Last updated: 19 มี.ค. 2566 | 932 จำนวนผู้เข้าชม |
หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของรัฐศาสตร์แนวใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า ‘รัฐศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย’
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช วิเคราะห์วิจารณ์ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงในยุครัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ที่ครอบคลุมถึงช่วงก่อนที่สังคม (ไม่) ประชารัฐ ได้ช่วยก่อการรัฐประหาร จนกระทั่งถึงการรัฐประหารครั้งถัดไปในปี 2557) ที่ศีลธรรมกลายมาเป็นเครื่องมือสำหรับการล้มระบอบประชาธิปไตย โดยเน้นการทำวิจัยอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งกับหมู่นักเคลื่อนไหวในสี่ ภูมิภาคของประเทศไทย
ส่วนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นจนต้องหยิบมาอ่านคือ ผู้เขียนไม่ได้ศึกษาการชุมนุมใหญ่ในเมืองหลวง ไม่ได้คุยแต่กับผู้นำชื่อดัง แต่ศึกษาการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองในฐานะที่เป็นชีวิตประจำวันของผู้คน (politics of everyday life) และคุยกับคนในทุกระดับของการเคลื่อนไหว
เลนส์ที่ใช้คืออารมณ์ความรู้สึก และผลกระทบต่อความคิด จิตสำนึกทางการเมืองและสังคม ที่เรียกว่า แรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์ (cultural force of emotion) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักและความเกลียดชัง
การมองและวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกทำให้รูปแบบและความหมายของศีลธรรมปรากฏตัวอย่างชัดเจน ในยุครัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ศีลธรรมไม่ใช่แค่เรื่องศาสนาและเรื่องส่วนตัว แต่กลับกลายเป็นอาวุธที่ถูกใช้เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่คนเสื้อเหลืองมองว่าขาดศีลธรรมอันดี และเพื่อทำร้ายคนที่ขาดศีลธรรมอันดี
ในทั้งสองกรณี ความหมายของการขาดศีลธรรมอันดีคือ การไม่แสดงความจงรักภักดีเพียงพอต่อสถาบันกษัตริย์ และแน่นอนว่าคนเสื้อเหลืองย่อมมองตัวเองว่าเป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยศีลธรรมอันดี ศีลธรรมได้กลายมาเป็นเรื่องการเมืองและเรื่องสาธารณะ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ คนเสื้อเหลืองไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่รู้สึกและใช้อารมณ์ความรู้สึก โดยอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาเกิดจากการความห่วงกังวลว่าอาจเสียผลประโยชน์ เป็นห่วงสังคม ศีลธรรม และกลัวสถาบันล่มสลาย
ส่วนคนเสื้อแดง อารมณ์ความรู้สึกมาจากประสบการณ์ที่ถูกปฏิเสธ แม้แต่ความเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเสมอไป ลักษณะอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาจึงค่อนข้างแตกต่าง
แทนที่จะเกลียดหรือพยายามทำร้ายคนที่คิดต่างจากเขา ธัญณ์ณภัทร์พบว่าคนเสื้อแดงมีอารมณ์ความรักหลากหลายแบบที่ปรากฏตัวในการเคลื่อนไหว ความรักต่อประชาธิปไตยและความรักต่อประชาชน ความรักชนิดนี้มาจากประสบการณ์ความยากลำบากในการเข้าถึงความยุติธรรม
ธัญณ์ณภัทร์เขียนว่า “ความหมายของความยุติธรรมมาจากประสบการณ์ของการเรียนรู้ในบริบทและตำแหน่งแห่งที่ของคนเสื้อแดง ส่วนความอยุติธรรมอยู่บนพื้นฐานของการขาดซึ่งหลักนิติรัฐและการใช้ความรุนแรงกดปราบของรัฐในสังคมไทย”
การที่คนเสื้อแดงนิยามเพื่อนร่วมต่อสู้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่าและกล้าหาญต่อการต่อต้านระบบอย่างชัดเจน ในช่วงเวลาและบริบทที่สถาบันกษัตริย์ถูกนิยามว่ามีคุณค่ามากที่สุด (และมากกว่าประชาชน) เป็นการกระทำที่ทั้งกล้าหาญและสำคัญอย่างยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าช่วงเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ วันที่ 24 มิถุนายน 2475
..,
บางส่วนจาก คำนิยม โดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
สั่งซื้อหนังสือ คลิก