Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 7174 จำนวนผู้เข้าชม |
บางส่วนจาก บทกล่าวตาม โทษฐานที่ตาไม่บอด โทษทัณฑ์ของการมองเห็น โดย มุกหอม วงษ์เทศ
ในเล่ม ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) ผลงานของเจ้าพ่อนักเขียนไซไฟดิสโทเปีย เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells)
==========
การไม่มีมโนทัศน์ที่ดูเป็นธรรมชาติอย่างยิ่งสำหรับมนุษยชาติดังเช่นการมองเห็นเป็นสิ่งที่ทำให้ The Country of the Blind ดูจะเป็นดินแดนไม่ปกติ
แต่หากมองในแง่วัฒนธรรม โดยเฉพาะหมู่ชนโดดเดี่ยวที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ปราศจากปฏิสัมพันธ์กับคนต่างเผ่า (แม้ว่าในความเป็นจริงชนเผ่าแบบนี้หายากยิ่งกว่ายาก) ก็ไม่มีอะไรน่าแปลกใจที่ดินแดนแห่งคนตาบอดจะปราศจากคอนเซ็ปท์ว่าด้วย “แสงสว่าง” “การมองเห็น” และ “ตาบอด” เพราะในดินแดนแห่งการแบ่งชั้นวรรณะก็ไม่มีคอนเซ็ปท์เกี่ยวกับความ “เสมอภาค”
และแน่นอน, เราอาจจินตนาการถึงดินแดนแห่งคนหูหนวกที่ไม่มีคอนเซ็ปท์เกี่ยวกับ “เสียง” และ “ดนตรี” ฉะนั้นการมองเห็น (หรืออะไรอื่น) ที่ถือเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติและคุณค่ามาตรฐานปกติในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจถูกจัดเป็นความวิปริตและภัยคุกคามความมั่นคงของเผ่าพันธุ์ในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง และเมื่อถูกพิพากษาเป็น “เชื้อร้าย” เสียแล้วก็ย่อมต้องกำจัดถอนรากถอนโคน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่ามนุษย์จะไม่ประสีประสาว่ามีบ้านอื่นเมืองอื่นที่ทำอะไรไม่เหมือนพวกเขา “เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม” เป็นสุภาษิตโบราณที่ส่งมอบวลีซึ่งมองผิวเผินเหมือนจะเป็นคำเตือนเฝือๆ ดาษๆ แต่ทว่าจริงๆ แล้วเป็นภูมิปัญญาล้ำค่าที่ชี้ทางสว่างให้กับเหล่ามนุษย์ปุถุชนว่า เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นที่ผู้คนมีขนบธรรมเนียมต่างจากเรา ไม่ว่าจะพิสดาร น่าหัวร่อ หรือชวนสะอิดสะเอียนแค่ไหน ก็จงประพฤติปฏิบัติตามเขา
ที่พึงทำเช่นนี้นั้นย่อมละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัย หลีกเลี่ยงปัญหายุ่งยากและความเดือดร้อนจากการไม่ทำตามวิถีของบ้านเมืองอื่น
ยิ่งในกลียุคที่ผู้คนจำนวนมากต่างป่วยทางจิตกลายเป็นพวกคลุ้มคลั่งง่ายด้วยแล้ว คำพังเพยนี้ก็ยิ่งเปล่งประกายเจิดจรัส ท้ายที่สุดหากจะดั้นด้นไปให้สุดทาง ให้สาสมกับสภาวะการณ์จนตรอก มันคือการตระหนักรู้ที่อาจระคนด้วยความรวดร้าวและความละอายว่า “เข้าเมืองตาบอดก็ต้องบอดตาตาม” แล้วละทิ้งมโนธรรมสำนึกและการยืนหยัดในคุณค่า หลักการและความจริงที่เปล่าประโยชน์ทั้งปวง
ก้มหน้ายอมรับอย่าง Nunez เสียเถิดว่า “ฉันบ้าไปเอง” หากถูกซักถามว่ายังคิดว่าตัวเอง “มองเห็น” อยู่หรือไม่ ขณะที่เรากำลังลืมตาโพลงเพ่งจ้องผู้ไต่สวนตาบอดอยู่อย่างตาไม่กะพริบ ก็จงหลับหูหลับตาตอบให้ถูกต้องและถูกใจแบบ Nunez ว่า “ไม่เห็นแล้ว นั่นเป็นความโง่เขลาทั้งเพ คำคำนั้น [see] ไม่มีความหมายอะไรเลย--ยิ่งกว่าไม่มีความหมายเสียอีก!”
การมองเห็นไม่ได้เป็นปรอทวัดระดับสติปัญญาและจริยธรรมหรือเป็นเครื่องรับประกันความดีเลวของใครแน่ๆ แต่ปัจเจกชนที่มองเห็นจะมีชีวิตอยู่อย่างไรในสังคมที่มองไม่เห็น? ปัจเจกชนที่เห็นสรรพสิ่งแจ่มกระจ่างจะมีชีวิตอยู่อย่างไรในสังคมที่บอดสนิท?
ถึงจะชวนปวดใจและทำใจยากแต่กลับเข้าใจไม่ยาก หากอยากอยู่รอดปลอดภัย จงทำตาให้บอด เฉกเช่นผู้คนที่ปราศจากความสามารถในการมองเห็นของประเทศนั้น ไม่ว่าจะด้วยการหลับหูหลับตา ควักนัยน์ตาตัวเองออกมา หรือสะกดจิตตัวเองเสียใหม่
จากมองเห็นอะไรไม่เหมือนคนอื่นๆ เป็นมองอะไรไม่เห็นเหมือนคนอื่นๆ อัดอั้นตันใจเพียงใดถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าถูกฝูงพลเมืองดีตาบอดรุมทำร้าย หรือถูกผู้ทรงอำนาจของเผ่าเรียกเข้าถ้ำไปปรับทัศนคติก่อนจะผ่าตัดเอาลูกนัยน์ตาออก ทว่าหากพร้อมจะเผชิญกับภัยและโทษทัณฑ์ของการมองเห็นแล้วไม่ยอมนิ่งเงียบได้ การพึ่งโชคชะตาคงจะเป็นความหวังมากกว่าความเป็นเหตุเป็นผล
ความเป็นอื่นไม่ได้หมายถึงคนอื่น ชนชาติอื่น สถานที่อื่น ภาษาอื่น ประเพณีวัฒนธรรมอื่น ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์อื่น หรือความไม่ใช่ตัวเรา-ของเรา-แบบเราที่ดำรงอยู่ในสังคมอื่น--เท่านั้น ความเป็นอื่นที่ทั้งขื่นขมและชวนผะอืดผะอมยิ่งกว่าคือความเป็นอื่นที่ไม่มีวันปรองดองได้ระหว่างตัวเรากับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
คลิกสั่งซื้อ ดินแดนคนตาบอด
คลิกสั่งซื้อ Set 8 เล่ม ครบชุดวรรณกรรมโลกสมมติ
ในราคาสุดพิเศษ