากนี้ เส้นทางชีวิตอันน่ารันทดของแฟรงเกนสไตน์ยังชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับความหมายของ ‘ธรรมชาติ’ ที่มนุษย์นิยามขึ้นมาอีกด้วย เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์ถูกสร้างให้ต้องการเปลี่ยนแปลง คิดค้น และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตอยู่ตลอดเวลา
แล้วเพราะเหตุใดเล่า การทำตามความอยากรู้อยากเห็นโดย 'สัญชาตญาณ' ของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องเลวร้ายจนต้องได้รับการลงทัณฑ์ หรือแท้จริงแล้วเราถูกสาปให้ต้องทนทุกข์เช่นนี้อยู่เรื่อยไป
คลิกสั่งซื้อ แฟรงเกนสไตน์ หรือโพรมีธีอัสยุคใหม่'
(Frankenstein; or, The Modern Prometheus)
===========
สนใจคลิกสั่งซื้อวรรณกรรมแปลคลาสสิคครบชุด
ราคาสุดพิเศษ!!