ราชาชาตินิยม | วาทกรรม ความเชื่อ และลัทธิบูชา

Last updated: 19 มี.ค. 2566  |  3685 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ราชาชาตินิยม | วาทกรรม ความเชื่อ และลัทธิบูชา

ถึงแม้ว่า ‘อุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม’ ไม่อาจใช้อธิบายแรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์และความคิดของกลุ่มคนเสื้อเหลืองได้ทั้งหมด แต่นำมาใช้ทำความเข้าใจความรู้สึกรักอย่างแรงกล้าที่มีต่อกษัตริย์ของผู้สนับสนุนเสื้อเหลืองหลายคน

ดังที่ได้กล่าวว่าความรู้สึกผูกพันลึกซึ้ง (a deep feeling of relevance) ต่อกษัตริย์ เป็นผลของการปลูกฝังความเชื่อในเรื่องอำนาจเชิงบารมีของสถาบันกษัตริย์โดยกระบวนการสร้างวาทกรรมความเป็นไทยและประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยม โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา

ประเด็นนี้ ธงชัย วินิจจะกูล (2014) กล่าวว่า ความสำเร็จของประชาธิปไตยแบบราชาชาติไม่ได้เป็นผลมาจากการเมืองและโอกาสทางการเมืองเท่านั้น แต่มาจากทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งทุนทางสังคมและวัฒนธรรมไม่มีกลุ่มทางการเมืองใดเทียบเคียงได้

วาทกรรมแบบประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยมถูกผลิตและเผยแพร่โดยการทำให้เป็นสินค้า (commo-dified) แบบหนึ่ง และการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ผู้คนมองและพบเห็นภาพของกษัตริย์และพระราชวงศ์ได้ตลอดเวลา (Jackson, 2010)

กระบวนการข้างต้นเรียกว่า ‘commodified fetishism’ หรือการสร้างความเชื่อและลัทธิบูชาสินค้าอย่างเทิดทูน คลั่งไคล้ในภาพของกษัตริย์และราชวงศ์ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อกษัตริย์ ที่ถูกทำให้เป็นการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งในระบบทุนนิยม โดยการปฏิบัติการของสื่อ สินค้า โครงการต่างๆ ในโรงเรียน โครงการพระราชดำริ การทำกิจกรรมของหน่วยงานราชการต่างๆ และในชีวิตประจำวันของคนไทย บนฐานของแนวคิดและอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมที่กลายเป็นมาตรฐานของคนทุกคนในสังคม

สิ่งนี้คือเศรษฐกิจที่ทำให้ความเชื่อและวาทกรรมแบบราชาชาตินิยมเป็นสิ่งร่วมสมัยอย่างแท้จริงของสังคมตลอดเวลา โดยการเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ในแบบเป็นที่ต้องการสูง (high-demand) และกระตุ้นส่งเสริมโดยเรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในความจริงของผู้คน

ผลที่เกิดขึ้นคือ กษัตริย์ถูกแสดงในฐานะบุคคลที่เสียสละให้แก่ประชาชนและประเทศ ผู้ซึ่งมีความเที่ยงธรรมและเมตตากรุณา อีกทั้งปกป้องสังคมไทย ความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาจากความศรัทธาอันเป็นผลของการผลิตซ้ำความเป็นไทยในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติมายาวนาน

และเป็นกระบวนการที่ทำให้อารมณ์ความคลั่งไคล้ภาพกษัตริย์กลายเป็นสินค้า ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งหมดของการผลิตและผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์มีมูลค่าเท่าไหร่ในกระบวนการที่ทำให้กลายเป็นสินค้าในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ต้นทุนทางสังคมที่แท้จริงคือ ความศรัทธาทั้งหมดและผลจากความศรัทธาที่สัมบูรณ์นั้นมีพลังมากในรูปแบบของแรงขับทางอารมณ์ความรู้สึกที่แพร่หลายในหมู่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ของกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งรักและศรัทธาอย่างถึงที่สุดต่อกษัตริย์และออกมาปกป้องกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ในฐานะที่เป็นหน้าที่ของพวกเขาและสมาชิกที่ดีของสังคมไทย หรือ ‘ลูกของพ่อ’

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งพยายามกระตุ้นและส่งเสริมอารมณ์ความรู้สึกและวาทกรรมแบบราชาชาตินิยมในฐานะยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการทำความเข้าใจกลุ่มคน (ส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง) ที่เข้าร่วมกับกลุ่มประท้วงเสื้อเหลืองและขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยมและความเป็นไทยยังถูกผสานเข้ากับชีวิตประจำวันของคนไทย ในขณะที่หลักพระพุทธศาสนาถูกใช้ในฐานะเครื่องมือสนับสนุนประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยม ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันต่อกษัตริย์ของคนไทยหลายคน

โดยเฉพาะความรู้สึกรักและศรัทธา (และจงรักภักดี) ต่อสถาบันกษัตริย์ ความรู้สึกเหล่านี้ฝังอยู่ในการรับรู้และจิตสำนึก และกลายมาเป็นมาตรฐานของอารมณ์ความรู้สึกแบบศีลธรรม สอดคล้องกับ อลัน คลิมา (Alan Klima, 2004) ที่กล่าวถึงอารมณ์ความรักในสังคมไทยว่า มีความซับซ้อนและย้อนแย้งทางความหมายในสังคมไทย

ความรักเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีคุณค่าสูงภายในครอบครัวและความสัมพันธ์แบบโรแมนติก แต่ในหลักพระพุทธศาสนา ความรักเกี่ยวข้องกับความปรารถนาหรือตัณหาและความใคร่

ดังนั้น ความรักในแง่มุมนี้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อความเมตตาที่เป็นรูปแบบของความรักสูงสุดที่ปราศจากการแบ่งแยกและเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลเฉพาะในทางความรัก โดยเฉพาะผู้ที่มีตัณหา

อย่างไรก็ตาม ความรักเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแน่นอนในทางขอบเขตการปฏิบัติโดยทั่วไปของสังคมไทยที่ไม่ได้มุ่งสู่การบรรลุนิพพานทางศาสนาเพียงอย่างเดียว
..,

บางส่วนจาก บทที่ 2 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย

ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน

ยศ สันตสมบัติ
และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม


สั่งซื้อหนังสือ คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้