Last updated: 11 มิ.ย. 2566 | 1560 จำนวนผู้เข้าชม |
เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ไม่ว่าจะเป็นอะไร จะมีความชัดเจนหรือไม่ก็ตาม คำคำนี้มักถูกโจมตีเสมอว่าไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากนั้นก็เป็นคำที่แสดงนัยแบบที่ไม่ได้เห็นด้วย
คำว่า เสรีนิยมใหม่ กลายเป็นคำที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความชั่วร้ายและปัญหาต่างๆ ที่เกิดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมกัน สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่เน้นกลไกตลาดอย่างหนักที่มักเห็นว่าคำอย่างเสรีนิยมใหม่ไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าเป็นคำของฝ่ายซ้ายที่ใช้โจมตีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market)
เส้นทางของเสรีนิยมใหม่ถูกนำไปบังคับใช้ในประเทศหลากหลายที่ผ่านกลไกการปรับโครงสร้าง (structural adjustment) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้ใช้ ‘กลไกการปรับโครงสร้าง’ กลายมาเป็น ‘โครงสร้างเศรษฐกิจ’ ในหลายประเทศซึ่งดำเนินไปบนเส้นทางเศรษฐกิจของ ‘ทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษ’ ที่หลงใหลคลั่งไคล้การแข่งขัน ไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน ความไม่เท่าเทียมกันสูง เป็นต้น ‘ทุนนิยม’ มีอังกฤษเป็นหัวหอกสำคัญในการทะลุทะลวงให้เสรีนิยมใหม่เข้าไปในภาคพื้นทวีปยุโรป ขณะที่ประเทศลาตินอเมริกาก็มีสหรัฐฯ เป็นผู้กำกับ ประเทศลาตินอเมริกาที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีมหาศาลนั้น เรียกได้ว่าแทบจะมีประเทศน้อยมากที่อยู่นอกการกำกับของสหรัฐอเมริกา คิวบาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกามาตลอดชีวิตของประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) เป็นตัวอย่างที่ดี ประโยคของอดีตประธานาธิบดีพอสฟิริโอ ดีอาส (Porfirio Díaz) ในศตวรรษที่ 19 ผู้กล่าวว่า “อนิจจาเม็กซิโก ไกลจากพระผู้เป็นเจ้าเหลือเกิน แต่ก็ใกล้อเมริกามากๆ” นี่เป็นข้อความที่คนเม็กซิกันรู้จักดี
ประเทศจำนวนมากในโลกต้องพึ่งพิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐถึงเกือบสองในสามอยู่นอกสหรัฐอเมริกา กระบวนการทางเศรษฐกิจที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ (dollarized) พบได้ในดินแดนต่างๆ ทั้งนี้ สำหรับในประเทศแถบลาตินอเมริกา การใช้ดอลลาร์มากกว่าสกุลเงินตัวเองก็เป็นเรื่องสามัญ โดยในโบลิเวียดอลลาร์ก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต ส่วนประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์เต็มตัวในลาตินอเมริกาคือปานามา นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ทำให้การใช้ดอลลาร์เป็นทางออกที่ดีอย่างเช่นอาร์เจนตินา รวมถึงเอกวาดอร์ที่ยอมรับการใช้เงินดอลลาร์ในปี ค.ศ.2000
เศรษฐกิจของลาตินอเมริกาไม่เพียงแต่แนบแน่นกับสหรัฐอเมริกา ดินแดนแถบลาตินอเมริกาได้กลายมาเป็นห้องทดลองทางความคิดต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ชิลีเป็นห้องทดลองทางเศรษฐกิจของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่จบจาก University of Chicago โดยนักวิชาการเหล่านี้ได้รับทุนไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1950 พลัง ‘soft power’ ของสหรัฐอเมริกาปรากฏให้เห็นได้เด่นชัดผ่านการครอบงำทางการศึกษา ต่อมานักเศรษฐศาสตร์ที่นำเข้าความคิดตลาดเสรีได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘Chicago Boys’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เหล่านี้อยู่ที่ Pontifical Catholic University of Chile ซึ่งมักสมาทานความคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ.1976 มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) โดยแค่ชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ชัดเจนว่ามีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ต่อต้านสังคมนิยมเป็นหัวใจสำคัญ
หลังจากเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ล้มรัฐบาลเลือกตั้งสังคมนิยม ซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) ในปี ค.ศ.1973 เหล่านักเศรษฐศาสตร์ชิลี ‘Chicago Boys’ ก็เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยปี ค.ศ.1975 มิลตัน ฟรีดแมน ได้รับเชิญจากองค์กรเอกชนให้ไปพูดที่ชิลี โดยมีโอกาสพบกับเผด็จการทหารปิโนเชต์ สิ่งนี้กลายเป็นตราบาปสำคัญของฟรีดแมนที่ทำให้เขาต้องปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ไม่ได้รับเงินจากเผด็จการทหาร เมื่อตอนที่ฟรีดแมนเดินทางไปรับรางวัลโนเบลที่สวีเดน เขาถูกประท้วงตลอด จนต้องมีตำรวจคอยอารักขา แม้กระทั่งในพิธีการมอบรางวัลเขาก็ถูกเด็กหนุ่มตะโกนกลางพิธีมอบว่า “Friedman go home” จนต้องมีเจ้าหน้าที่จับตัวออกไป ส่วนพิธีกรแจกรางวัลก็พูดแก้ลำอย่างติดตลกว่า “It could have been worse” ดังนั้นแค่โดนตะโกนไล่ก็ดีแล้ว อะไรที่เลวร้ายกว่านี้อาจเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้เกิด
ฟรีดแมนอธิบายเรื่องราวการเดินทางไปชิลีไว้น่าสนใจที่สะท้อนอุดมการณ์ของเขาไว้ว่า เขาได้รับข้อเสนอให้รับรางวัลกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสองแห่งในชิลี แต่เขาปฏิเสธไม่รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยที่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ อุดมการณ์ทางการศึกษาขั้นสูงของฟรีดแมนจึงเป็นเรื่องของเอกชนมากกว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ลองจินตนาการว่าถ้าฟรีดแมนเดินทางมาประเทศไทยในครึ่งหลังของทศวรรษ 1970 เขาจะได้รับรางวัลปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจากที่ไหน สำหรับกรอบความคิดเรื่องความเป็นเอกชนของสถาบันการศึกษา เห็นได้จากงาน “The Role of Government in Education” (1955) โดยกรอบความคิดทางด้านการศึกษาและเศรษฐกิจของฟรีดแมนถูกนำไปปฏิบัติด้วยการกระจายอำนาจ (decentralization) ด้านการศึกษาสู่ท้องถิ่น
สำหรับ ‘การกระจายอำนาจ’ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารชิลี เศรษฐกิจและตลาดเสรีตามอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของระบอบเผด็จการทหารชิลี โดยที่เผด็จการทหารไปด้วยกันได้ดีกับระบอบเศรษฐกิจเสรีในยุคปิโนเชต์ ถึงแม้อำนาจเป็นทางการของทหารจะหมดลงในทศวรรษที่ 1990 ก็ตาม ประวัติศาสตร์ของเผด็จการทหารชิลีและเสรีนิยมใหม่จึงเรียกได้ว่าเดินไปคู่กัน ถึงแม้ว่า World Bank และ IMF จะนำความคิดเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับดินแดนอื่นๆ ในโลกตามกรอบเสรีประชาธิปไตยก็ตาม เช่น การกระจายอำนาจไปกับเสรีประชาธิปไตย แน่นอนว่ากระบวนการทางประวัติศาสตร์ของ ‘พัฒนาการของเสรีนิยมใหม่’ ในดินแดนอื่นจะเต็มไปด้วยความซับซ้อน ดังนั้น การกล่าวว่ากระจายอำนาจในชิลีไปด้วยกันได้กับเผด็จการทหารก็เป็นสิ่งที่หยาบเกินไป เช่นเดียวกับการกระจายอำนาจไปด้วยกันได้กับระบอบเสรีประชาธิปไตย
เสรีนิยมใหม่ได้กลายมาเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยเป็นเด็กและเติบโตขึ้นมากับ โรนัลด์ เรแกน และ มากาเร็ต แทตเชอร์ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่วางรากฐานมากกว่าสี่ทศวรรษ ในทศวรรษที่ 1990 ภาพของเรแกนและแทตเชอร์กับเสรีนิยมใหม่เป็นของคู่กัน ในขณะที่ปิโนเชต์และลาตินอเมริกากลับไม่ค่อยจะอยู่ในภาพสักเท่าใด ทั้งที่ลาตินอเมริกาเป็นต้นแบบทดลองสำคัญ ทั้งนี้ ในทศวรรษที่ 1990 จึงพยายามนำเสนอภาพให้ผู้เรียนในมหาวิทยาลัยเห็นถึงความสำคัญของลาตินอเมริกา แม้ไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคศึกษา โดยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ผู้ได้รับการฝึกฝนในด้านลาตินอเมริกาในมหาวิทยาลัยไทยยังมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมศาสตร์ แม้ในต้นศตวรรษที่ 21 จะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปของลาตินอเมริกาเองหรือผ่านความรู้ของภาควิชาภาษาสเปนและโปรตุเกส
รวมบทความเล่มนี้เป็นเส้นทางของประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ภายใต้การกำกับของเสรีนิยมใหม่มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 นับตั้งแต่ Bayh-Dole Act ถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกา ไล่มาจนถึงการลงจากตำแหน่งของ มากาเร็ต แทตเชอร์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็น ‘neo-liberal boy’ เต็มที่ก็ตาม แต่เสรีนิยมใหม่ก็ยังคงอยู่อย่างแข็งแรง ทุนนิยมไม่ได้เพียงไม่ถูกทำลาย แต่ยังมีชีวิตที่มั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์เสรีนิยมใหม่ในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป
ขอขอบคุณบุคคลต่างๆ เหล่านี้ มุกหอม วงษ์เทศ และ อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม กับความรู้และภาษาที่ได้มอบให้ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ชักชวนให้เล่าเรื่องคิวบากับสาธารณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่าสองทศวรรษมาแล้ว สุวิมล รุ่งเจริญ ผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในเครื่องเงิน (silver) เม็กซิโกมีชื่อเสียงมากในเรื่องเงิน ฟ้ารุ่ง ศรีขาว กมลทิพย์ จ่างกมล ผู้ดูแลช่วยเหลือประสานงานต่างๆ ตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา
ขอบคุณ พรธิชา วงศ์ยานนาวา ธี วงศ์ยานนาวา เธน วงศ์ยานนาวา กับวิวัฒนาการชีวิต
หนังสือเล่มนี้ขอมอบให้กับ พิษณุ สุนทรารักษ์ สำหรับมิตรภาพที่ยาวนานมากว่าสี่ทศวรรษ จาก Wisconsin-Madison จนถึงท่าพระจันทร์ ขอบคุณที่ชักชวนให้สมัครทำงานที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้พบกับมิตรภาพจากผู้คนมากมายในคณะรัฐศาสตร์ นับตั้งแต่รุ่นแปดสิบกว่าไล่มาจนถึงยี่สิบกว่าในปัจจุบัน ตลอดจนผู้คนที่อายุต่ำกว่าลงมาอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่มอบข้อคิดให้เสมอๆ
ธเนศ วงศ์ยานนาวา
คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
==========
บางส่วนจากคำนำผู้เขียนในเล่ม On Academic Capitalism in the age of neoliberalism ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา